คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1888/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทำหน้าที่ด้านการเงิน ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ที่มีความสำคัญมาก โจทก์ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการเงินของจำเลยโดยเคร่งครัด ทั้งต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังอย่างยิ่งการที่โจทก์ทำหน้าที่ด้านการเงินมา 20 ปีเศษแล้ว ย่อมจะทราบข้อบังคับเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินเป็นอย่างดี ปรากฏว่ามีข้อบังคับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2524 ว่าด้วยการเบิกและจ่ายเงิน ในส่วนที่ 3 ข้อ 17 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ‘ในการจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้เป็นจำนวนตั้งแต่พันบาทขึ้นไปให้สั่งจ่ายเป็นเช็คในนามเจ้าหน้าที่’ แต่โจทก์หาได้ปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ไม่กลับจ่ายเงินสดเป็นเงินทอนและมิได้บันทึกการทอนเงินไว้เป็นหลักฐานในใบเสร็จกรณีจึงถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการเงินของจำเลยผู้เป็นนายจ้างอย่างแจ้งชัดและเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(3) จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อบกพร่องของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยระเบียบ ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 20,866 บาท สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีพ.ศ.2527 เป็นเงิน 3,536 บาท ค่าชดเชย 63,659 บาทค่าขาดรายได้จากเงินเดือน ๆ ละ 10,610 บาท เป็นเวลา 87 เดือนเป็นเงิน 923,070 บาทค่าขาดรายได้จากโบนัสเป็นเงิน 397,875 บาทค่าเสียหายถูกเกลียดชังและเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูลเป็นเงิน1,300,000 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยตามกฎหมายในจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยรับดราฟต์เป็นค่าซื้อน้ำมันโดยมิได้กรอกข้อความสำคัญในใบเสร็จรับเงินให้ครบถ้วน และมิได้ระบุจำนวนเงินตามดราฟต์ว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด ซึ่งเป็นการปกปิดความจริง และทำให้เข้าใจว่าดราฟต์มีจำนวนเงินเท่ากับราคาน้ำมัน แต่ความจริงจำนวนเงินตามดราฟต์มากกว่าราคาน้ำมันถึง 21,210 บาท และโจทก์ได้ทอนเงินสดของจำเลยให้แก่นางจินตนาจำนวน 21,210 บาท ไปโดยมิได้ให้นางจินตนาลงลายมือชื่อรับเงินทอนในใบเสร็จ เป็นการจงใจฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการรับจ่ายเงินของจำเลย และฝ่าฝืนข้อบังคับคณะกรรมการองค์การเชื้อเพลิงว่าด้วยวินัยพนักงาน พ.ศ.2503 การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการจงใจกระทำผิด ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริตไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่การงานตามนโยบาย ระเบียบแบบแผนโดยยอมให้ผู้ยื่นอาศัยอำนาจหน้าที่การงานของตนไม่ว่าจะโดยตรงหรือทางอ้อม เพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นอันอาจเป็นทางเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ในตำแหน่งหน้าที่การงาน ดังนั้นการที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานจึงไม่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยและไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหากจะรับผิดก็รับผิดเพียง 15 วัน ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี หากจำเลยจะต้องรับผิดก็เพียง 5 วันเท่านั้น และไม่จำต้องรับผิดในค่าขาดรายได้จากการทำงานจนเกษียณอายุค่าขาดรายได้จากเงินโบนัสค่าเสียหายอันเกิดจากการดูถูกเกลียดชังและเสียชื่อเสียงแก่วงศ์ตระกูล ตลอดจนดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2,475.20 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า20,159.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 63,659 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ทั้งของโจทก์และจำเลยเพราะเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
โจทก์จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลแรงงานกลางต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานมีคำสั่งให้รับเฉพาะอุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่ว่าการกระทำผิดของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3) หรือไม่
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘ปัญหาที่ว่าโจทก์กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่นั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าตามใบสั่งซื้อเอกสารหมายเลข 6 แผ่นที่ 4 ท้ายคำให้การ (ใบสั่งซื้อน้ำมันของนายตี๋ ศรีบุญแสง) มีข้อความว่าเงินสด เงินเชื่อตั๋วแลกเงิน เพียง 3 ประเภทหาก (ผู้สั่งซื้อ) ชำระเงินเป็นประเภทใดก็ให้ทำเครื่องหมายไว้ปรากฏว่าการซื้อน้ำมันของนายตี๋ต่อพนักงานการขายได้กำหนดชำระเป็นเงินสด แต่เมื่อนางจินตนานำใบสั่งซื้อนั้นมายื่นชำระเงินต่อโจทก์ ได้ชำระเงินเป็นดราฟต์ โจทก์ได้ออกใบเสร็จรับเงินระบุว่าเป็นดราฟต์เลขที่195498 และได้รับเงินจำนวน 64,350 บาท ไว้แล้ว ในใบเสร็จรับเงินดังกล่าวนี้มีข้อความว่าเช็ค ดราฟต์ เงินสด โจทก์ได้ทำเครื่องหมายของคำว่า ดราฟต์ แต่ได้ละเลยมิได้ลงหน่วยเงินไว้ทั้ง ๆ ที่มีช่องให้กรอกว่าเช็ค ดราฟต์ และเงินสดดังกล่าวมีจำนวนเท่าใดในกรณีนี้ปรากฏว่าจำนวนเงินในดราฟต์มีจำนวนเงินสูงกว่าราคาน้ำมันที่จะต้องชำระโจทก์จึงต้องลงรายการจำนวนเงินนั้นให้ครบ และเมื่อโจทก์ได้ทอนเงินสดจำนวน 21,210 บาท ให้แก่นางจินตนาโจทก์ต้องบันทึกการทอนเงินให้ชัดเจนในใบเสร็จนั้นด้วย เพื่อจะได้เป็นหลักฐานว่าได้ทอนเงินให้แก่ผู้นำมาชำระแล้ว จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจำเลยอุทธรณ์ว่าตำแหน่งพนักงานการเงินเป็นหัวใจสำคัญของกิจการค้าของจำเลย พนักงานที่กระทำผิดทางการเงินถือเป็นความร้ายแรงที่สุด เมื่อพนักงานกระทำผิดชัดแจ้งเช่นนี้ย่อมถือว่าเป็นการร้ายแรง พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทำหน้าที่ด้านการเงินซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ที่มีความสำคัญมาก จำเป็นที่โจทก์จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการเงินของจำเลยผู้เป็นนายจ้างโดยเคร่งครัด ทั้งต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังอย่างยิ่งในอันที่จะไม่ก่อเกิดความเสียหายแก่จำเลยได้ความว่าโจทก์ทำหน้าที่ด้านการเงินมา 20 ปีเศษแล้วโจทก์ย่อมจะทราบข้อบังคับของจำเลยเกี่ยวกับการเบิกและจ่ายเงินเป็นอย่างดี ปรากฏว่าจำเลยมีข้อบังคับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 21) พ.ศ.2524 ว่าด้วยการเบิกและจ่ายเงิน ซึ่งตามข้อบังคับดังกล่าวในส่วนที่ 3 ข้อ 17 ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ‘ในการจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้เป็นจำนวนเงินตั้งแต่พันบาทขึ้นไปให้สั่งจ่ายเป็นเช็คในนามเจ้าหนี้’ แต่โจทก์หาได้ปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ไม่ กลับจ่ายเงินสดเป็นเงินทอนตามดราฟต์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยนิยมพาณิชย์ที่ส่งเงินมาจำนวน 85,560 บาทเพื่อสั่งซื้อน้ำมัน 12,000 ลิตร แล้วนางจินตนานำมาชำระเป็นค่าซื้อน้ำมันของนายตี๋ ศรีบุญแสงซึ่งสั่งซื้อน้ำมัน 9,000 ลิตรเป็นเงินจำนวน 64,350 บาท ให้นางจินตนาไปเป็นจำนวน 21,210 บาทและมิได้บันทึกการทอนเงินไว้เป็นหลักฐานในใบเสร็จจึงถือได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการเงินของจำเลยผู้เป็นนายจ้างอย่างแจ้งชัด นับได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นกรณีที่ร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน2515 ข้อ 47 (3) แล้วจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น’
พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยให้โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share