คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4692/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บาดแผลที่คอของโจทก์ที่ 2 จากการถูกเชือด ด้วยมีดทำครัวแผลบนกว้าง 2 เซนติเมตร ยาว 9 เซนติเมตร แผลล่างกว้าง 3 เซนติเมตรยาว 14 เซนติเมตร เป็นบาดแผลบริเวณที่สำคัญ ทำให้โจทก์ที่ 2มีอาการเจ็บปวด หันคอไม่สะดวก หลังจากผ่าตัดและเย็บแผล 2 ครั้งแพทย์ต้องนัดโจทก์ที่ 2 ไปตรวจรักษาอีก 3 ครั้ง รวมเวลาที่ใช้รักษาทั้งหมด 30 วัน แม้จะได้ความว่าโจทก์ที่ 2 ไม่ได้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเลย และยังสามารถไปให้การต่อพนักงานสอบสวนได้เองหลายครั้งในระหว่างที่ยังรักษาบาดแผลอยู่ ก็มิได้หมายความว่าโจทก์ที่ 2จะสามารถประกอบกรณียกิจตามปกติได้ในระหว่างนั้น จึงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 ป่วยเจ็บจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วันอันเป็นอันตรายสาหัส จำเลยที่ 1 ทำร้ายโจทก์ที่ 2 โดยใช้มีดเชือด บริเวณลำคอจนโจทก์ที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัสเป็นบาดแผลฉกรรจ์ถึง 2 แผล เกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 1 ยังไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาโจทก์ที่ 2 ใช้มีดฟันที่แขนจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่เป็นความจริง และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้พยายามบรรเทาผลร้ายโดยให้ความช่วยเหลือแก่โจทก์ที่ 2 แต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 1 จะประกอบอาชีพเป็นหลักฐานและเคยมีคุณความดีมาก่อน แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 แล้ว ไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1.

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษารวมกัน
สำนวนแรก โจทก์ที่ 1 ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 ส่วนสำนวนหลัง โจทก์ที่ 2 ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 297, 80, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องสำนวนหลังแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การถือว่าจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ลงโทษจำคุก 6 เดือน คำเบิกความของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน ยกฟ้องจำเลยที่ 2ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน คำเบิกความของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี พฤติการณ์แห่งรูปคดียังไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษให้
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1ได้ใช้มีดทำครัวยาวประมาณ 6 นิ้วฟุต เชือดคอโจทก์ที่ 2 สองครั้งเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กายโดยมีบาดแผลที่คอด้านขวา2 แผล แผลบนกว้าง 2 เซนติเมตร ยาว 9 เซนติเมตร แผลล่างกว้าง3 เซนติเมตร ยาว 14 เซนติเมตร ปัญหาเรื่องอันตรายสาหัสนั้น เห็นว่าโจทก์ที่ 2 เบิกความว่า หลังจากที่รักษาบาดแผลแล้ว โจทก์ที่ 2ไม่สามารถประกอบกรณียกิจตามปกติได้ประมาณเดือนเศษ มีอาการเจ็บป่วยหันคอไม่สะดวกและแพทย์หญิงเสาวณี ชูติพงศ์ แพทย์ผู้ตรวจชันสูตรบาดแผลของโจทก์ที่ 2 มาเบิกความประกอบรายงานความเห็นการตรวจชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้องว่า บาดแผลของโจทก์ที่ 2 อยู่บริเวณที่สำคัญ ต้องรักษาโดยการผ่าตัดและเย็บบาดแผลถึง 2 ครั้ง หลังจากนั้นแพทย์ต้องนัดโจทก์ที่ 2 ไปตรวจรักษาอีก 3 ครั้ง รวมเวลาที่ใช้รักษาทั้งหมด30 วัน ข้อนำสืบของโจทก์ทั้งสองดังกล่าว จำเลยที่ 1 มิได้นำสืบหักล้าง จึงรับฟังได้ ดังนี้ แม้จะได้ความว่าโจทก์ที่ 2 ไม่ได้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเลยและยังสามารถไปให้การต่อพนักงานสอบสวนได้เองหลายครั้งในระหว่างที่ยังรักษาบาดแผลอยู่ ก็มิได้หมายความว่าโจทก์ที่ 2 จะสามารถประกอบกรณียกิจตามปกติได้ในระหว่างนั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 ป่วยเจ็บจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน อันเป็นอันตรายสาหัสแล้ว ส่วนปัญหาเรื่องดุลพินิจในการลงโทษนั้นเห็นว่า จำเลยที่ 1 ทำร้ายโจทก์ที่ 2 โดยใช้มีดเชือดบริเวณลำคอจนโจทก์ที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัสเป็นบาดแผลฉกรรจ์ถึง 2 แผลเกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 1 ยังไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าโจทก์ที่ 2 ใช้มีดฟันที่แขนจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่เป็นความจริงและไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้พยายามบรรเทาผลร้ายโดยให้ความช่วยเหลือแก่โจทก์ที่ 2 แต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 1 จะประกอบอาชีพเป็นหลักฐานและเคยมีคุณความดีมาก่อน แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 แล้ว โทษที่ศาลอุทธรณ์ลงแก่จำเลยที่ 1 นั้น เหมาะสมแล้วไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขและไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 1
พิพากษายืน.

Share