แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่า รายได้ของจำเลยจากการค้าขายอาหารไม่เพียงพอสำหรับดำรงชีพ ดังนั้น แม้จำเลย จะได้รับเงินส่วนแบ่งจากหญิงซึ่งค้าประเวณี การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 286.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 286 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 5 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 4, 9
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 4, 9 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 286, 91 เป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษ ฐานเป็นเจ้าของกิจการสถานการค้าประเวณีจำคุก 6 เดือน ฐานดำรงชีพแม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีจำคุก 7 ปี รวมจำคุก 7 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเช่าบ้านที่เกิดเหตุในราคาเดือนละ 1,000 บาท ด้านหน้าบ้านจำเลยเปิดเป็นร้านขายอาหารตั้งชื่อว่า “สำเภาทอง” เมื่อวันที่ 25 มีนาคม2530 เวลาประมาณ 1 นาฬิกา ร้อยตำรวจเอกวัฒนา พิมพ์อัฐ พนักงานสอบสวนกับพวกจับจำเลยและหญิงอีก 13 คน ที่บ้านเกิดเหตุกล่าวหาจำเลยว่าเป็นเจ้าของกิจการสถานการค้าประเวณีและดำรงชีพจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี สำหรับหญิง 13 คน ได้ดำเนินคดีฐานมั่วสุมในสถานการค้าประเวณี และศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษไปแล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยข้อหาเป็นเจ้าของกิจการสถานการค้าประเวณี และข้อหาดำรงชีพจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี จำเลยฎีกาทั้งสองข้อหา แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาข้อหาเป็นเจ้าของกิจการสถานการค้าประเวณี ข้อหานี้จึงยุติไปในชั้นศาลอุทธรณ์แล้ว ปัญหาเหลือเพียงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานดำรงชีพจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีหรือไม่ ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าบ้านเกิดเหตุที่จำเลยเช่ามาเป็นสถานการค้าประเวณีโดยจำเลยเป็นผู้ดำเนินการเอง มีหญิงซึ่งค้าประเวณีอาศัยอยู่กินกับจำเลยรวม13 คน จำเลยได้รับส่วนแบ่งจากเงินที่ได้จากการค้าประเวณีของหญิงเหล่านี้ แต่ตามคำเบิกความของนางทองเจือ ชูเชิด พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุว่า จำเลยเช่าร้านที่เกิดเหตุจากพยานเพื่อใช้พักอาศัยและเปิดขายอาหารและเครื่องดื่มที่หน้าร้านจำเลยตั้งชื่อร้านว่า “สำเภาทอง” และร้อยตำรวจเอกวัฒนา พิมพ์อัฐพนักงานสอบสวนพยานโจทก์ก็เบิกความยอมรับว่า หน้าร้านจำเลยเปิดเป็นร้านขายอาหาร คำเบิกความของนางทองเจือและร้อยตำรวจเอกวัฒนาเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่อ้างว่าจำเลยประกอบการค้าขายอาหารและเครื่องดื่ม แม้ข้ออ้างของจำเลยว่ามีรายได้จากการค้าถึงวันละ1,000 บาท ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้เนื่องจากร้านจำเลยมีโต๊ะสำหรับนั่งรับประทานอาหารเพียงตัวเดียวและหญิงที่ถูกจับที่บ้านจำเลยดังกล่าวข้างต้นบางคน ได้ให้การในชั้นสอบสวนว่าจำเลยขายอาหารให้เฉพาะหญิงโสเภณีในบ้านและขายเครื่องดื่มให้ชายที่ไปเที่ยวโสเภณีเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าจำเลยค้าขายอาหารด้วยแสดงว่าจำเลยมีรายได้จากการค้าขาย และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่า รายได้ของจำเลยดังกล่าวไม่เพียงพอสำหรับดำรงชีพดังนั้นแม้จำเลยจะได้รับเงินส่วนแบ่งจากหญิงซึ่งค้าประเวณีการกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1488/2520 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบูรณ์ โจทก์ นายบุญสืบ สุขแสงนิล จำเลย…”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดฐานดำรงชีพจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286 ด้วยคงจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.