แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงองค์ประกอบอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 การเพิ่มเติมเฉพาะบทมาตรา 200 ในคำขอท้ายฟ้อง จึงไม่มีผลทำให้ศาลลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวได้กรณีไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้องได้ จำเลยละเว้นไม่จับกุมผู้ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรแม้เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่จำเลยมิได้กระทำไปโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส.บอกจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจว่าโจทก์หยิบอาวุธปืนสั้นออกมาจากรถ การที่จำเลยตรวจค้นรถโจทก์จึงเป็นการกระทำโดยมีเหตุอันสมควรที่จะตรวจค้น มิใช่เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังและทำให้โจทก์ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อหาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ได้ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ขณะที่โจทก์ขับรถยนต์จะเข้าจอดในซอยบริเวณหน้าโรงแรมไทยโฮเต็ล อันเป็นทางสาธารณะที่เจ้าพนักงานกำหนดให้เป็นทางเดินรถทางเดียว ขณะเดียวกันนั้นมีหญิงคนหนึ่งขับรถยนต์ผิดกฎจราจรย้อนศรสวนทางเดินรถมาขวางหน้ารถยนต์ของโจทก์และให้สัญญาณให้โจทก์ขับรถหลีกทาง เมื่อโจทก์ไม่ยอม หญิงคนดังกล่าวได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6จับกุมโจทก์ เมื่อโจทก์ชี้แจงว่าไม่ได้กระทำความผิดแต่หญิงคนนั้นเป็นฝ่ายผิด จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบละเว้นไม่จับกุมหญิงคนดังกล่าว กลับแกล้งตรวจค้นรถยนต์โจทก์โดยไม่มีหมายค้นและไม่มีเหตุอันสมควร และจับกุมโจทก์แล้วควบคุมไปสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวหาว่ามีอาวุธปืน พาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ใช้อาวุธปืนขู่เข็ญให้ผู้อื่นตกใจกลัว ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นความเท็จทั้งสิ้น การหน่วงเหนี่ยวกักขังของจำเลย เป็นเหตุให้โจทก์ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ขณะที่โจทก์ถูกควบคุมอยู่บนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5และที่ 7 ได้ใช้ให้จำเลยที่ 6 ทำร้ายร่างกายโจทก์ โดยใช้มือตบชกต่อยที่ท้องบริเวณหน้าอก และจับศีรษะโจทก์กระแทกกับตู้เหล็กสำหรับเก็บเอกสาร เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายแก่กาย มีบาดแผลที่ศีรษะและนิ้วมือ ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5และที่ 7 รู้เห็นเป็นใจ มิได้ห้ามปรามจำเลยที่ 6 ในการทำร้ายร่างกายโจทก์ การกระทำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และจำเลยทั้งเจ็ดได้ร่วมกันนำโจทก์ไปคุมขังในห้องคุมขังของสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช โดยจำเลยทั้งเจ็ดทราบอยู่แล้วว่าโจทก์มิได้กระทำความผิด อันเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ได้ร่วมกันบันทึกข้อความลงในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีรับรองเป็นหลักฐานว่า โจทก์มีอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนเข้ามาในเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ และใช้อาวุธปืนข่มขู่ผู้อื่นให้ตกใจกลัว โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 รู้อยู่แล้วว่า ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,162, 295, 309, 310, 83, 84, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 162, 391 ประกอบด้วยมาตรา 83, 84, 91 จำเลยที่ 2ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157ประกอบด้วยมาตรา 83, 91 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 162 ประกอบด้วยมาตรา 83, 86, 91 จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 391 ประกอบด้วยมาตรา 83, 91การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 6 ตามมาตรา 157 และมาตรา 391และการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามมาตรา 157 และมาตรา 162เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งมีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำเลยทั้งเจ็ดเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ปราบปรามผู้กระทำความผิดกลับปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเสียเอง สมควรลงโทษสถานหนักเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการจับกุมนางสาวรพีพรรณ ทองสมัคร อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6คนละ 1 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานตรวจค้นโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควรอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3และที่ 6 คนละ 2 ปี ฐานทำร้ายโจทก์อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 6 คนละ 3 ปี ฐานไม่ห้ามปรามจำเลยที่ 6 อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 คนละ 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารเท็จอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 3 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 ฐานเป็นผู้สนับสนุน 2 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 7 ปี จำคุกจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 มีกำหนดคนละ 2 ปี และจำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 6 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 391 ประกอบด้วยมาตรา 84 จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 391 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 6 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งมีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 6 คนละ 3 ปี จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี สำหรับจำเลยที่ 7 ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นควรอนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้องตามคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องลงวันที่ 16พฤศจิกายน 2530 โดยเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 ในคำขอท้ายฟ้อง แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต และยกคำร้องตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 2 ธันวาคม 2530 คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำฟ้อง โจทก์มิได้บรรยายถึงองค์ประกอบอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200มาด้วย ดังนั้นการเพิ่มเติมเฉพาะบทมาตรา 200 ในคำขอท้ายฟ้อง จึงไม่มีผลทำให้ศาลลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวได้ กรณีไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้องได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์นั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า นางสาวรพีพรรณ ทองสมัคร ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรโดยขับรถย้อนศร จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6พบเห็นแล้ว ไม่ทำการจับกุม จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในข้อหานี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นการไม่ชอบนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การละเว้น ไม่ทำการจับกุม เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็จริง แต่จำเลยมิได้กระทำไปโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในข้อหานี้จึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า การตรวจค้นรถโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 3 และที่ 6 กระทำไปโดยมีเจตนากลั่นแกล้ง ไม่มีเหตุอันสมควรจะตรวจค้น การตรวจค้นจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในข้อหานี้เป็นการไม่ชอบนั้น ในข้อนี้จำเลยมีนางสาวสุภาพร ทองสมัคร มาเบิกความยืนยันว่า เห็นโจทก์หยิบอาวุธปืนสั้นออกมาจากรถโจทก์ นางสาวสุภาพรเห็นดังนั้นจึงบอกให้นางสาวรพีพรรณไปแจ้งตำรวจ เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3และที่ 6 มาดูที่เกิดเหตุ นางสาวสุภาพรก็แจ้งให้จำเลยดังกล่าวทราบ นอกจากนี้จำเลยก็ยังมีนางสาวรพีพรรณ ทองสมัคร และนางสาวสุนีย์ จิตราช ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุมาเบิกความสนับสนุนอีกด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งนางสาวสุนีย์ไม่เคยรู้จักโจทก์มาก่อน จึงไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่านางสาวสุนีย์จะแกล้งเบิกความปรักปรำโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางสาวสุภาพรได้บอกแก่จำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ว่าโจทก์หยิบอาวุธปืนสั้นออกมาจากรถโจทก์ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ตรวจค้นรถโจทก์จึงเป็นการกระทำโดยมีเหตุอันสมควรที่จะตรวจค้น มิใช่เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังและกระทำให้โจทก์ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าความผิดกระทงนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงเป็นกรณีที่ห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 13 และโดยที่มิได้มีการอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาได้ตามมาตรา 221 แต่อย่างใด ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
และวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า คดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ได้กระทำผิดตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย และศาลอุทธรณ์วางโทษเหมาะสมแล้ว
พิพากษายืน