คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3806/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในระหว่างที่โจทก์เป็นผู้จัดการร้านสหกรณ์จำเลย เงินของจำเลยมิได้ขาดบัญชีไป เพียงแต่โจทก์รับเงินมาแล้วนำเข้าฝากธนาคารในบัญชีของจำเลยโดยมิได้นำมาลงบัญชีสมุด เงินสดรับ เป็นเหตุให้ผู้ตรวจสอบบัญชีเห็นว่าเงินขาดบัญชีไป จำเลยจึงได้ให้โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและรับสภาพหนี้ยอมรับผิดชดใช้เงินที่ขาดบัญชี ซึ่งต่อมาจำเลยได้ฟ้องเรียกเงินดังกล่าวจากโจทก์ศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์รับผิดชดใช้เงินนั้น และโจทก์ได้ชดใช้เงินให้แก่จำเลยแล้วทั้งที่ปรากฏว่าเงินจำนวนนี้ยังอยู่ในบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลย เงินดังกล่าวแม้จะตก เป็นของธนาคารแต่จำเลยในฐานะเจ้าของบัญชีก็มีสิทธิเรียกร้องให้ธนาคารใช้เงินนั้นให้แก่จำเลยเมื่อใดก็ได้ เมื่อจำเลยได้รับเงินจำนวนเดียวกันกับเงินที่ฝากธนาคารไปจากโจทก์ตามคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วเงินที่จำเลยมีสิทธิเรียกร้องจากธนาคารจึงปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นการให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยในฐานลาภมิควรได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เคยเป็นผู้จัดการของจำเลย ผู้ตรวจสอบบัญชีกรมบัญชีสหกรณ์ได้ตรวจสอบบัญชีเกี่ยวกับการเงินของปี 2524 อ้างว่าเป็นเงินขาดบัญชีไปซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดชอบเป็นเงิน 52,405.96 บาทความจริงเงินจำนวนดังกล่าวไม่ได้ขาดบัญชี โดยโจทก์นำเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขานครนายก และนำไปใช้จ่ายในกิจการของจำเลย แต่พนักงานบัญชีไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงิน ไม่ได้ลงบัญชีและลงบัญชีผิดพลาด โจทก์ได้ชี้แจงให้คณะกรรมการตรวจสอบทราบจำเลยขอให้โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและรับสภาพหนี้ไว้ก่อนเมื่อตรวจสอบได้หลักฐานจึงให้นำมาหักกลบลบกัน โจทก์ยอมทำตาม หลังจากนั้นโจทก์ตรวจพบว่าเงินที่ผู้ตรวจสอบบัญชีอ้างว่าขาดบัญชีไปนั้นโจทก์ได้นำเข้าบัญชีของจำเลยที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขานครนายกถูกต้องเรียบร้อยจึงได้แจ้งให้จำเลยทราบเพื่อหักกลบลบกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความและรับสภาพหนี้ จำเลบยไม่ยอมและฟ้องโจทก์เป็นคดีต่อศาล ศาลพิพากษาบังคับให้โจทก์รับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความและรับสภาพหนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2526 อันเป็นวันผิดนัดคดีถึงที่สุดในชั้นศาลฎีกาเมื่อโจทก์จะต้องรับผิดใช้เงินให้จำเลยตามคำพิพากษาของศาลดังกล่าวเงินที่โจทก์นำฝากเข้าบัญชีของจำเลยที่ธนาคารและใช้จ่ายไปในกิจการของจำเลยจำนวน 52,405.96 บาท ย่อมตกเป็นของโจทก์นับแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2526 จำเลยไม่มีสิทธิที่จะยึดเอาไว้ได้โดยเป็นลาภมิควรได้ ทำให้โจทก์เสียเปรียบขอให้จำเลยนชำระเงิน52,405.96 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2526 จนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อเงินในบัญชีซึ่งอยู่ในความรับผิดของโจทก์ขาดหายไป 52,405.96 บาท และโจทก์ไม่สามารถแสดงหลักฐานหักล้างได้ จำเลยจึงมีสิทธิบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำไว้ต่อกันได้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในคดีนี้ได้ระงับสิ้นไปแล้วโดยสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ซึ่งศาลพิพากษาว่ามีผลใช้บังคับได้ คดีถึงที่สุดในชั้นศาลฎีกา นอกจากนี้ยังเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 145/2527 ของศาลชั้นต้น ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกในข้อหาละเมิดอันเป็นมูลหนี้เดียวกับคดีนี้ และศาลพิพากษยกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว ขณะนี้โจทก์ยังไม่ได้ชดใช้เงินตามคำพิพากษาให้จำเลย กรณีมิใช่ลาภมิควรได้ ไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 52,405.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 30 มกราคม 2529(วันฟ้อง) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้นำสืบโต้แย้งกันฟังยุติว่า โจทก์เป็นผู้จัดการของจำเลยระหว่างวันที่1 มิถุนายน 2521 ถึง 30 กันยายน 2524 ต่อมาผู้ตรวจสอบบัญชีของกรมบัญชีสหกรณ์ได้ตรวจสอบบัญชีอ้างว่าเงินขาดหายไปจากบัญชีในปี 2524 เป็นเงิน 52,405.96 บาท และโจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและรับสภาพหนี้ไว้ หลังจากนั้นจำเลยได้ฟ้องโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและรับสภาพหนี้ดังกล่าวศาลพิพากษาให้โจทก์ชดใช้เงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความและรับสภาพหนี้ คดีถึงที่สุดชั้นศาลฎีกา ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกฐานละเมิด โดยอ้างว่าเงินไม่ได้ขาดหายไปจากบัญชีตามที่ผู้ตรวจสอบบัญชีกล่าวอ้าง ศาลพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีกความจริงเงินของจำเลยมิได้ขาดหายไปจากบัญชีแต่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการในขณะนั้นได้รับเงินไว้แล้วนำฝากไว้ที่ธนาคารในบัญชีของจำเลย โดยมิได้นำลงบัญชีสมุดเงินสดรับทำให้ตรวจสอบไม่พบ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีเพียงว่า โจทก์จะเรียกเงินที่ได้นำเข้าบัญชีของจำเลยที่ธนาคารตามฟ้องคืนได้หรือไม่ พยานโจทก์มีตัวโจทก์และนายสายันต์ ธรรมภักดี ผู้จัดการของจำเลยเบิกความทำนองเดียวกันสรุปได้ว่า ในระหว่างที่โจทก์เป็นผู้จัดการของจำเลยเงินของจำเลยมิได้ขาดบัญชีไป เพียงแต่โจทก์รับเงินมาแล้วก็นำเข้าฝากธนาคารในบัญชีจของจำเลยโดยมิได้นำมาลงบัญชีสมุดเงินสดรับที่ผู้ตรวจสอบบัญชีของกรมบัญชีสหกรณ์เห็นว่าเงินขาดบัญชีไปนั้น เป็นการตราจสอบตัวเลขไม่ถูกต้องจำเลยจึงได้ให้โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและรับสภาพหนี้ยอมรับผิดชอใช้เงินจำนวน52,405.96 บาท แก่จำเลยซึ่งต่อมาจำเลยได้ฟ้องเรียกเงินดังกล่าวจากโจทก์และศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์รับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความและรับสภาพหนี้ดังกล่าว แสดงว่าโจทก์ต้องชำระเงินจำนวน 52,405.96 บาท ให้แก่จำเลย ทั้ง ๆ ที่โจทก์มิได้ทำให้เงินจำนวนดังกล่าวขาดหายไปแต่อย่างใดและยังคงปรากฏว่าเงินจำนวนนี้อยู่ในบัญชีธนาคารของจำเลยอีกด้วย สำหรับเงินจำนวนดังกล่าวที่โจทก์นำฝากะนาคารในบัญชีของจำเลยโดยมิได้นำลงบัญชีสมุดเงินสดรับนี้แม้จะตกเป็นของธนาคาร แต่จำเลยในฐานะเจ้าของบัญชีก็มีสิทธิเรียกร้องให้ธนาคารใช้เงินดังกล่าวให้แก่จำเลยเมื่อใดก็ได้ เมื่อจำเลยได้รับเงินจำนวนเดียวกันกับเงินที่ฝากธนาคารไปจากโจทก์ตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์รับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความและรับสภาพหนี้แล้ว เงินที่จำเลยมีสิทธิเรียกร้องจากธนาคารจึงปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยในฐานลาภมิควรได้ จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์…”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น.

Share