คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2130/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจให้ ป. และ ท. ฟ้องคดีและกระทำการอย่างอื่นอีกหลายประการแทนโจทก์ เป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 7(ข) โจทก์ซึ่งเป็นผู้มอบอำนาจมีหน้าที่เสียอากรแสตมป์ฉบับละ 30 บาท โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจคนเดียวหรือหลายคน หนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ 30 บาท จึงครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 วรรคสองมิได้ห้ามผู้รับมอบอำนาจซึ่งเป็นทนายความอยู่แล้วตั้งตนเองเป็นทนายความดำเนินคดีนั้นอีก ที่ ท. และ ป. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ตั้ง ท. เป็นทนายความว่าคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานจำเลยปากหนึ่งไปถึง 4 นัดครั้งสุดท้ายจำเลยยื่นคำร้องระบุว่าหากไม่ได้ตัวพยานมาในนัดต่อไปจำเลยยอมให้ศาลตัดพยานได้ทันที ซึ่งทนายจำเลยก็แถลงรับไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาในวันเดียวกันนั้นว่า หากนัดหน้าพยานไม่มาศาลไม่ว่าด้วยเหตุใด จำเลยไม่ติดใจสืบ ศาลชั้นต้นก็ได้ให้โอกาสจำเลยเป็นครั้งสุดท้าย โดยเลื่อนการสืบพยานจำเลยไปถึงวันนัดจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีก อ้างว่าพยานติดคดีต้องเบิกความที่ศาลทั้งเช้า และบ่ายไม่อาจมาเบิกความที่ศาลในคดีนี้ได้ ดังนี้การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีโดยเห็นว่าจำเลยมีโอกาสนำตัวพยานมาสืบได้ จำเลยขอเลื่อนคดีมีลักษณะประวิงคดี จึงชอบแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์มอบอำนาจให้นายประสงค ภูวกุล และนายทรวงลี พึ่งธรรม ฟ้องและดำเนินคดีแทน จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดตรังและศาลแพ่ง นอกจากนี้ยังเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทนอีกขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวไม่น้อยกว่า 2 ครั้งซึ่งมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยได้รับหนังสือทวงถามดังกล่าวแล้ว โจทก์สืบหาหลักทรัพย์ของจำเลยและดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยขายทอดตลาดจนหมดสิ้นแล้วยังไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา จำเลย คงค้างชำระหนี้อยู่ประมาณ 36 ล้านบาท และเมื่อรวมหนี้ในคดีซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์อีก 152 ล้านบาทแล้วเป็นหนี้ที่จำเลยค้างชำระโจทก์ทั้งสิ้น 188 ล้านบาทเศษขณะนี้จำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะยึดมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวทั้งหมดได้ จำเลยเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า หนี้ตามฟ้องไม่เป็นหนี้ที่กำหนดได้แน่นอนโจทก์ได้ยึดทรัพย์สินของจำเลยและไม่ทราบว่ามีการขายแล้วหรือไม่ ไม่อาจรู้ได้แน่นอนว่ายังมีหนี้สินอีกเท่าไร จำเลยยังสามารถชำระหนี้ให้โจทก์ได้ จำเลยไม่ใช่บุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว หนี้ตามฟ้องเกิดขึ้นขณะที่จำเลยเป็นผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาจังหวัดตรัง จำเลยปล่อยหนี้ให้ลูกค้าของโจทก์กู้ตามระเบียบของธนาคารโจทก์ จึงเป็นหนี้ที่โจทก์กระทำขึ้นเอง จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่ซ้ำซ้อนกัน โจทก์นำมาเป็นเหตุฟ้องล้มละลายหลังจากมีคำพิพากษาแล้ว 10 ปี คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมีข้อความว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายประสงค์ ภูวกุล และนายทรวงลี พึ่งธรรม ฟ้องคดีและกระทำการอย่างอื่นอีกหลายประการแทนโจทก์ได้ จึงเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 7(ข) โจทก์ซึ่งเป็นผู้มอบอำนาจหน้าที่เสียอากรแสตมป์เพียงฉบับละ 30 บาทเท่านั้นโดยไม่คำนึงว่าโจทก์จะมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจคนเดียวหรือหลายคนกระทำการแทนโจทก์ เมื่อหนังสือมอบอำนาจโจทก์ปิดอากรแสตมป์30 บาท จึงครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว นายประสงค์ ภูวกุล และนายทรวงลีพึ่งธรรม มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
ประเด็นข้อที่สอง นายทรวงลี พึ่งธรรม ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ตั้งตนเองเป็นทนายความว่าคดีนี้ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 วรรคสอง บัญญัติว่า”ถ้าคู่ความหรือผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้แทนดังที่ได้กล่าวมาแล้วทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลใดเป็นผู้แทนตนในคดีผู้รับมอบอำนาจเช่นว่านั้นจะว่าความอย่างทนายความไม่ได้ แต่ย่อมตั้งทนายความเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาได้” ตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้ห้ามผู้รับมอบอำนาจซึ่งเป็นทนายความอยู่แล้วตั้งตนเองเป็นทนายความดำเนินคดีนี้อีก ที่นายทรวงลี พึ่งธรรม และนายประสงค์ ภูวกุล ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ตั้งนายทรวงเป็นทนายความว่าคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยยังมีนายธรรมนูญ นิรันดร ซึ่งเคยเป็นกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการของธนาคารโจทก์รู้เรื่องการประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระหนี้ 19 ล้านบาทเศษและหนี้สินยกเลิกกัน กับรู้ฐานะของจำเลยดีเป็นพยาน แต่ศาลชั้นต้นตัดพยานปากนี้ของจำเลยทำให้จำเลยเสียเปรียบทางคดีนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานจำเลยปากนี้ไปถึง 4 นัด ครั้งสุดท้ายจำเลยได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 4 กันยายน 2529 ระบุว่าปากไม่ได้ตัวพยานมาในนัดต่อไปจำเลยยอมให้ศาลตัดพยานได้ทันที โดยทนายจำเลยเองก็แถลงรับรองไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันเดียวกันนั้นว่าหากนัดหน้าพยานไม่มาศาลไม่ว่าด้วยเหตุใดจำเลยไม่ติดใจสืบ และการสืบพยานจำเลยไปในวันที่ 15 ตุลาคม 2529 ถึงวันนัดจำเลยก็ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีกอ้างว่าพยานติดคดีต้องเบิกความที่ศาลทั้งเช้าและบ่ายไม่อาจมาเบิกความที่ศาลในคดีนี้ได้ ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยมีโอกาสนำตัวพยานมาสืบได้ การที่จำเลยขอเลื่อนคดีจึงมีลักษณะเป็นการประวิงคดี และไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ศาลฎีกาเห็นว่าชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้จำเลยสืบพยานได้อีก
พิพากษายืน.

Share