คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4268/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติเป็นกฎหมายในส่วนอาญาซึ่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 17 บัญญัติว่า บทบัญญัติในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญาใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย ดังนั้น คำว่า”ผู้ใดออกเช็ค” ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 3 จึงมิได้มีความหมายเฉพาะผู้ออกเช็คในฐานะผู้สั่งจ่ายเท่านั้นที่จะเป็นผู้กระทำความผิดได้ บุคคลอื่นแม้มิใช่ผู้สั่งจ่ายก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คโดยเป็นตัวการร่วมกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ได้ โจทก์ฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยที่ 4 ร่วมกันสั่งจ่ายเช็คกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เพื่อชำระหนี้ในการซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรแม้จำเลยที่ 4 จะเป็นผู้สลักหลังเช็คมิใช่ผู้สั่งจ่ายเช็ค แต่ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ออกเช็คของบริษัทจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้นั้น เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2-4 เป็นกรรมการโดยจำเลยที่ 4 ลงชื่อผู้เดียวหรือจำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกันลงชื่อและประทับตราของบริษัทกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันออกเช็คธนาคารกสิกรไทยลงวันที่ 5กันยายน 2525 จำนวนเงิน 1,500,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกันในฐานะส่วนตัวและในฐานะกรรมการลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 4 ร่วมกันกับจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 โดยเป็นผู้สลักหลังเช็คดังกล่าว และได้ร่วมกันมอบเช็คให้แก่ผู้มีชื่อเป็นการชำระหนี้ ต่อมาผู้มีชื่อโอนเช็คฉบับพิพาทให้ไว้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ เมื่อเช็คถึงกำหนดธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวสำหรับจำเลยที่ 1-3
จำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 1 ปี
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่าตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ที่จำเลยที่ 4 อ้างนั้นเป็นกฎหมายในส่วนอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 บัญญัติว่าบทบัญญัติในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย ดังนั้นคำว่า “ผู้ใดออกเช็ค” ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 3 จึงมิได้มีความหมายเฉพาะผู้ออกเช็คในฐานะผู้สั่งจ่ายเท่านั้นที่จะเป็นผู้กระทำความผิดได้ บุคคลอื่นแม้มิใช่ผู้สั่งจ่ายก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คโดยเป็นตัวการร่วมกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ได้ สำหรับคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 4 ร่วมกันสั่งจ่ายเช็คกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3เพื่อชำระหนี้ในการซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรจากบริษัทโรงงานอุตสาหกรรมปลาป่นท่าข้าม จำกัด แม้จำเลยที่ 4จะเป็นผู้สลักหลังเช็คฉบับเอกสารหมาย จ.5 มิใช่ผู้สั่งจ่ายเช็ค แต่ตามพฤติการณ์ดังที่วินิจฉัยมาแล้วถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ออกเช็คของบริษัทจำเลยที่ 1เพื่อชำระหนี้นั้น เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินจึงถือได้ว่า จำเลยที่ 4 ออกเช็คโดยมีเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คและห้ามธนาคารไม่ให้ใช้เงินตามเช็คโดยเจตนาทุจริตแล้วจำเลยที่ 4 จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
พิพากษายืน

Share