แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ปัญหาว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกันซึ่งเมื่อฟ้องคดีต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 10(2) หรือไม่ เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยเพิ่งยกขึ้นมาเป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยได้ แม้เดิมโจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกันเพราะเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงเหนือใบหุ้น ซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลย แต่เมื่อโจทก์และจำเลยได้ตกลงแปลงหนี้ใหม่โดยทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหนี้มีประกันเดิมของโจทก์ย่อมระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตามผลของ ป.พ.พ. มาตรา 349 และเมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความมิได้ให้สิทธิโจทก์ยึดถือใบหุ้นไว้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันอีกต่อไป โจทก์จึงมิใช่เจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 6.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสองให้การว่า หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี และเป็นหนี้ที่โจทก์ไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาด
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประเด็นที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกันฟ้องคดีต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 10(2)หรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยคำแก้ฎีกาของโจทก์ที่ว่า ประเด็นข้อนี้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีไว้แต่ต้น ชอบที่ศาลฎีกาจะไม่พิจารณาให้เสียก่อน ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีล้มละลายและประเด็นดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกเป็นประเด็นต่อสู้ไว้แต่ศาลชั้นต้นเพิ่งยกขึ้นมาเป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ฎีกาก็ตาม ศาลฎีกามีอำนาจที่จะวินิจฉัยให้ได้ ซึ่งศาลฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยทั้งสองตามมูลหนี้เดิม แต่ได้ฟ้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เอกสารหมาย 5 ท้ายฟ้อง ฉะนั้น แม้ก่อนทำสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ได้ออกเงินชำระหนี้ค่าซื้อหุ้นในฐานะเป็นตัวแทนซื้อหุ้นให้จำเลยที่ 1 ในตลาดหลักทรัพย์ และโจทก์มีสิทธิยึดหน่วงใบหุ้นเหล่านั้นอันตกอยู่ในความครอบครองโจทก์ไว้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 819 จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาค้างชำระแก่ตนเพราะการเป็นตัวแทนการที่โจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงเหนือใบหุ้นซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลยตามกฎหมายว่าด้วยตัวแทนดังกล่าวแล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 6 ก็ตาม แต่ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ตกลงแปลงหนี้ใหม่เปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสารสำคัญแห่งหนี้ โดยทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย 5 ท้ายฟ้องโดยคู่กรณีในการแปลงหนี้ใหม่มิได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่นเช่นนี้หนี้มีประกันเดิมของโจทก์ย่อมระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตามผลของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย 5 ท้ายฟ้อง ก็มิได้ให้สิทธิโจทก์ยึดถือใบหุ้นของจำเลยที่ 1 ไว้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันอีกต่อไป หากแต่จำเลยทั้งสองได้ตกลงให้โจทก์มีสิทธิขายใบหุ้นของจำเลยนั้นชำระหนี้โจทก์ได้ ซึ่งใบหุ้นบางส่วนโจทก์ก็ได้ขายหักชำระหนี้โจทก์แล้วคงเหลือเพียงบางส่วนคือใบหุ้นของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด เท่านั้นที่โจทก์ไม่สามารถจะขายได้ เพราะไม่มีราคา หนี้ของจำเลยทั้งสองตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย 5 ท้ายฟ้องที่มีอยู่ต่อโจทก์จึงหาใช่หนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 6 ไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์จึงไม่ต้องกล่าวในฟ้องตามที่ระบุไว้ในมาตรา 10(2)แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483…”
พิพากษายืน.