แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 อยู่ในฐานะเป็นผู้กู้ยืมเงิน และได้ตกเป็นผู้ต้องหาตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 มาตรา 4,5 ทั้งได้ถูกฟ้องต่อศาลอาญาไว้แล้วพนักงานอัยการย่อมฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลายได้ตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว มาตรา 10 ส่วนจำเลยที่ 6 เมื่อมิได้เป็นผู้กู้ยืมเงิน พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 ให้เป็นบุคคลล้มละลายตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว มาตรา 10.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6เป็นกรรมการและผู้เริ่มก่อตั้งบริษัท เอ็ม.วาย.เอส.เอ็กเสคคิวทีฟบิวสิเนส จำกัด จำเลยที่ 7 ที่ 8 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนบริษัทดังกล่าวได้ บริษัท เอ็ม.วาย.เอส.เอ็กเสคคิวทีฟบิวสิเนส จำกัด ถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต่อมาจำเลยทั้งแปดและบริษัท เอ็ม.วาย.เอส.เอ็กเสคคิวทีฟ บิวสิเนส จำกัด ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343และกระทำผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 มาตรา 4, 5 แต่จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 หลบหนีไปไม่มีตัวมาฟ้อง โจทก์คงฟ้องแต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8และบริษัท เอ็ม.วาย.เอส.เอ็กเสคคิวทีฟ บิวสิเนส จำกัด เป็นจำเลยข้อหาดังกล่าวที่ศาลอาญา กล่าวคือเมื่อระหว่างตั้งแต่ พ.ศ. 2527ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2527 ซึ่งเป็นวันก่อนที่พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ใช้บังคับ มีประชาชนนำเงินมาร่วมลงทุนโดยวิธีให้จำเลยกู้ยืม 65 ราย เป็นเงิน 16,520,000บาท และระหว่างตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2527 ถึงวันที่ 31 มีนาคม2528 ซึ่งเป็นเวลาที่พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ใช้บังคับแล้ว มีประชาชนนำเงินมาร่วมลงทุนโดยวิธีให้จำเลยกู้ยืม 275 ราย เป็นเงิน 65,308,480 บาทโดยบริษัท เอ็ม.วาย.เอส.เอ็กเสคคิวทีฟ บิวสิเนส จำกัด ทำหนังสือสัญญาร่วมลงทุนให้เป็นหลักฐานทุกราย จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทดังกล่าว และบางครั้งจำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อในนามบริษัทเพียงคนเดียว บริษัท เอ็ม.วาย.เอส.เอ็กเสคคิวทีฟ บิวสิเนส จำกัด ได้มีข้อตกลงนอกเหนือสัญญาว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ผู้ร่วมลงทุนร้อยละ 8 ต่อเดือน หรือร้อยละ96 ต่อปี โดยจ่ายทุกเดือน และผู้ร่วมลงทุนจะเรียกคืนต้นเงินเมื่อใดก็ได้โดยบอกกล่าวล่วงหน้า ภายหลังที่ประชาชนนำเงินมาร่วมลงทุนแล้ว จำเลยนำเงินบางส่วนออกหมุนเวียนจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นเอง และรายอื่น ๆ ร้อยละ 8 ต่อเดือน จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2528 ครั้นเดือนเมษายน 2528 จำเลยทั้งแปดกับบริษัท เอ็ม.วาย.เอส.เอ็กเสคคิวทีฟ บิวสิเนส จำกัดงดจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนทุกราย และไม่ยอมคืนเงินต้นให้ประชาชนผู้ให้กู้ยืม โดยจำเลยซ่อนตัวเองอยู่ในเคหสถาน ไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่และในที่สุดหลบหนีไปตั้งแต่เดือนเมษายน 2528 เพื่อประวิงการชำระหนี้ เพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ และจำเลยได้ยักย้ายทรัพย์ไปให้พ้นอำนาจศาล โดยแยกย้ายนำเงินที่เหลือจากการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมแต่ละเดือนไป รวมเจ้าหนี้ทั้งหมด340 ราย เป็นเงิน 81,828,480 บาท ซึ่งเป็นหนี้จำนวนแน่นอนและทรัพย์สินของจำเลยที่พนักงานเจ้าหน้าที่ยึดและอายัดไว้รวมทั้งทรัพย์สินอื่นของจำเลยยังไม่พอชำระหนี้ดังกล่าว พฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งแปดเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งแปดเป็นบุคคลล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นกรรมการและผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัท เอ็ม.วาย.เอส.เอ็กเสคคิวทีฟ บิวสิเนส จำกัดจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำผิดตามโจทก์ฟ้อง สัญญาการลงทุนจำเลยที่ 1ไม่มีส่วนรู้เห็นและไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้จึงไม่ต้องรับผิดชอบ จำเลยที่ 1 ไม่เคยรับเงินจากประชาชน เพียงแต่จำเลยที่ 1 เป็นบิดาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 รับราชการทหารประจำการกองทัพบก มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน ขอศาลพิพากษายกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้หลอกลวงประชาชนจำเลยที่ 2 กับพวกตั้งบริษัท เอ็ม.วาย.เอส.เอ็กเสคคิวทีฟบิวสิเนส จำกัด เพื่อค้าพืชไร่ล่วงหน้าไว้เก็งกำไร (คอมโมดิตี้) และดำเนินการอื่นอีกหลายอย่าง กิจการดังกล่าวสามารถหากำไรหรือผลประโยชน์ตอบแทนมาจ่ายให้แก่ผู้ลงทุนได้เพียงพอ ต่อมากิจการบริษัทไม่อาจให้ผลประโยชน์ตอบแทนได้ เพราะผู้ให้กู้ยืมเงินถอนเงินจำนวนมากจำเลยที่ 2 มิได้หลบหนีไปไหน และหนี้สินมีจำนวนไม่ถึง340 ราย ขอศาลพิพากษายกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 6 ให้การว่า จำเลยที่ 6 เป็นเพียงผู้ถือหุ้น ไม่ได้ร่วมกระทำผิดด้วยขอศาลพิพากษายกฟ้อง
จำเลยที่ 7 ที่ 8 ไม่ยื่นคำให้การและแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งแปดเด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 10
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อแรกที่จะวินิจฉัยคือ ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้เป็นบุคคลล้มละลายเพราะจำเลยที่ 1 มิใช่ผู้กู้ยืมเงิน ตามนัยแห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3 ศาลฎีกาเห็นว่าตามข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้นได้ความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท เอ็ม.วาย.เอส.เอ็กเสคคิวทีฟ บิวสิเนสจำกัด มีตัวจำเลยที่ 1 เองซึ่งเป็นผู้มีอาวุโสมากที่สุด และมีชื่อเสียงเป็นกรรมการผู้หนึ่งและเป็นประธานบริษัทด้วย จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทดังกล่าวได้รับเงินจากประชาชนที่นำเงินมาร่วมลงทุนในลักษณะที่เป็นการกู้ยืมเงินมาโดยตลอด แม้เมื่อได้มีพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ออกใช้บังคับ และจำเลยที่ 1 ที่ 2ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการโดยมีกรรมการอื่น ๆ ลาออกตามไป กับมีการแต่งตั้งจำเลยที่ 7 ที่ 8 เป็นกรรมการสืบต่อไปแล้ว จำเลยที่ 1ที่ 2 ก็ยังคงดำเนินธุรกิจของบริษัทต่อไปอีก โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทได้รับเงินจากผู้ร่วมลงทุนเพิ่มขึ้นจนรวมเป็นจำนวน 81,000,000 บาทเศษ โดยตกลงจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ร่วมลงทุนทุกรายด้วยดังนี้ จึงถือว่าบริษัทดังกล่าวได้กู้ยืมเงินตามนัยแห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 มาตรา 3 แล้ว การกู้ยืมเงินดังกล่าวมีขึ้นในระหว่างที่จำเลยที่ 1 เป็นประธานบริษัท กรรมการผู้ลงนามในสัญญาก็คือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 เอง ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 2 มีอายุเพียง 20 ปี โดยลงนามร่วมกับจำเลยที่ 3 บ้าง ลงนามแต่เพียงผู้เดียวบ้าง เมื่อบริษัทงดจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ร่วมลงทุนและไม่สามารถคืนเงินทุนแก่ผู้ร่วมลงทุนได้ จำเลยที่ 1 ในฐานะประธานบริษัทยังจัดให้มีการประชุมผู้ร่วมลงทุน และออกหนังสือยืนยันว่าบริษัทยังดำเนินธุรกิจตามปกติ ทั้งต่อมายังได้ออกหนังสือเสนอขอผ่อนชำระคืนเงินทุนให้แก่ผู้ร่วมลงทุนทุกรายด้วย ตามเอกสารหมายจ.5, จ.6 อันเป็นการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจของบริษัทประหนึ่งว่าตนเป็นกรรมการผู้จัดการพฤติการณ์บ่งชัดว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้ร่วมคบคิดกับบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นนิติบุคคลทำการกู้ยืมเงินดังกล่าวข้างต้นนั้นด้วย ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะมิใช่กรรมการผู้จัดการและมิได้ลงนามในสัญญาฐานะผู้แทนบริษัทจำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้กู้ยืมเงินตามนัยแห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3 เช่นกัน พยานจำเลยที่ 1 ที่นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวในการบริหารงานของบริษัท ที่เข้าไปเกี่ยวข้องในตอนหลังก็เพียงเพื่อช่วยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรให้ปลอดภัยนั้น มีแต่ตัวจำเลยที่ 1 เบิกความและไม่สอดคล้องกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 เองที่ได้แสดงออกต่อผู้ร่วมลงทุนประหนึ่งว่าเป็นกรรมการผู้จัดการ โดยการจัดให้มีการประชุมผู้ร่วมลงทุน ออกหนังสือยืนยันฐานะบริษัทและเสนอขอผ่อนชำระคืนเงินทุนแก่ผู้ร่วมลงทุน ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5, จ.6 ที่จำเลยที่ 1 นำสืบดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน้อยไม่พอที่จะให้เชื่อถือเมื่อจำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นผู้กู้ยืมเงิน และได้ตกเป็นผู้ต้องหาตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 4, 5 ทั้งได้ถูกฟ้องต่อศาลอาญาไว้แล้วเช่นนี้ พนักงานอัยการย่อมฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลายได้ตามพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 10 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อที่ 2 ที่จะวินิจฉัยคือ ข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 ได้เงินมาแล้วนำไปลงทุนจริง หาได้หลอกลวงประชาชนไม่ ข้อนี้เห็นว่า ในเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่า บริษัท เอ็ม.วาย.เอส.เอ็กเสคคิวทีฟบิวสิเนส จำกัด เป็นผู้กู้ยืมเงิน โดยมีจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3บ้าง จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวบ้าง เป็นผู้ลงนามในสัญญาในฐานะผู้แทนบริษัท จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นผู้กู้ยืมเงินไปด้วย ตามนัยแห่งพระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 3 ส่วนการที่จำเลยที่ 2 กระทำให้เกิดข้อบกพร่องขึ้นโดยลงนามคนเดียว และไม่ประทับตราสำคัญของบริษัทนั้น หาทำให้ฐานะของจำเลยที่ 2 ที่เป็นผู้แทนบริษัทเปลี่ยนแปลงไปไม่ เมื่อจำเลยที่ 2เป็นผู้กู้ยืมเงิน และได้ตกเป็นผู้ต้องหาตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 5 ทั้งได้ถูกฟ้องต่อศาลอาญาไว้แล้วเช่นนี้ พนักงานอัยการย่อมฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลายได้ตามพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 10จำเลยที่ 2 จะได้หลอกลวงประชาชนหรือไม่ หาได้กระทบถึงอำนาจฟ้องของโจทก์ไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อที่ 3 ที่จะวินิจฉัยคือ ข้อที่จำเลยที่ 6 ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 ให้เป็นบุคคลล้มละลาย เพราะจำเลยที่ 6 ไม่ใช่ผู้กู้ยืมเงิน ตามนัยแห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ข้อนี้เห็นว่าตามข้อเท็จจริงที่กล่าวข้างต้น แม้จำเลยที่ 6 จะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเอ็ม.วาย.เอส.เอ็กเสคคิวทีฟ บิวสิเนส จำกัด ด้วยผู้หนึ่ง แต่จำเลยที่ 6 ก็มิได้เป็นกรรมการบริษัท และไม่เคยได้รับเงินจากผู้ร่วมลงทุนโดยจ่ายหรือตกลงจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ร่วมลงทุนแต่อย่างใด ส่วนการที่จำเลยที่ 6 รับโอนเงินของบริษัทเข้าบัญชีเงินฝากของตนที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาธนบุรี นั้น เห็นว่าการโอนเงินของบริษัทปกติย่อมไม่อยู่ในอำนาจของจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นเพียงผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง แต่อยู่ในอำนาจของกรรมการผู้จัดการ และข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 6 ได้คบคิดกับจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินของบริษัทเกิดความคิดที่จะยักย้ายเงินของบริษัทในภายหลังเมื่อเห็นว่า บริษัทไม่สามารถหารายได้มาจ่ายแก่ผู้ร่วมลงทุนได้ครบถ้วนตามสัญญาได้แล้ว ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะฟังว่าจำเลยที่ 6 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือกับบริษัทในการกู้ยืมเงินจากผู้ร่วมลงทุน จำเลยที่ 6 จึงมิใช่ผู้กู้ยืมเงินตามนัยแห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 3 เมื่อจำเลยที่ 6 มิได้เป็นผู้กู้ยืมเงิน พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 เป็นบุคคลล้มละลายตามพระราชกำหนดดังกล่าวมาตรา 10 ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยที่ 6 ได้ร่วมกระทำการกู้ยืมเงินด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 6 ข้อนี้ฟังขึ้น และไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 6 ต่อไป…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.