คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4789/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยและเป็นกรรมการลูกจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้ขออนุญาตจากศาลแรงงานกลางก่อน เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา52 ขอให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้าง ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะปฏิบัติตามคำพิพากษา จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้เป็นกรรมการลูกจ้าง แม้โจทก์จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการลูกจ้าง ก็เป็นการแต่งตั้งที่ มิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะเลิกจ้างหรือไม่ และจำเลยต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างย้อนหลังแก่โจทก์ หรือไม่แต่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นข้อแรกเพียงข้อเดียวว่า โจทก์ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างจากสหภาพแรงงาน ต. จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ไม่ต้องขออนุญาตศาลแรงงาน พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ ไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่าย ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เช่นนี้คดีก่อนโจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยโดยผิดกฎหมาย ซึ่งมีความหมาย ชัดแจ้งอยู่ในตัวว่า โจทก์ยังมีสภาพไม่ขาดจากการเป็นลูกจ้าง ของจำเลย ให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้อง โดยอาศัยเหตุจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด จึงมิใช่ฟ้อง โดยอาศัยเหตุและมีคำขอให้บังคับจำเลยเป็นอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ทั้งคำขอให้จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวในคดีนี้ก็ไม่อาจ ขอรวมกันมาในคดีก่อนได้เพราะเป็นการขัดแย้งกันกับฟ้อง ฟ้องของโจทก์ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด และไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การต่อสู้คดี และว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 7647-7648/2533 ของศาลแรงงานกลาง ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาโจทก์จำเลยรับกันว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีหมายเลขดำที่ 4593/2533 หมายเลขแดงที่ 7648/2533 ของศาลแรงงานกลางมูลเหตุในการเลิกจ้างเป็นเหตุเดียวกัน แต่โจทก์มิได้เรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในคดีดังกล่าวซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีก่อนคดีสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 7648/2533 ของศาลแรงงานกลาง โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งพนักงานอะไหล่ทีวี และเป็นกรรมการลูกจ้าง เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2533 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้ขออนุญาตจากศาลแรงงานกลางก่อน เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52 ขอให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะปฏิบัติตามคำพิพากษา จำเลยให้การว่าโจทก์มิได้เป็นกรรมการลูกจ้าง แม้โจทก์จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการลูกจ้าง ก็เป็นการแต่งตั้งที่มิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะเลิกจ้างหรือไม่ และจำเลยต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างย้อนหลังแก่โจทก์หรือไม่ แต่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นข้อแรกเพียงข้อเดียวว่าโจทก์ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างจากสหภาพแรงงานโต๊ะจักรไทยประดิษฐ์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ไม่ต้องขออนุญาตศาลแรงงาน พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เห็นว่า คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยโดยผิดกฎหมาย ซึ่งมีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัวว่าโจทก์ยังมีสภาพไม่ขาดจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องโดยอาศัยเหตุจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด จึงมิใช่ฟ้องโดยอาศัยเหตุและมีคำขอให้บังคับจำเลยเป็นอย่างเดียวกันกับคดีก่อนทั้งคำขอให้จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวในคดีนี้ก็ไม่อาจขอรวมกันมาในคดีก่อนได้เพราะเป็นการขัดแย้งกันกับฟ้อง ฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยได้
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

Share