คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2593/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เนื่องจากการดำเนินกิจการโรงเรียนจำเลยที่ 2 รับโอนกิจการโรงเรียนดังกล่าวไปดำเนินการพร้อมทั้งหนี้สินของโรงเรียนและประกาศให้เจ้าหนี้ของกิจการไปขอรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 ถือเป็นการตกลงที่จำเลยที่ 2 ยอมรับชำระหนี้อันเนื่องมาจากกิจการที่รับโอน มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้อันเป็นบุคคลภายนอก เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมาขอรับชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 เป็นการแสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามสัญญาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันตามสัญญาในอันที่จะต้องชำระหนี้ให้โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของโรงเรียนเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ต่อมาโอนกิจการและหนี้สินให้จำเลยที่ 2เข้าดำเนินกิจการแทนจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 2 ประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์แจ้งเจ้าหนี้ของโรงเรียนให้ยื่นหลักฐานขอรับชำระหนี้โจทก์มอบอำนาจให้ทนายความโจทก์ยื่นหลักฐานขอรับชำระหนี้จำเลยที่ 2 รับหนังสือดังกล่าวแล้วเพิกเฉย ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 19,079.82 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า หนี้ที่โจทก์ฟ้องเป็นหนี้ส่วนตัวจำเลยที่ 1 ไม่ใช่หนี้ที่ก่อเพื่อกิจการของโรงเรียน ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่บรรยายให้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างไร ไม่มีกฎหมายบังคับให้จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 13,246.59 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2527 เป็นต้นไป จนกว่าชำระเสร็จสิ้นโดยคิดดอกเบี้ยทบต้นจากวันที่ 26 มิถุนายน 2527 จนถึงวันที่ 10กรกฎาคม 2527 หลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยไม่ทบต้น ยกฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ข้อกฎหมายว่า ฟ้องของโจทก์ส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เคลือบคลุม และที่ให้จำเลยที่ 2 รับผิดหนี้สินที่จำเลยที่ 1 เบิกเงินจากโจทก์ไป ระหว่างดำเนินกิจการโรงเรียนอยู่นั้นก็ไม่มีกฎหมายสนับสนุน เพราะไม่มีการโอนสิทธิเรียกร้องหรือแปลงหนี้ใหม่
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงยุติว่า จำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง เนื่องจากการดำเนินกิจการโรงเรียนภูเก็ตเทคโนโลยี จำเลยที่ 2 รับโอนกิจการโรงเรียนภูเก็ตเทคโนโลยีจากจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการรวมทั้งหนี้สินของโรงเรียนด้วย และจำเลยที่ 2 ได้ให้ทนายความประกาศให้เจ้าหนี้โรงเรียนภูเก็ตเทคโนโลยีไปขอรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 โจทก์ได้ขอรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 แล้ว แต่จำเลยที่ 2 ปฏิเสธ เห็นว่าการที่จำเลยที่ 2ตกลงรับโอนกิจการโรงเรียนภูเก็ตเทคโนโลยีจากจำเลยที่ 1 ไปพร้อมกับหนี้สินของโรงเรียน และแจ้งให้เจ้าหนี้ไปขอรับชำระหนี้นั้นเป็นการตกลงที่จำเลยที่ 2 ยอมรับชำระหนี้ของโรงเรียนที่เนื่องมาจากกิจการของโรงเรียนที่รับโอน มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้อันเป็นบุคคลนอกสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญากันด้วย ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกรวมอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1เนื่องจากกิจการของโรงเรียนที่จำเลยที่ 2 รับโอนมาตามสัญญาดังกล่าวได้ขอรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 เช่นนี้ กรณีก็เป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามสัญญาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันตามสัญญาในอันที่จะต้องชำระหนี้ให้โจทก์ตามบทบัญญัติมาตรา 374 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์…”
พิพากษายืน.

Share