แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องของโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงเพียงว่า จำเลยจัดให้มีการเล่นเครื่องเล่นซึ่งใช้ไฟฟ้าจักรกล โดยมีการนับแต้มและเครื่องหมายอันเป็นการพนันตามบัญชี ข. อันดับที่ 28 ท้าย พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 และกฎกระทรวงฉบับที่ 18(พ.ศ. 2504) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ข้อ 2 มิได้บรรยายว่าเครื่องเล่นดังกล่าวสามารถทำให้แพ้ชนะกันได้ ย่อมเป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดของกฎกระทรวง ฉบับที่ 23(พ.ศ. 2530) นอกจากนี้โจทก์มิได้บรรยายถึงวิธีการใช้เครื่องเล่นดังกล่าวว่าใช้วิธีสัมผัส เลื่อน กด ดีด ดึง ดัน ยิง โยน โยก หมุน หรือวิธีอื่นใด ถือว่าฟ้องของโจทก์ไม่มีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับ การกระทำ และสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้ จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158(5).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จัดให้มีการเล่นเครื่องเล่นแฟมิลี่คอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นเครื่องเล่นซึ่งใช้ไฟฟ้าจักรกล โดยมีการนับแต้มและเครื่องหมาย อันเป็นการเล่นที่ระบุไว้ในบัญชี ข. อันดับที่ 28 ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 18(พ.ศ. 2504) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ข้อ 2ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2504 จำนวน 3 ชุด แต่ละชุดประกอบด้วยเครื่องแฟมิลี่คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง แผ่นโปรแกรมสำหรับเล่นเกม1 แผ่น เครื่องรับโทรทัศน์ 1 เครื่อง สายอากาศ 1 สาย หม้อแปลงไฟฟ้า1 หม้อ และเครื่องจับเวลา 1 เครื่อง ขึ้นที่บ้านเลขที่ 42/4ซอยอาคารสงเคราะห์ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานครโดยผู้เล่นจะต้องเสียเงินค่าเข้าเล่นครั้งละ 10 บาท ต่อการเล่นเครื่องเล่นที่ใช้ไฟฟ้าดังกล่าว 15 นาที ให้แก่จำเลยอันเป็นการจัดให้มีการเล่นขึ้นเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตนโดยทางตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุเกิดที่แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิตกรุงเทพมหานคร ในวันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยพร้อมด้วยเครื่องเล่นแฟมิลี่คอมพิวเตอร์ 3 เครื่อง เครื่องรับโทรทัศน์สี3 เครื่อง เครื่องจับเวลา 4 เครื่อง สายอากาศ 3 เส้น หม้อแปลงไฟฟ้า5 หม้อ และแผ่นโปรแกรมสำหรับเล่นเกม 3 แผ่น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติ การพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 5, 10, 12 พระราชบัญญัติการพนัน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2504 มาตรา 3 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติ การพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 5, 10, 12 พระราชบัญญัติการพนัน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2504 มาตรา 3 จำคุก 1 เดือน ปรับ 2,000บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง คืนของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา4 วรรคสอง บัญญัติว่า การเล่นอันระบุไว้ในบัญชี ข.ท้ายพระราชบัญญัตินี้ หรือการเล่นซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน หรือการเล่นอื่นใดซึ่งรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ได้ออกกฎกระทรวงระบุเพิ่มเติมไว้ จะจัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นทางนำมาซึ่งผลประโยชน์แก่ผู้จัดโดยทางตรงหรือทางอ้อมได้ต่อเมื่อรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตเห็นสมควรและออกใบอนุญาตให้ หรือมีกฎกระทรวงอนุญาตให้จัดขึ้นโดยไม่ต้องมีใบอนุญาต ดังนั้น การที่จะพิจารณาว่าจำเลยฝ่าฝืนการเล่นอื่นใด ซึ่งรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ได้ออกกฎกระทรวงระบุเพิ่มเติมไว้ จึงต้องพิจารณาจากกฎกระทรวงฉบับที่ใช้อยู่ในวันที่โจทก์กล่าวหาและในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องนั้น อันได้แก่กฎกระทรวง ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2530) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ซึ่งมีความในข้อ 2 ว่า ให้ยกเลิกความในข้อ 3แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2503) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน ข้อ 3 ให้เพิ่มเติมการพนันต่อไปนี้เป็นการเล่นในบัญชี ข. ท้ายพระราชบัญญัติการพนันพ.ศ. 2478 1…. 2…. 3…. 4.เครื่องเล่นซึ่งใช้เครื่องกลพลังไฟฟ้า…ที่ใช้เล่นโดยวิธีสัมผัส เลื่อน กด ดีด ดึง ดัน ยิงโยน โยก หมุน หรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งสามารถทำให้แพ้ชนะกันได้ไม่ว่าจะโดยมีการนับแต้มหรือเครื่องหมายใด ๆ หรือไม่ก็ตาม คำฟ้องของโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงเพียงว่า จำเลยจัดให้มีการเล่นเครื่องเล่นซึ่งใช้ไฟฟ้าจักรกล โดยมีการนับแต้มและเครื่องหมายอันเป็นการพนันตามบัญชี ข. อันดับที่ 28 ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478และกฎกระทรวงฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2504) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ข้อ 2 มิได้บรรยายว่า เครื่องเล่นดังกล่าวสามารถทำให้แพ้ชนะกันได้ ย่อมเป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดของกฎกระทรวงดังกล่าว นอกจากนี้โจทก์ก็มิได้บรรยายถึงวิธีการใช้เครื่องเล่นดังกล่าวว่าใช้วิธีสัมผัส เลื่อนกด ดีด ดึง ดัน ยิง โยน โยก หมุน หรือวิธีอื่นใด ถือได้ว่า ฟ้องของโจทก์ไม่มีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำและสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นฟ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.