คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5558/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลมิได้หยิบยกเอาคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ในคดีก่อนมาวินิจฉัยหากแต่วินิจฉัยถึงพยานหลักฐานอื่นแล้วเชื่อว่าจำเลยที่ 1ในคดีดังกล่าวกระทำผิดจริง คำเบิกความของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นข้อสำคัญในคดี ในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องหาว่าโจทก์ลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1แม้ศาลพิพากษายกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และโจทก์ยังไม่ได้อยู่ในฐานะจำเลย แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำความเท็จมาฟ้องและเบิกความเท็จว่าโจทก์ได้ลักเอาทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ไป อันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ โดยจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าข้อความตามฟ้องและที่เบิกความนั้นเป็นเท็จจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ จำเลยเบิกความในฐานะพยานอันเป็นอีกฐานะหนึ่งต่างหากจากการเป็นตัวจำเลย หากคำเบิกความของจำเลยเป็นความเท็จ จำเลยจะยกเอาสิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลยมาอ้างเพื่อยกเว้นความรับผิดฐานเบิกความเท็จหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1168/2528 ของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 ถูกพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำให้เสียหายและทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งเช็คจำนวน 14 ฉบับที่จำเลยที่ 1สั่งจ่ายเงินชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิด กล่าวคือ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2528 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 เบิกความเท็จต่อศาลชั้นต้นว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2527จำเลยที่ 1 ถือภาพถ่ายใบหย่าออกจากบ้านโจทก์ไปไม่ได้หยิบเอาเอกสารในเซฟเล็กที่โจทก์ถือไว้มาเลย เช็คเอกสารหมาย จ.1 เป็นของจำเลยที่ 1ซึ่งจ่ายให้แก่ลูกน้องของจำเลยที่ 1 เพื่อไปเบิกเงินสดจากธนาคารแต่เบิกเงินไม่ได้จึงเอามาคืนจำเลยที่ 1 ขณะที่อยู่บ้านโจทก์โดยเอาวางไว้บนโต๊ะ พอดีลมพัดตกไป โจทก์เก็บขึ้นมา จำเลยที่ 1พูดว่า ช่วยเก็บให้ที เพราะเช็คนี้ไม่ได้ใช้แล้ว เช็คจึงอยู่กับโจทก์ตลอดไป จำเลยที่ 1 ไม่เคยฉีกเช็คฉบับดังกล่าว ความจริงแล้วในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 เข้ามาในบ้านโจทก์เพื่อถามเรื่องเช็คว่าค้างอยู่เท่าใด โจทก์จึงหยิบเช็คจำนวน 14 ฉบับให้จำเลยที่ 1ดู จำเลยที่ 1 ได้ฉีกเช็คดังกล่าวและได้เอาติดมือไปเผาไฟที่บ้านของจำเลยที่ 1 เช็คเอกสารหมาย จ.1 คือเช็คดังกล่าวฉบับหนึ่งที่จำเลยที่ 1 ฉีกและทำตกไว้ในบ้านโจทก์
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2528 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2 เบิกความเท็จต่อศาลชั้นต้นว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2527 เวลาประมาณ15 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ถือกระดาษสีขาว ๆ ลักษณะคล้ายกระดาษถ่ายเอกสารออกจากบ้านโจทก์ ไม่ใช่เป็นเช็ค โจทก์เปิดลิ้นชักโต๊ะที่บ้านของจำเลยที่ 1 แล้วหยิบเอาสมุดเช็คของจำเลยที่ 1 ที่เขียนแล้วและที่เป็นเล่ม รวมทั้งใบเสร็จน้ำมันซึ่งเก็บอยู่ในแฟ้มไป ความจริงแล้วโจทก์เข้าไปในบ้านจำเลยที่ 1 เพื่อเอาเช็คที่จำเลยที่ 1 ฉีกคืนไม่ได้เข้าไปลักเช็คและเอกสารของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 รู้เห็นและบอกโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 เอาเช็คไปทิ้งในเตาไฟ การเบิกความเท็จของจำเลยทั้งสองเป็นข้อสำคัญในคดีโดยมีเจตนาให้ศาลเชื่อว่าไม่มีการฉีกทำลายเช็คจำนวน 14 ฉบับตามฟ้องในคดีอาญาดังกล่าวทำให้โจทก์เสียหาย
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2530 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2527 เวลากลางวันโจทก์ได้ลักเอาเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาเพชรบุรี เลขที่0100029-0100035 รวมจำนวน 7 ฉบับ ที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายฉบับละ10,000 บาท สมุดบันทึกหมายเลขโทรศัพท์และที่อยู่ของลูกค้าจำนวน 1 เล่ม สมุดส่งของและบิลเงินสดที่เก็บเงินไปแล้วบางส่วนกับที่ยังไม่ได้เรียกเก็บเงินอีกบางส่วนคิดเป็นเงินประมาณ120,000 บาท จำนวน 3 เล่ม ของจำเลยที่ 1 ไปโดยทุจริตขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ปรากฏตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 321/2530 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงโจทก์ไม่ได้ลักทรัพย์ดังกล่าวเลย
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2530 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 เบิกความเท็จต่อศาลชั้นต้นในชั้นไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญาที่จำเลยที่ 1ฟ้องโจทก์มีใจความว่าจำเลยที่ 1 ทราบจากจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ขนเอาเอกสารค่าน้ำมัน มีใบเสร็จรับเงินสด เงินเชื่อจำนวน 3 เล่มใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมัน เช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาเพชรบุรีจำนวน 7 ฉบับ ที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเงินฉบับละ 10,000 บาทไม่ลงวันเดือนปี กระดาษสำหรับบันทึกหมายเลขโทรศัพท์และที่อยู่ลูกค้าจำนวน 1 ชุด และในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 เบิกความเท็จต่อศาลชั้นต้นในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2527เวลาประมาณ 15 นาฬิกา โจทก์ได้เปิดลิ้นชักโต๊ะที่อยู่ในบ้านของจำเลยที่ 1 และได้หยิบเอาเช็คเป็นฉบับและเป็นเล่ม ใบเสร็จค่าน้ำมันในแฟ้ม สมุดจดหมายเลขโทรศัพท์ใส่ถุงกระดาษสีน้ำตาลไปความจริงแล้วโจทก์ไปบ้านจำเลยที่ 1 เพื่อติดตามเอาเช็คจำนวน14 ฉบับ คืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็รู้และบอกโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 เอาเช็คดังกล่าวใส่เตาไฟไปแล้ว ความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี เพราะจำเลยทั้งสองประสงค์ให้ศาลเชื่อว่าโจทก์มีเจตนาลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นพี่ชายจำเลยที่ 2 อยู่บ้านเดียวกัน ได้ร่วมมือกันเบิกความเพื่อให้สอดคล้องต้องกันอันเป็นเท็จเหตุเกิดที่ตำบลคลองกระแซง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 175, 177, 181
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง, 181(1), 83,91 อันเป็นความผิด 2 กรรม ต่างกัน ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 6 เดือนรวม 2 กระทง จำคุกคนละ 1 ปี และจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 181(1) ให้จำคุกอีก 6 เดือนรวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 1 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง, 181, 83 กระทงเดียวให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน แต่ให้รอการลงโทษจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า ในคดีก่อนคือคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1168/2528 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1ถูกพนักงานอัยการฟ้องในข้อหาทำให้เสียหายทำลาย เอาไปเสียหรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่นโดยฉีกเช็คจำนวน 14 ฉบับ ที่จำเลยที่ 1 ได้ลงนามสั่งจ่ายส่งมอบให้แก่ผู้เสียหายคือโจทก์คดีนี้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 ซึ่งโจทก์ในคดีนี้ได้เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการด้วย ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ให้จำคุก 1 ปีศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีดังกล่าวถึงที่สุด จำเลยที่ 1 ได้ฟ้องโจทก์ในข้อหาลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่321/2530 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดเช่นกัน คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1เบิกความเป็นพยานในคดีก่อนเป็นเท็จว่า จำเลยที่ 1 เพียงแต่ฉีกภาพถ่ายใบหย่าแล้วถือเอากลับมาที่บ้านไม่ได้หยิบเช็คที่บ้านของโจทก์ส่วนจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานในคดีดังกล่าวว่าตนไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านโจทก์ด้วย คงเห็นตอนจำเลยที่ 1 เดินจากบ้านโจทก์มาเข้าบ้านจำเลยที่ 1 โดยเบิกความเท็จว่า เห็นจำเลยที่ 1 ถือกระดาษสีขาว ๆ ลักษณะคล้ายกระดาษถ่ายเอกสารไม่ใช่เช็คในคดีหมายเลขแดงที่ 1168/2528 ของศาลชั้นต้น ศาลมิได้หยิบยกเอาคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ขึ้นวินิจฉัยแต่อย่างใดหากแต่ได้วินิจฉัยถึงพยานหลักฐานอื่นแล้วเชื่อว่าจำเลยที่ 1กระทำผิดจริง คำเบิกความของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวข้างต้นจึงไม่เป็นข้อสำคัญในคดี และวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 321/2530 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ฟ้องหาว่าโจทก์ลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ถึงแม้ว่าศาลได้พิพากษายกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวยังไม่อยู่ในฐานะจำเลย แต่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาได้ความว่าจำเลยที่ 1 นำความเท็จมาฟ้องและเบิกความเท็จว่า จำเลยในคดีที่ฟ้องนั้นได้ลักเอาทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ไปอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์โดยจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าข้อความตามฟ้องและที่เบิกความนั้นเป็นเท็จ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 และ 177 กฎหมายมิได้บัญญัติว่าเป็นความผิดต่อเมื่อศาลได้ประทับฟ้องไว้แล้วในชั้นพิจารณาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1168/2528 ของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 เข้าเบิกความในฐานะพยานซึ่งเป็นอีกฐานะหนึ่งต่างหากจากการเป็นตัวจำเลย จะยกเอาสิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 มาอ้างเพื่อยกเว้นความรับผิดฐานเบิกความเท็จไม่ได้และคำเบิกความของจำเลยที่ 1ในคดีดังกล่าวที่ว่าจำเลยที่ 1 เพียงแต่หยิบเอาภาพถ่ายใบหย่าไปไม่ได้หยิบเช็คตามฟ้องนั้น เป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ฉีกเช็คของโจทก์อันเป็นข้อสำคัญในคดีอาญาดังกล่าว ซึ่งโจทก์เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรีฟ้องว่าจำเลยที่ 1ฉีกเช็คจำนวน 14 ฉบับ ที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายชำระหนี้ให้แก่โจทก์จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเบิกความเท็จด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 18 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share