คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3196/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยรับมอบเอกสารของกลางและจ่ายเงินให้ผู้นำมาส่งมอบโดยจำเลยทราบดีว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม ซึ่งแม้การที่จำเลยต้องจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนแก่ผู้นำมาส่งมอบจะทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยมิได้มีส่วนร่วมในการปลอมเอกสารและรอยตราในเอกสาร การกระทำของจำเลยเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดอันเป็นความผิดฐานเป็นผู้ใช้ ตาม ป.อ. มาตรา 84 ข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ตามป.อ. มาตรา 84 แต่ฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยในฐานตัวการร่วมกระทำผิด ตาม ป.อ. มาตรา 83 จึงแตกต่างจากที่ปรากฏในทางพิจารณาในสาระสำคัญ ลงโทษจำเลยฐานผู้ใช้ไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองแต่การกระทำของจำเลยซึ่งยังถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ตาม ป.อ. มาตรา 86 ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 251,264, 268 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 251, 264 วรรคแรก แต่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 251 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 3 ปีริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ให้ริบของกลาง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2530 เวลา 11 นาฬิกาเศษจ่าสิบตำรวจสมาน โตสวัสดิ์ และสิบตำรวจโทวิศณุ พฤกษ์เจริญเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามจับกุมจำเลยได้ที่บริเวณสะพานลอยหน้ากรมการขนส่งทางบก พร้อมกับยึดได้ใบรับคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน(ใบเหลือง) ระบุชื่อนายประสิทธิ์ ศักดิ์วัฒนกำจร เป็นผู้ยื่นคำขอตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นของกลาง ปรากฏว่าลายมือชื่อของผู้ที่ออกใบรับคำขอดังกล่าวมิใช่ลายมือชื่อของพนักงานเจ้าหน้าที่และรอยตราประทับสีแดงก็มิใช่รอยตราของพนักงานเจ้าหน้าที่เขตบางกะปิ และไม่มีชื่อนายประสิทธิ์ ศักดิ์วัฒนกำจร ในทะเบียนบ้านตามคำขอมีบัตรนั้นด้วย คงมีปัญหาที่จะวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า จำเลยร่วมกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีจ่าสิบตำรวจสมานโตสวัสดิ์ และสิบตำรวจโทวิศณุ พฤกษ์เจริญ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุมจำเลยเป็นพยานได้ความว่า เมื่อพยานทั้งสองได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการใช้บัตรประจำตัวประชาชนและใบรับคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน (ใบเหลือง)ปลอมในการจดทะเบียนเกี่ยวกับรถยนต์ที่กรมการขนส่งทางบกแล้ว วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 9 นาฬิกา พยานทั้งสองได้รับแจ้งจากสายสืบว่าจะมีการส่งมอบเอกสารที่ทำปลอมกันที่กรมการขนส่งทางบก พยานทั้งสองจึงแต่งกายนอกเครื่องแบบไปซุ่มดูที่บริเวณชั้นล่างของอาคารที่ทำการขนส่งทางบก จนเวลา 11.30 นาฬิกา เห็นชายคนหนึ่งเข้ามาพูดคุยกับจำเลยและส่งกระดาษลักษณะเป็นแผ่นสีเหลืองให้จำเลย ห่างจากที่พยานทั้งสองซุ่มอยู่ประมาณ 10 เมตร จำเลยส่งเงินให้ชายคนนั้นด้วย พยานทั้งสองจึงเข้าจับกุม จำเลยกับชายคนนั้นต่างแยกกันวิ่งหนีไปคนละทางจ่าสิบตำรวจสมานวิ่งไล่ตามจำเลย ส่วนสิบตำรวจโทวิศณุวิ่งไล่ตามชายคนนั้นไป จ่าสิบตำรวจสมานจับกุมจำเลยได้ที่สะพานลอยหน้ากรมการขนส่งทางบก ยึดได้ใบรับคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนใหม่(ใบเหลือง) ในกระเป๋าสตางค์จำเลยเป็นของกลาง จำเลยรับว่าซื้อใบรับคำขอดังกล่าวจากชายคนนั้นในราคา 250 บาท เพื่อเอาไปใช้ในการโอนรถยนต์สำหรับชายคนนั้นวิ่งหนีขึ้นรถจักรยานยนต์สิบตำรวจโทวิศณุจับกุมไม่ได้ จ่าสิบตำรวจสมานและสิบตำรวจโทวิศณุนำจำเลยไปที่กองปราบปราม ทำบันทึกการจับกุมให้จำเลยลงชื่อ จำเลยไม่ยอมลงชื่อกลับให้การปฏิเสธ สิบตำรวจโทวิศณุจึงขีดฆ่าข้อความที่จำเลยให้การรับสารภาพออก ปรากฏตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 ชั้นสอบสวนจำเลยให้การว่า จำเลยจะไปโอนรถยนต์ซึ่งญาติของจำเลยซื้อต่อมาจากนายประสิทธิ์ แต่นายประสิทธิ์ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนจำเลยจึงติดต่อนายหน้าที่กรมการขนส่งทางบกจัดทำให้ในราคา 250 บาท ตามคำให้การจำเลยเอกสารหมาย จ.6 ศาลฎีกาเห็นว่า จ่าสิบตำรวจสมานและสิบตำรวจโทวิศณุ พยานโจทก์ทั้งสองต่างไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน และปฏิบัติการไปตามหน้าที่ จำเลยก็เบิกความรับว่าพยานโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จับกุมจำเลย แม้โจทก์จะไม่นำพันตำรวจโทชุมพล มั่นหมาย ผู้สั่งให้พยานโจทก์ทั้งสองสืบสวนจับกุมมาเป็นพยานสนับสนุนก็ไม่เป็นพิรุธว่าพยานโจทก์ทั้งสองจะแกล้งจับกุมจำเลยโดยไม่เห็นพฤติการณ์ในการกระทำผิดของจำเลย ถ้าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องวิ่งหลบหนีการจับกุม น่าจะให้ความร่วมมือกับพยานโจทก์ทั้งสองจับกุมชายคนนั้นด้วย เมื่อจับกุมจำเลยได้แล้วพยานโจทก์ทั้งสองก็นำจำเลยไปบันทึกการจับกุมที่กองปราบปราม เมื่อจำเลยกลับคำให้การสิบตำรวจโทวิศณุก็ขีดฆ่าข้อความที่จำเลยให้การรับสารภาพออก ชั้นสอบสวนโจทก์มีร้อยตำรวจโทเมธี บุญสร้อย พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยให้การว่าได้ว่าจ้างให้ผู้อื่นจัดทำเอกสารดังกล่าว ตามเอกสารหมาย จ.6 หากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะกลั่นแกล้งจำเลยแล้ว ก็ไม่น่าจะขีดฆ่าข้อความรับสารภาพในบันทึกการจับกุมออกและไม่น่าจะบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนว่าจำเลยไม่รู้ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นของปลอม การที่สิบตำรวจโทวิศณุขีดฆ่าข้อความรับสารภาพของจำเลยออกเพราะจำเลยกลับคำให้การก็ดี และการที่ร้อยตำรวจโทเมธีบันทึกคำให้การจำเลยว่าจำเลยไม่รู้ว่าเอกสารของกลางเป็นเอกสารปลอมก็ดี ชี้ให้เห็นว่าสิบตำรวจโทวิศณุและร้อยตำรวจโทเมธีได้บันทึกข้อความตามคำให้การจำเลยอย่างตรงไปตรงมา ที่จำเลยนำสืบว่าหลังจากจ่าสิบตำรวจสมานจับกุมจำเลยได้แล้วมอบให้สิบตำรวจโทวิศณุและสิบตำรวจโทวิศณุนำไปฝากนายสัมฤทธิ์ เอี่ยมเอิบ ยามรักษาการณ์ของกรมการขนส่งทางบกดูแลไว้โดยมิได้ใส่กุญแจมือ แล้วเข้าห้องน้ำนานถึง 10-15 นาที โดยจำเลยมิได้หลบหนีเพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิใช่ผู้กระทำผิดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยหาได้ถามค้านพยานโจทก์ทั้งสองในขณะที่เบิกความว่าเป็นดังที่จำเลยนำสืบหรือไม่ประกอบกับไม่น่าเชื่อว่า จ่าสิบตำรวจสมานหรือสิบตำรวจโทวิศณุซึ่งรู้อยู่แล้วว่าจำเลยเพิ่งวิ่งหลบหนีการจับกุม จะประมาทเลินเล่อถึงขนาดนั้น คดีนี้โจทก์มีพยานรู้เห็นในขณะที่จำเลยรับมอบเอกสารของกลางและส่งมอบเงินให้พวกของจำเลยที่หลบหนีไป คือ จ่าสิบตำรวจสมานและสิบตำรวจโทวิศณุมาเบิกความยืนยันต่อศาลพร้อมกับยึดเอกสารของกลางได้จากจำเลยด้วย ถ้าจำเลยเป็นเพียงแต่รับจ้างนายสนธิพยานจำเลยให้ไปตรวจสอบทะเบียนรถยนต์เท่านั้น ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมอบเอกสารของกลางให้จำเลยไปด้วย ที่จำเลยอ้างว่าเอกสารของกลางติดเป็นชุดอยู่กับสำเนาทะเบียนรถยนต์ที่จะไปตรวจสอบ ก็ไม่ปรากฏว่าขณะตรวจค้นและยึดเอกสารของกลางมานั้นมีสำเนาทะเบียนรถยนต์ติดอยู่แต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยร้องทุกข์ดำเนินคดีกับจ่าสิบตำรวจสมานข้อหาว่าทำร้ายร่างกายจำเลยนั้นก็ได้กระทำหลังจากจำเลยถูกจับกุมนานถึงเกือบ 1 เดือน จึงเป็นพิรุธ และขัดต่อเหตุผล ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ชัดปราศจากความสงสัยว่า จำเลยรับมอบเอกสารของกลางและจ่ายเงินให้ผู้นำมาส่งมอบ โดยจำเลยทราบดีว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมซึ่งแม้การที่จำเลยต้องจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนแก่ผู้นำมาส่งมอบ จะทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยมิได้มีส่วนร่วมในการปลอมเอกสารและรอยตราในเอกสารดังกล่าว แต่การกระทำของจำเลยเช่นนั้นย่อมถือได้ว่าเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำผิด อันเป็นความผิดในฐานเป็นผู้ใช้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 โจทก์ขอให้จำเลยรับผิดในฐานตัวการร่วมกระทำผิด จึงแตกต่างจากที่ปรากฏในทางพิจารณาในสาระสำคัญ ลงโทษจำเลยฐานผู้ใช้ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง แต่การกระทำของจำเลยยังถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำผิด จำเลยจึงมีความผิดในฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษได้…”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251,264 วรรคแรก ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 251 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 2 ปีคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ของกลางให้ริบ.

Share