คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3692/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า”DIMETAPP” กับของจำเลยคำว่า”MEDITAPP” ต่างก็เป็นคำของภาษาต่างประเทศพิมพ์ด้วยอักษรโรมันลักษณะเป็นตัวพิมพ์ใหญ่อย่างเดียวกัน สำเนียงอ่านออกเสียงคล้ายกันตัวอักษรมีจำนวนเท่ากัน ถ้าไม่สังเกตจะเข้าใจว่า เครื่องหมายการค้า ของโจทก์และของจำเลยเป็นอย่างเดียวกัน เพราะอักษรทุกตัวเหมือนกันเพียงแต่สลับคำพยางค์หน้า 2 คำ เท่านั้น และจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยใช้กับสินค้าจำพวก 3 เช่นเดียวกับของโจทก์แม้จะระบุรายการสินค้าว่า ยาแก้หวัด แต่ในข้อบ่งใช้ที่ยา ของจำเลยก็ระบุว่าเป็นยาบรรเทาอาการแพ้ เช่น แพ้อากาศ คัดจมูก น้ำมูกไหล แก้หืด เป็นต้น เช่นเดียวกับยาของโจทก์ ทั้งยาของโจทก์ จำเลยต่างก็เป็นยาเม็ดและยาน้ำด้วยกัน แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่จะลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ อันถือได้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้ นำไปจดทะเบียนไว้แล้วเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันจนถึงนับได้ว่า เป็นการลวงสาธารณชน ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 16 คำว่า “TAPP” แม้จะฟังว่าอักษร “TA” ย่อมาจากคำว่า”TABLET” และอักษร “PP” เป็นชื่อย่อของสารเคมี 2 ชนิดแต่เมื่อนำอักษรดังกล่าวมารวมกันเป็นคำว่า “TAPP” จึงจัดว่าเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นพึงรับจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้ตามมาตรา 4(3) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 หาใช่ชื่อสามัญหรือสิ่งใดที่ใช้กันสามัญในการค้าขายซึ่งต้องห้ามถือเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้เป็นส่วนหนึ่ง แห่งเครื่องหมายการค้าตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันไม่ แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่นำไปจดทะเบียนจะไม่เหมือนเพียงแต่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์และโจทก์ไม่ได้คัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีตามสิทธิของโจทก์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเพราะโจทก์ได้จดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้ายาของโจทก์ผลิตออกจำหน่ายเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้ายาของจำเลยเป็นเวลาหลายปี โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยลอกเลียนนำไปจดทะเบียนดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ ตามมาตรา 41(1)แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งรัฐเวอร์จิเนียประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “DIMETAPP” อ่านว่า “ไดเมแทพ” หรือ “ไดมีแท็ป” ใช้กับสินค้าจำพวก 3 เคมีวัตถุซึ่งทำขึ้นสำหรับใช้เป็นโอสถและในการผสมโอสถสินค้ายาภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีสรรพคุณในการบำบัดรักษาอาการแพ้ และโรคของทางเดินหายใจอย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วโลกมานานปี ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ในประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย สำหรับในประเทศไทยโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวใช้กับสินค้าจำพวก 3 เป็นเวลาเกือบ 30 ปี แล้ว ผู้พบเห็นสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะทราบทันทีว่าเป็นสินค้าของโจทก์ จำเลยมีเจตนาไม่สุจริตคบคิดกับนายพรชัย วงศ์ภัทรวิฑูรหรือแซ่ลิ้ม เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยวิธีสลับคำจาก “DIMETAPP” เป็น “MEDITAPP” แล้วนำไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใช้กับสินค้าจำพวก 3 สำหรับยาแก้หวัดอันเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันกับของโจทก์ นอกจากนี้จำเลยยังลอกเลียนสูตรยาแก้หวัดของโจทก์ออกจำหน่ายเพื่อลวงขาย ทำให้ผู้ซื้อสับสนหลงผิดคิดว่า สินค้ายาแก้หวัดที่จำเลยจำหน่ายเป็นสินค้าของโจทก์อันเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอศาลพิพากษาให้จำเลยถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “MEDITAPP” ตามคำขอเลขที่ 116870 ทะเบียนเลขที่ 73396 หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และห้ามจำเลยใช้และยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวอีก
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แต่จำเลยคิดขึ้นมาเอง โดยนำคำว่า “MEDI” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชื่อจำเลย คือ “MEDIFIVE PHARMA” มารวมกับคำว่า “TAPP” โดยสุจริตนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้จำเลยแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้า คำว่า”MEDITAPP” ตามคำขอเลขที่ 116870 ทะเบียนเลขที่ 73396 ออกจากทะเบียนเครื่องหมายการค้า ห้ามจำเลยใช้และยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ให้เป็นที่เสียหายแก่โจทก์อีกต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ละเมิดเครื่องหมายการค้าของโจทก์ด้วยการลอกเลียนอันจะเป็นเหตุให้เครื่องหมายการค้าของจำเลยต้องถูกเพิกถอน พิเคราะห์เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า “DIMETAPP” กับของจำเลยคำว่า “MEDITAPP”แล้ว เห็นได้ว่าต่างก็เป็นคำของภาษาต่างประเทศพิมพ์ด้วยอักษรโรมันลักษณะเป็นตัวพิมพ์ใหญ่อย่างเดียวกัน สำเนียงอ่านออกเสียงคล้ายกันตัวอักษรมีจำนวนเท่ากัน ถ้าไม่สังเกตจะเข้าใจว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยเป็นอย่างเดียวกัน เพราะอักษรทุกตัวเหมือนกันเพียงแต่สลับคำพยางค์หน้า 2 คำ เท่านั้นและจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยใช้กับสินค้าจำพวก3 เช่นเดียวกับของโจทก์แม้จะระบุรายการสินค้าว่า ยาแก้หวัด แต่ในข้อบ่งใช้ที่ยาของจำเลยก็ระบุว่าเป็นยาบรรเทาอาการแพ้ เช่นแพ้อากาศ คัดจมูก น้ำมูกไหล แก้หืด เป็นต้น เช่นเดียวกับยาของโจทก์ทั้งยาของโจทก์จำเลยต่างก็เป็นยาเม็ดและยาน้ำด้วยกัน การร่วมกันคิดเครื่องหมายการค้าของนายพรชัยกับพวกก็แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยและนายพรชัยที่จะลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ อันถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้นำไปจดทะเบียนไว้แล้วเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 16 ที่จำเลยฎีกาว่า คำว่า”MEDI” เป็นคำย่อของบริษัทจำเลยผสมกับคำว่า “TAPP” ซึ่งมาจาก “TA”ย่อมาจาก “TABLET” แปลว่า เม็ดยา ส่วน “PP” เป็นชื่อย่อของสารเคมี 2ชนิด คือ เฟนนิเลฟฟิน และเฟนนิลโปรปาไนลามีน และบริษัทผลิตยาอื่น ๆก็ใช้ชื่อบริษัทนำหน้าคำว่า “TAPP” อยู่หลายบริษัทดังเช่นเอกสารท้ายฎีกา คำว่า “TAPP” จึงเป็นชื่อสามัญ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะสงวนไว้ใช้สำหรับชื่อยาของโจทก์แต่ผู้เดียว เห็นว่า จำเลยย่อมรู้จักเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดี ถ้าจำเลยไม่มีเจตนาจะลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยอาจจะหลีกเลี่ยงเพื่อที่จะไม่ให้เหมือนหรือคล้ายของโจทก์ได้ ดังที่จำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้อีกหลายเครื่องหมาย เช่น “MEDISONE” “MEDIPHEN” “MEDISIC””MEDILIUM” เป็นต้น ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงแสดงให้เห็นเจตนาที่ลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ส่วนคำว่า “TAPP” แม้จะฟังว่าอักษร “TA” ย่อมาจากคำว่า “TABLET” และอักษร “PP” เป็นชื่อย่อของสารเคมี 2 ชนิด แต่เมื่อนำอักษรดังกล่าวมารวมกันเป็นคำว่า”TAPP” แล้ว ปรากฏว่าเป็นคำที่ไม่มีความหมายตามพจนานุกรมแต่อย่างใดคำว่า “TAPP” จึงจัดว่าเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นพึงรับจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้ตาม มาตรา 4(3) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 หาใช่ชื่อสามัญหรือสิ่งใดที่ใช้กันสามัญในการค้าขายซึ่งต้องห้ามถือเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้เป็นส่วนหนึ่งแห่งเครื่องหมายการค้าตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันไม่ และที่จำเลยอ้างในฎีกาว่ายาดังกล่าวนี้เป็นยาอันตราย ผู้ได้รับอนุญาตให้ขายจะขายหรือจำหน่ายให้แก่ผู้ซื้อที่มีใบสั่งของแพทย์เท่านั้น เห็นว่าจำเลยย่อมทราบดีว่าร้านขายยาทั่วไปในประเทศไทย แม้จะมีเภสัชกรประจำก็อาจจะขายยาดังกล่าวได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งของแพทย์ก็ได้ข้ออ้างของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้คัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย เห็นว่า แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่นำไปจดทะเบียนจะไม่เหมือนเพียงแต่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์และโจทก์ไม่ได้คัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีตามสิทธิของโจทก์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เพราะโจทก์ได้จดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้ายาของโจทก์ผลิตออกจำหน่ายเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าของจำเลยเป็นเวลาหลายปี โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยลอกเลียนนำไปจดทะเบียนดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ ตามมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474
พิพากษายืน.

Share