คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2642/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การงดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 293 เป็นกรณีลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ฟ้องเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไว้เป็นคดีอีกเรื่องหนึ่งในคราวเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าหากศาลพิพากษาให้ฝ่ายลูกหนี้ชนะคดีก็ไม่ต้องมีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้โดยวิธีอื่นเพราะสามารถจะหักกลบลบกันได้ ส่วนการงดบังคับคดีตามมาตรา 292(2) นั้นเป็นดุลพินิจของศาลโดยมีเงื่อนไขเพียงว่า ศาลต้องใช้ดุลพินิจให้เหมาะสมแก่รูปคดี การที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้น และศาลพิพากษาให้โจทก์คืนข้าวเปลือกหรือใช้ราคาแก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ขอให้ศาลงดการบังคับคดี ศาลย่อมใช้ดุลพินิจงดการบังคับคดีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไว้ในระหว่างที่คดีจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ยังไม่ถึงที่สุดได้ เพราะหากคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ดังกล่าวถึงที่สุดและศาลพิพากษาให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็อาจจะขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์ได้ผลก็คือจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ กรณีจึงมีเหตุสมควรให้งดการบังคับคดีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไว้จนกว่าคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ ถึงที่สุดตามมาตรา 292(2).

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ คดีถึงที่สุด แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ศาลชั้นต้นให้ออกหมายบังคับคดีจำเลยทั้งสี่ตามคำขอของโจทก์
จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นฟ้องโจทก์เรียกเงิน 106,941,660 บาท เป็นคดีอีกเรื่องหนึ่งต่อศาลเดียวกันและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 ตามฟ้องคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ คดีดังกล่าวโจทก์เป็นหนี้จำเลยที่ 1 ถึง 100 ล้านบาทเศษ แต่คดีนี้จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เพียง 6 ล้านบาทเศษ หนี้ทั้งสองสามารถหักกลบลบกันได้ คดีนี้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เป็นเพียงผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 จะถูกบังคับคดีขึ้นอยู่กันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เพราะหนี้ของจำเลยทั้งสี่เป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ และเป็นหนี้ร่วม หากจำเลยคนหนึ่งชำระหนี้แล้ว จำเลยอื่นก็ไม่ต้องชำระหนี้นั้นอีก ขอให้ศาลงดการบังคับคดีจำเลยทั้งสี่ไว้ก่อนจนกว่าคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ถึงที่สุด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4ไว้ระหว่างที่คดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า การงดการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 และมาตรา 292(2)นั้น มีหลักเกณฑ์แตกต่างกัน การงดการบังคับคดี ตามมาตรา 293นั้น ต้องเป็นกรณีลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ฟ้องเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นอีกเรื่องหนึ่งในศาลเดียวกันนั้น โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าหากศาลพิพากษาให้ฝ่ายลูกหนี้ชนะคดีก็ไม่ต้องมีการขาดทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้โดยวิธีอื่นเพราะสามารถหักกลบลบกันได้ ส่วนการงดการบังคับคดีตามมาตรา 292(2) นั้นเป็นดุลพินิจของศาลโดยมีเงื่อนไขเพียงว่าศาลต้องใช้ดุลพินิจให้เหมาะสมแก่รูปคดี ตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดการบังคับคดีจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไว้นั้นได้ระบุว่าพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 769/2532 นั้น ศาลพิพากษาให้โจทก์คืนข้าวเปลือกหรือใช้ราคาเป็นเงิน 106,941,660 บาท แก่จำเลยที่ 1คดีนี้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะบังคับคดีจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ได้เพราะสิทธิในการหักกลบลบหนี้เป็นของจำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นสิทธิเฉพาะตัวก็ตามแต่การที่จำเลยที่ 1 สามารถหักกลบลบหนี้กับโจทก์ได้แล้ว จำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จึงมีเหตุสมควรที่ให้งดการบังคับคดีจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4ไว้ในระหว่างคดีจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ยังไม่ถึงที่สุด คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ศาลเห็นสมควรให้งดการบังคับคดีจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไว้ก่อน อันเป็นการใช้ดุลพินิจให้งดการบังคับคดีตามมาตรา 292(2) มิใช่เป็นการสั่งให้งดการบังคับคดีตามมาตรา 293 เพราะจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไม่ใช่เจ้าหนี้โจทก์ในคดีอื่น และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไม่เคยใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ในคดีอื่นมาขอหักกลบลบหนี้กับตนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 292 วรรคสอง การงดการบังคับคดีจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ตามมาตรา 292(2) ไม่น่าจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด เพราะแม้โจทก์จะสามารถบังคับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสี่คนใดคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมได้เต็มจำนวนหนี้โดยสิ้นเชิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 ก็ตาม แต่ถ้าหากจำเลยคนใดคนหนึ่งได้ชำระหนี้ให้โจทก์แล้วก็ดี หรือจำเลยคนหนึ่งมีสิทธิหักกลบลบหนี้กับโจทก์และได้ขอหักกลบลบหนี้กันแล้วก็ดี การชำระหนี้หรือหักกลบลบหนี้โดยจำเลยคนหนึ่งย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยอื่นด้วยตามมาตรา 292 ฉะนั้น หากคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ถึงที่สุดและศาลพิพากษาให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ก็อาจจะขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์ในคดีนี้ได้ ผลก็คือจำเลยที่ 2 ที่ 3ที่ 4 ไม่ต้องชำระให้แก่โจทก์ กรณีจึงมีเหตุสมควรให้งดการบังคับคดีจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไว้จนกว่าคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ดังกล่าวถึงที่สุดตามมาตรา 292(2)
พิพากษายืน.

Share