คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4007/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “เนยเทียม” ตามบัญชีที่ 1 หมวด 1(3) ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า(ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 มิได้ให้คำนิยามไว้โดยเฉพาะ จึงมีความหมายตามธรรมดา ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้คำนิยามคำว่า “เนยเทียม” ไว้ว่า สิ่งที่ทำจากไขมันหรือน้ำมันที่ได้จากพืชและสัตว์นำมาทำให้บริสุทธิ์ ผสมวิตามินเอ วิตามินดี เติมนมและสีที่เหมาะสม แบคทีเรีย ในนมจะทำให้เกิดกลิ่นและรสคล้ายเนยใช้เป็นอาหารได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์เอาน้ำมันปาล์มไปกลั่นทำให้ได้น้ำมันปาล์มโอเลอีนและไขมันสเตียรีน อันเป็นสินค้า รายพิพาทจึงเป็นเพียงไขมันที่ได้จากพืช ที่ยังไม่ได้ผสมวิตามินเอ และดี กับยังไม่ได้เติมนมและสีที่เหมาะสมให้แบคทีเรีย ในนมทำให้เกิดกลิ่นและรสคล้ายเนย สเตียรีน จึงไม่เป็นเนยเทียมตามบัญชีที่ 1หมวด 1(3) ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า 1 ชนิด 1.(ก) แห่งประมวลรัษฎากร.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้แจ้งการประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าของเดือนตุลาคม 2525 ถึงเดือนกันยายน 2527 รวม2 รอบระยะเวลาบัญชี พร้อมเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีบำรุงเทศบาลรวม6,013,970 บาท โดยอ้างว่าสินค้าสเตียรีน ที่โจทก์ผลิตขายเป็นเนยเทียมเข้าลักษณะตามหมวด 1(3) บัญชี 1 ท้ายพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 54)พ.ศ. 2517 โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินจึงได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการวินิจฉัยว่าการประเมินชอบแล้ว โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว ทั้งนี้ก็เพราะสินค้าสเตียรีน ได้มาจากการสกัดน้ำมันปาล์มโอเลอีน และไขมันสเตียรีน ออกจากกัน ไขมันสเตียรีน จึงไม่ใช่เนยเทียมตามหมวด 1(3) บัญชี 1 ท้ายพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 และไม่อยู่ในความควบคุมของกระทรวงสาธารณสุข ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 37(พ.ศ. 2522) จึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีการค้าเลขที่ 2747/3/02231, 2447/3/02232 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ ภ.ส.7 เลขที่ 2/2532 ลงวันที่10 พฤษภาคม 2532
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มโอเลอีน ซึ่งสกัดจากน้ำมันปาล์มส่วนไขมันสเตรียรีน สินค้ารายพิพาทเป็นผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันปาล์ม มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับเนยเทียม จึงเป็นสินค้าตามหมวด 1ผ3) ของบัญชี 1 แห่งบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 54)พ.ศ. 2517 จะต้องเสียภาษีการค้า ตามประเภทการค้า 1 ชนิด 1.(ก) การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้า เลขที่2747/3/02231 และเลขที่ 2447/3/02232 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2531คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 2/2532 ลงวันที่10 พฤษภาคม 2532
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คณะกรรมการอาหารและยาได้ส่งสินค้ารายพิพาทไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ทำการตรวจวิเคราะห์แล้วปรากฏผลการวิเคราะห์สรุปได้ว่า สินค้ารายพิพาทเป็นไขมันสเตียริน จากเนื้อปาล์มไม่มีคุณสมบัติเป็นเนยเทียมตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 37 (พ.ศ.2522)
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า สเตียรีน อันเป็นสินค้ารายพิพาทเป็นเนยเทียมตามบัญชีที่ 1 หมวด 1(3) ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54)พ.ศ. 2517 หรือไม่ เห็นว่า คำว่า “เนยเทียม” ตามที่ระบุไว้ในบัญชีที่ 1 หมวด 1(3) ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมิได้ให้คำนิยามไว้โดยเฉพาะจึงมีความหมายตามธรรมดา ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานพ.ศ. 2525 ให้คำนิยามคำว่า “เนยเทียม” ไว้ว่า สิ่งที่ทำจากไขมันหรือน้ำมันที่ได้จากพืชและสัตว์ นำมาทำให้บริสุทธิ์ ผสมวิตามินเอวิตามินดี เติมนมและสีทีเหมาะสม แบคทีเรีย ในนมจะทำให้เกิดกลิ่นและรสคล้ายเนย ใช้เป็นอาหารได้เมื่อตามคำฟ้องและคำให้การได้ความตรงกันว่า โจทก์เอาน้ำมันปาล์มไปกลั่นทำให้ได้น้ำมันปาล์มโอเลอีนและไขมันสเตียรีน ไขมันสเตียรีน ที่ได้คือสินค้ารายพิพาทมีคุณสมบัติในส่วนสำคัญและใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับเนยเทียม มิได้โต้แย้งว่าสินค้ารายพิพาทได้ผสมวิตามินเอและดี เติมนมและสีทีเหมาะสมให้แบคทีเรีย ในนมทำให้เกิดกลิ่นและรสคล้ายเนย ทั้งผลการวิเคราะห์สินค้ารายพิพาทก็พบเพียงว่า มีน้ำและสิ่งที่ระเหย ได้ เพอร์ออกไซด์ และกรดชนิดต่าง ๆ แต่ไม่พบวิตามินเอ เกลือโซเดียมคลอไรด์ แป้ง น้ำมันแร่และไม่มีกลิ่นหืน เจ้าหน้าที่ผู้วิเคราะห์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข สรุปความเห็นว่า สินค้ารายพิพาทที่ส่งไปให้วิเคราะห์เป็นไขมันปาล์มสเตียรีน จากเนื้อปาล์ม ไม่มีคุณสมบัติเป็นเนยเทียมตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 37 (พ.ศ. 2522)จำเลยก็มิได้คัดค้าน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าสเตียรีน อันเป็นสินค้ารายพิพาทนั้นเป็นเพียงไขมันที่ได้จากพืช ที่ยังไม่ได้ผสมวิตามินเอและดี กับยังไม่ได้เติมนมและสีทีเหมาะสมให้แบคทีเรีย ในนมทำให้เกิดกลิ่นและรสคล้ายเนย สเตียรีน อันเป็นสินค้ารายพิพาทจึงไม่เป็นเนยเทียมตามที่ระบุไว้ในบัญชีที่ 1 หมวด 1(3) ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า(ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 การที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระค่าภาษีการค้าสำหรับสินค้ารายพิพาทจึงเป็นการไม่ชอบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่เห็นว่าการประเมินชอบแล้ว จึงไม่ชอบไปด้วย
พิพากษายืน.

Share