คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1072/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ไม่มีพยานที่รู้เห็นในขณะกระทำผิดมาเบิกความคงมีแต่คำให้การของผู้เสียหาย และ ล. ที่ให้การต่อพนักงานสอบสวน และมีคำเบิกความของพนักงานสอบสวนรับรองว่าได้สอบปากคำผู้เสียหายและ ล. ไว้ พยานโจทก์จึงมีแต่พยานบอกเล่า โดยไม่มีพยานอื่นใดประกอบ ไม่เป็นหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยกระทำตามที่บอกเล่าแม้โจทก์จะนำสืบและส่งคำให้การของผู้เสียหายกับ ล.ต่อศาลโดยจำเลยมิได้ค้านว่าข้อความในเอกสารไม่ถูกต้อง ก็ไม่อาจถือได้ว่าเหตุการณ์เป็นจริงดังที่ผู้เสียหายและ ล. ให้การ ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกับจำเลยที่ 3 หลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและได้ไปซึ่งเงินจำนวน 11,000 บาท จากผู้เสียหายอันเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาปล้นทรัพย์ แต่การกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นการลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป โดยการกระทำนั้นมีลักษณะเป็นการชิงทรัพย์ซึ่งเป็นการได้ทรัพย์ของผู้เสียหายไปเช่นเดียวกันกับความผิดฐานฉ้อโกง จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่หลงต่อสู้ ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานฉ้อโกงตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 192 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 25 ถึง 26 พฤษภาคม 2530เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะทำการปล้นทรัพย์เงินสดจำนวน 11,000 บาท ของนางพุฒ เรืองโอชา ผู้เสียหายไปโดยทุจริตขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 340, 340 ตรี
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 ถึงแก่กรรมศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง 340 ตรี วางโทษจำคุกคนละ 15 ปี คำให้การชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 10 ปี
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2530 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงผู้เสียหายว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งปลอมตัวเป็นพระภิกษุสามารถบอกเลขสลากกินรวบที่ถูกรางวัลได้ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พาผู้เสียหายไปพบจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 บอกเลขสลากกินรวบให้ทั้งบอกให้ซื้อจากเจ้ามือที่อยู่ห่างจากอำเภอพลไปทางทิศเหนือเป็นเงิน 12,000 บาท ผู้เสียหายหลงเชื่อและรวบรวมเงินได้11,000 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พาผู้เสียหายหาซื้อสลากกินรวบเมื่อไปถึงตำบลหนองซอน อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคามจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้เงิน 11,000 บาท จากผู้เสียหายแล้วขับรถหลบหนีไป
พิเคราะห์แล้ว ข้อฎีกาของโจทก์ฎีกาว่า จำเลยที 1 และที่ 2ได้เงินจากผู้เสียหาย 11,000 บาท โดยการขู่เข็ญของจำเลยที่ 1นั้น เห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานที่รู้เห็นในการกระทำผิดมาเบิกความต่อศาล คงมีแต่คำให้การของผู้เสียหาย และนางละเอียดที่ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 และมีคำเบิกความของร้องตำรวจโทพิบูลย์ ศรีนุต รับรองว่าได้สอบปากคำผู้เสียหายกับนางละเอียดไว้พยานโจทก์จึงมีแต่พยานบอกเล่าที่ได้บอกพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 1 ได้ขู่เข็ญเอาเงิน เหตุการณ์จะเป็นจริงอย่างที่ได้บอกเล่าไว้หรือไม่ก็ไม่มีผู้ใดยืนยันต่อศาลได้การที่มีแต่พยานบอกเล่า โดยไม่มีพยานอื่นใดประกอบเลย ไม่เป็นหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำตามที่บอกเล่า และถึงแม้ว่าโจทก์จะได้นำสืบและส่งคำให้การผู้เสียหายกับนางละเอียดต่อศาล โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ค้านว่าข้อความในเอกสารไม่ถูกต้อง ก็ไม่อาจถือได้ว่าเหตุการณ์จะเป็นจริงอย่างที่ผู้เสียหายและนางละเอียดให้การ และนอกจากนี้เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ต่าง ๆ ในคดีนี้แล้ว ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบรับว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้หลอกลวงผู้เสียหายจนหลงเชื่อและผู้เสียหายได้จัดการหาเงินเพื่อซื้อสลากกินรวบ จนกระทั่งให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์พาไปเพื่อซื้อสลากกินรวบตามที่จำเลยที่ 3 บอก เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุจึงได้มีการรับเงินกัน น่าจะเป็นกรณีที่ผู้เสียหายมอบเงินให้จำเลยที่ 1เพื่อนำไปซื้อสลากกินรวบ มิใช่เกิดจากการขู่เข็ญของจำเลยที่ 1พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อเอาเงินจากผู้เสียหายอันจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกับจำเลยที่ 3 หลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และโดยการหลอกลวงดังกล่าวจำเลยได้ไปซึ่งจำนวนเงิน 11,000 บาท จากผู้เสียหายอันเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาปล้นทรัพย์ แต่การกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ก็เป็นการลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่3 คนขึ้นไปโดยการกระทำนั้นมีลักษณะเป็นการชิงทรัพย์ซึ่งเป็นการได้ทรัพย์ของผู้เสียหายไปเช่นเดียวกันกับความผิดฐานฉ้อโกงจึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ โดยนำสืบว่าได้เงินจำนวน 11,000 บาท ไปจากผู้เสียหายจริง แต่มิได้กระทำความผิดตามฟ้องแสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้หลงต่อสู้ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานฉ้อโกงตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ให้จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยที่ 1และที่ 2 ต้องขังมาพอแก่โทษแล้ว ให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 1 และ ที่ 2 ไป

Share