คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5455/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สารวัตรสืบสวนสอบสวนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่ทำการตรวจค้นได้ในเมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าสิ่งของที่ได้มาโดยการกระทำผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในที่รโหฐาน และถ้ากรณีมีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าหากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมา ตรวจค้นในวันรุ่งขึ้นสิ่งของเหล่านั้นจะถูกโยกย้ายเสียก่อน และพยานหลักฐานสำคัญจะสูญหาย กรณีมีเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่ง ฉะนั้นการค้นของสารวัตรสืบสวนสอบสวนแม้จะไม่มีหมายค้นและตรวจค้นในเวลากลางคืนก็อาจจะทำการค้นได้ ของกลางจำนวนมากเป็นชิ้นส่วนรถที่ได้จากที่รโหฐาน ซึ่งได้มีการตรวจสอบกันแล้ว และให้จำเลยรับรองไว้ว่าของกลางต่าง ๆ นั้นค้นได้ที่ที่รโหฐานดังกล่าวซึ่งจำเลยก็ได้ลงชื่อรับรองความถูกต้องไว้ตามบัญชีของกลาง ของกลางอันเป็นพยานวัตถุเหล่านี้จึงใช้ยันจำเลยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,335(1), 357 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11 ให้คืนของกลางแก่ผู้เสียหายกับให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 200,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 ประกอบด้วยมาตรา 83 จำคุก 5 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 3 ปี 4 เดือน และให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 200,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคแรก และคำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 200,000 บาทให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ในปัญหาสุดท้าย จำเลยฎีกาอ้างว่าพันตำรวจโทประวิทย์กับพวกเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือเจ้าพนักงานตำรวจเข้าทำการตรวจค้นในที่รโหฐาน โดยไม่มีหมายค้นและไม่เข้าเหตุที่จะค้นในเวลากลางคืน และเมื่อตรวจค้นเสร็จแล้ว ก็มิได้ทำบันทึกการตรวจค้นและมิให้ผู้ครอบครองสถานที่ตลอดจนจำเลยกับพวกดูแลรับรองสิ่งของที่ค้นพบ ตลอดจนมิได้มีการหีบห่อ ตีตราหรือทำเครื่องหมายสำคัญเกี่ยวกับสิ่งของที่ค้นพบนั้น รวมทั้งเมื่อมีการสอบปากคำจำเลยก็มิได้นำสิ่งของที่ค้นพบมาแสดงให้จำเลยดูแต่อย่างใด ซึ่งการจงใจละเว้นเช่นนี้เป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92, 96, 101, 102, 103และมาตรา 242 และเมื่อเป็นการปฏิบัติขัดต่อกฎหมายเช่นนี้ของกลางเหล่านี้จะนำมาใช้ยันให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่า ในการค้นของกลางดังกล่าวนี้ พันตำรวจโทประวิทย์มีตำแหน่งเป็นสารวัตรสืบสวนสอบสวนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่ทำการตรวจค้นได้ในเมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าสิ่งของที่ได้มาโดยการกระทำผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในโกดังดังกล่าว ประกอบกับได้ความว่าก่อนทำการจับกุมนายเชลล์และนายสมรถ ได้นำชิ้นส่วนอุปกรณ์บางส่วนบรรทุกรถยนต์ออกจากโกดังไป และภายในโกดังที่เกิดเหตุได้มีการขนชิ้นส่วนรถยนต์ที่ตัดแล้วบรรทุกรถยนต์กระบะอีกคันหนึ่งแล้วซึ่งสามารถขับขนย้ายไปโดยง่าย มีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าหากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาตรวจค้นในวันรุ่งขึ้น สิ่งของเหล่านั้นจะถูกโยกย้ายเสียก่อน และพยานหลักฐานสำคัญจะสูญหาย กรณีมีเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่ง ฉะนั้นการค้นของพันตำรวจโทประวิทย์แม้จะไม่มีหมายค้นและตรวจค้นในเวลากลางคืนก็อาจจะทำการค้นได้ไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด ส่วนของกลางจำนวนมากเป็นชิ้นส่วนรถที่ได้จากโกดังในซอยโรงเจซึ่งได้มีการตรวจสอบกันแล้วและให้จำเลยรับรองไว้ว่าพวกของกลางต่าง ๆ นั้นค้นได้ที่โกดังโรงเจซึ่งเป็นอู่รถดังกล่าวซึ่งจำเลยก็ได้ลงชื่อรับรองความถูกต้องไว้ปรากฏตามบัญชีของกลางเอกสารหมาย จ.4 ฉะนั้นของกลางอันเป็นพยานวัตถุเหล่านี้จึงใช้ยันจำเลยได้ ฎีกาในข้อนี้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยนั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน.

Share