แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ในข้อหาความผิดฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต นั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานก็ตาม แต่โจทก์ก็มีหน้าที่นำสืบให้ฟัง ได้ว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องทั้งสองฐานดังกล่าวด้วยจึงจะลงโทษจำเลยได้ เมื่อทางพิจารณาโจทก์มิได้นำสืบว่า อาวุธปืน ที่จำเลยใช้ยิงต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานนั้นเป็นอาวุธปืนที่จำเลย มิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย และจำเลยมิได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว อีกทั้งโจทก์ก็ไม่ได้อาวุธปืนมาเป็นของกลางยืนยันความผิดของจำเลยด้วย จึงลงโทษจำเลยในข้อหาความผิด ทั้งสองฐานนี้ไม่ได้ ในการพิจารณาคดีอาญา เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบพิสูจน์ให้เห็นว่า จำเลยกระทำความผิด การที่จำเลยไม่นำสืบปฏิเสธจะถือเท่ากับว่าจำเลยยอมรับผิดตามฟ้องไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 138,288, 289 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่21 ตุลาคม 2519 ข้อ 4 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ลงโทษฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปีฐานพาอาวุธปืนไปโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี และมีความผิดตามมาตรา 138 มาตรา 289 ประกอบมาตรา 80 จำคุกตลอดชีวิตเมื่อจำเลยต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่นำโทษในความผิดฐานอื่นมานับต่ออีก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 1 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า วันเกิดเหตุจำเลยกับนายนุกูล พลกาญจน์ ได้ร่วมกันชิงทรัพย์รถจักรยานยนต์ของนายสมศักดิ์ เสียงทอง แล้วหลบหนีไป เจ้าพนักงานตำรวจติดตามจับนายนุกูลได้ นายนุกูลรับว่าเป็นน้องภรรยาจำเลยได้ร่วมกับจำเลยชิงทรัพย์รถจักรยานยนต์ไปจริงแล้วพาไปหาจำเลยที่บ้าน เมื่อจำเลยเห็นเจ้าพนักงานตำรวจได้วิ่งหลบหนีไปอยู่ใต้ต้นมะพร้าวแล้วใช้อาวุธปืนยิงมาทางเจ้าพนักงานตำรวจ…
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปคือ จำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ข้อเท็จจริงจะฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานก็ตาม แต่โจทก์ก็มีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องทั้งสองฐานดังกล่าวด้วย จึงจะลงโทษจำเลยได้ คดีนี้ทางพิจารณาโจทก์มิได้นำสืบว่า อาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานนั้นเป็นอาวุธปืนที่จำเลยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายและจำเลยมิได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว อีกทั้งโจทก์ก็ไม่ได้อาวุธปืนมาเป็นของกลางยืนยันความผิดของจำเลยด้วย จึงลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดทั้งสองฐานนี้ไม่ได้ ที่โจทก์อ้างในฎีกาว่า พยานโจทก์เบิกความว่า จำเลยไม่เคยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน นั้น ไม่ปรากฏในทางพิจารณาว่าพยานโจทก์ปากใดเบิกความเช่นนั้น ส่วนที่ฎีกาว่า ความผิดฐานมีและใช้อาวุธปืน จำเลยก็ไม่ปฏิเสธ เท่ากับจำเลยยอมรับว่าไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนนั่นเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานมีอาวุธปืน และพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องนั้น เห็นว่าในการพิจารณาคดีอาญาเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบพิสูจน์ให้เห็นว่า จำเลยกระทำความผิด การที่จำเลยไม่นำสืบปฏิเสธจะถือเท่ากับว่าจำเลยยอมรับผิดตามฟ้องไม่ได้…”
พิพากษายืน.