แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46ที่จะต้องถือเอาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญามาพิจารณาคดีส่วนแพ่งนั้น คดีแพ่งและคดีอาญาดังกล่าวจะต้องเป็นคู่ความเดียวกัน สำหรับสำนวนคดีแรกโจทก์ที่ 2 ฟ้องในฐานะเป็นเจ้าของรถบรรทุกและเป็นผู้เสียหายจากการเสื่อมเสียของรถและขาดประโยชน์รายได้อันเป็นสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 2 เองโดยเฉพาะหาได้รับช่วงมีสิทธิมาจากการที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ส. จำเลยที่ 1 แต่ประการใดไม่ ทั้งโจทก์ที่ 1ในฐานะผู้รับประกันภัยจากโจทก์ที่ 2 ก็เป็นผู้รับช่วงสิทธิจากโจทก์ที่ 2 ผู้เอาประกันภัย ฉะนั้นโจทก์ทั้งสองจึงเป็นบุคคลภายนอกในคดีอาญาที่ศาลได้พิพากษาไปแล้วดังกล่าวรวมทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็มิได้เคยเป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวด้วย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นบุคคลภายนอกในคดีอาญาดังกล่าวจึงจะนำหลักตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ที่ว่าให้ถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญามาใช้ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งบังคับใช้ในคดีนี้หาได้ไม่สำหรับสำนวนคดีหลัง โจทก์จำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าว ทั้งประเด็น ในคดีแพ่งคดีนี้มีว่า น. จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขับรถโดยประมาทหรือไม่ เป็นคนละประเด็นกันกับคดีอาญาดังกล่าวซึ่งมีประเด็น ว่า ส. จำเลยที่ 1 คดีนี้ เป็นผู้ขับรถโดยประมาทหรือไม่จึงไม่มีเหตุที่จะต้องนำข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวมาใช้ใน การพิจารณาคดีแพ่งเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่อ้างคำเบิกความของพยานขึ้นมาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของพยานไม่ถูกต้องเป็นการดึงปัญหาข้อเท็จจริงเข้ามาสู่ปัญหาข้อกฎหมายเพื่อให้มีการพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายใหม่ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ประมาทหรือไม่ อันเป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 และจำเลยที่ 1ในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 3
สำนวนคดีแรกโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับประกันภัยรถบรรทุกสิบล้อยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน 80-5482 ขอนแก่นไว้จากโจทก์ที่ 2 เจ้าของผู้ครอบครอง เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2533เวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2ขับรถโดยสารคันหมายเลขทะเบียน 11-6908 กรุงเทพมหานครของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังพุ่งเข้าชนรถบรรทุกสอบล้อ หมายเลขทะเบียน80-5482 ขอนแก่น ที่นายนพพล ม้าทอง ขับซึ่งโจทก์ที่ 1รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายหลายรายการโจทก์ที่ 1เสียค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 50,737.50 บาท แก่โจทก์ที่ 1ชำระเงินจำนวน 125,341.75 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จริง แต่มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถโดยสารคันหมายเลขทะเบียน 11-6908 กรุงเทพมหานครเหตุรถชนกันมิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 แต่เกิดจากความประมาทของนายนพพล ม้าทอง แต่ผู้เดียวค่าเสียหายของรถบรรทุกสิบล้อที่โจทก์ที่ 1 รับประกันภัยมีไม่เกิน7,000 บาท โจทก์ที่ 2 ไม่ได้เสียหายจริง ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนคดีหลังโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้เช่ารถโดยสารคันหมายเลขทะเบียน 11-6908 กรุงเทพมหานคร มาจากบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์จำกัด เพื่อใช้วิ่งรับส่งผู้โดยสาร จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถบรรทุกสิบล้อคันหมายเลขทะเบียน 80-5482 ขอนแก่นโดยจำเลยที่ 1 ร่วมกันเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และครอบครองใช้ประโยชน์ในรถบรรทุกสิบล้อคันดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 2 และขับมาในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3เป็นผู้รับประกันรถบรรทุกสิบล้อคันหมายเลขทะเบียน 80-5482 ขอนแก่นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2533 จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกสิบล้อคันหมายเลขทะเบียน 80-5482 ขอนแก่น แล่นเข้าทางแยกด้วยความเร็วสูงโดยไม่ดูให้ดีว่าขณะนั้นมีรถโดยสารของโจทก์ที่นายสกล พงอุดทา ขับแล่นเข้าทางแยกผ่านหน้ารถบรรทุกสิบล้ออยู่ก่อนแล้วนายสกลได้เหยียบเบรกรถโดยสารหยุดลงทันแต่จำเลยที่ไม่สามารถหยุดรถบรรทุกสิบล้อได้ทัน รถบรรทุกสิบล้อคันที่จำเลยที่ 1ขับจึงพุ่งเข้าชนรถโดยสารอย่างแรงที่บริเวณด้านหน้ามุมซ้ายตรงไปประตูหน้าแล้วเสียหลักไปชนรั้วที่ทำการสหกรณ์การเกษตรอำเภอพลรถโดยสารได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 123,625 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นเพียงผู้เช่ารถไม่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในความเสียหายของรถ และโจทก์ไม่ได้จ่ายค่าซ่อมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายเหตุรถชนกันมิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 แต่เกิดจากความประมาทของนายสกล พงอุดทาผู้ขับรถโดยสารคันหมายเลขทะเบียน 11-6908 กรุงเทพมหานครค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน 21,150 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน115,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 2ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 8,625 บาท
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในปัญหาข้อกฎหมายว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3ต่างขับรถด้วยความประมาทด้วยกันทั้งสองฝ่าย นอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 872/2537ที่พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ขับรถโดยประมาทและคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้วดังกล่าวข้างต้น อันเป็นการขัดกับหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ที่ว่า ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้นเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังกล่าวที่จะต้องถือเอาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญามาพิจารณาคดีส่วนแพ่งนั้น คดีแพ่งและคดีอาญาดังกล่าวจะต้องเป็นคู่ความเดียวกันสำหรับสำนวนคดีแรกโจทก์ที่ 2 ฟ้องในฐานะเป็นเจ้าของรถบรรทุกและเป็นผู้เสียหายจากการเสื่อมเสียของรถและขาดประโยชน์รายได้อันเป็นสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 2 เอง โดยเฉพาะหาได้รับช่วงสืบสิทธิมาจากการที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายสกล พงอุดทาจำเลยที่ 1 แต่ประการใดไม่ ทั้งโจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้รับประกันภัยจากโจทก์ที่ 2 ก็เป็นผู้รับช่วงสิทธิจากโจทก์ที่ 2 ผู้เอาประกันภัยฉะนั้นโจทก์ทั้งสองจึงเป็นบุคคลภายนอกในคดีอาญาที่ศาลได้พิพากษาไปแล้วดังกล่าวรวมทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็มิได้เคยเป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวด้วย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกในคดีอาญาดังกล่าวจึงจะนำหลักตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46ที่ว่าให้ถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญามาใช้ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่ง บังคับใช้ในคดีนี้หาได้ไม่สำหรับสำนวนคดีหลังโจทก์จำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวทั้งประเด็นในคดีแพ่งคดีนี้มีว่านายนพดล ม้าทอง จำเลยที่ 3เป็นผู้ขับรถโดยประมาทหรือไม่ เป็นคนละประเด็นกันกับคดีอาญาดังกล่าวซึ่งมีประเด็นว่านายสกล พงอุดทา จำเลยที่ 1 คดีนี้เป็นผู้ขับรถโดยประมาทหรือไม่จึงไม่มีเหตุที่จะต้องนำข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวมาใช้ในการพิจารณาคดีแพ่งเรื่องนี้ด้วยเช่นกันที่ฎีกาของจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลพิจารณาคดีในส่วนแพ่งฟังว่าจำเลยที่ 3 เป็นฝ่ายประมาทแต่ฝ่ายเดียว จึงเป็นการไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยไม่ถือเอาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีอาญาดังกล่าวมาใช้พิจารณาคดีแพ่งทั้งสองสำนวนในคดีนี้ชอบแล้วส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่อ้างคำเบิกความของพยานขึ้นมาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพื่อให้ศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของพยานไม่ถูกต้องเป็นการดึงปัญหาข้อเท็จจริงเข้ามาสู่ปัญหาข้อกฎหมายเพื่อให้มีการพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายใหม่ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ประมาทหรือไม่อันเป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อคดีทั้งสองสำนวนมีทุนทรัพย์ไม่ถึงสองแสนบาทจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งเมื่อไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์มีความเห็นแย้งหรือผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ได้รับรองให้ฎีกาหรือได้รับอนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน