คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1586/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากร จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมินตาม ป.รัษฎากรด้วย ได้ประเมินราคาสินค้าเพิ่มจากที่โจทก์ได้สำแดงไว้ ทำให้โจทก์ต้องชำระค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มขึ้นเมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งการประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 18 วรรคหนึ่ง,30 ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องเกี่ยวกับค่าภาษีการค้าและค่าภาษีบำรุงเทศบาลที่เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมิน สินค้าที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรกำเนิดในประเทศนอร์เวย์มิได้กำเนิดในประเทศสวีเดน โจทก์ได้สำแดงราคา เครื่องหมายการค้าและประเทศกำเนิดสินค้าตามใบขนส่งสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าตรงตามที่ปรากฏในใบอินวอยซ์ อันเป็นราคาแท้จริงที่ซื้อขายกันการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาค่าสินค้าและแจ้งให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรเพิ่มโดยเทียบราคาจากสินค้าที่กำเนิดในประเทศสวีเดนจึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบเพราะมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของจำนวนภาษีการค้าที่ขาดอยู่นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จโดยไม่จำกัดจำนวนไว้มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องการชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับตาม มาตรา 89 เป็นการไม่ชอบด้วยป.รัษฎากร มาตรา 89 ทวิ วรรคสี่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อกระดาษอาร์ตเคลือบเครื่องหมายการค้า”เบนสัน” ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในประเทศนอร์เวย์เข้ามาในราชอาณาจักรไทยจากบริษัทสแคปเปกซ์ จำกัด ประเทศสวีเดน โจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเพื่อชำระค่าภาษีอากร พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจสอบแล้วพอใจราคาตามที่โจทก์สำแดง และจำนวนค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้าภาษีบำรุงเทศบาล รวม 1,178,542.82 บาท ที่ขอชำระ โจทก์ได้ชำระค่าภาษีอากรแล้วไปขอรับการตรวจปล่อยแต่พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจปล่อยของจำเลยอ้างว่าโจทก์สำแดงประเทศกำเนิดของสินค้าและเครื่องหมายการค้าเป็นเท็จมีความผิดตามมาตรา 27, 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 จึงไม่ยอมปล่อยสินค้าแก่โจทก์โจทก์จำเป็นต้องนำของออกเพื่อส่งให้ลูกค้าจึงนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด มาวางประกันไว้จำนวน 801,800 บาทตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาสินค้าเพิ่มต่อมาวันที่ 27 มีนาคม 2528 จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ไปตกลงระงับคดีโดยจะให้โจทก์เสียค่าปรับ 425,009.78 บาท และชำระค่าอากรขาเข้าที่ขาด 212,504.89 บาท ค่าภาษีการค้า 50,178.20 บาท กับให้ชำระเบี้ยปรับ 1 เท่าของภาษีการค้าที่ขาด โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงได้อุทธรณ์โต้แย้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2528 จำเลยได้แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบโดยยืนตามคำสั่งเดิม โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงไม่ยอมปฏิบัติ จำเลยส่งเรื่องไปที่กองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากร เพื่อดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ฐานหลีกเลี่ยงอากร ผลการสอบสวนพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง สินค้าตามฟ้องกำเนิดในประเทศนอร์เวย์โจทก์สำแดงราคาในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าไว้ถูกต้องตามราคาอันแท้จริงในท้องตลาดการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยอ้างว่าสินค้าตามฟ้องของโจทก์กำเนิดในประเทศสวีเดน และประเมินราคาสูงขึ้นเป็นการไม่ถูกต้อง ขอให้ศาลพิพากษาว่าการกล่าวหาและประเมินราคาสินค้าให้โจทก์ชำระเงินตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 และคำสั่งยกอุทธรณ์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 ไม่ชอบกับให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ฉบับลงวันที่ 4 มกราคม2528 แก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2527โจทก์ได้นำกระดาษอาร์ตเคลือบ 114 ม้วน น้ำหนัก 103,160 กิโลกรัมเข้ามาในราชอาณาจักรโดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าสำแดงรายการว่า เป็นสินค้าผลิตในประเทศนอร์เวย์เครื่องหมายการค้า “เบนสัน” ราคาของ 1,708,033.38 บาทอากรขาเข้า 939,418.37 บาท ภาษีการค้า 217,385.86 บาท ภาษีบำรุงเทศบาล 21,738.59 บาท รวม 1,178,542.82 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยพอใจราคาจึงรับชำระค่าภาษีอากรไว้ แต่พนักงานเจ้าหน้าที่กองตรวจสินค้าขาเข้าตรวจพบว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้ามีแหล่งกำเนิดในประเทศสวีเดน และมีเครื่องหมายการค้ามงกุฎครอบตัว “H” ซึ่งมีราคาอันแท้จริงในท้องตลาด 750 เหรียญสหรัฐต่อตัน การสำแดงเท็จของโจทก์ดังกล่าว ทำให้ราคาสินค้าขาดไป386,372.52 บาท ค่าอากรขาดไป 212,504.89 บาท ค่าภาษีการค้าขาดไป 50,178.20 บาท ค่าภาษีบำรุงเทศบาลขาดไป 5,017.82 บาทพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงสั่งให้โจทก์วางประกันก่อนตรวจปล่อยโจทก์ได้นำหนังสือของธนาคารกรุงเทพ จำกัด มาวางค้ำประกันจำนวนเงิน 801,800 บาท และรับของไปเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2528ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ไปทำความตกลงระงับคดี โดยเสียค่าปรับและชำระค่าภาษีอากรที่ขาด 212,504.89 บาทค่าภาษีการค้า 50,178.20 บาท และชำระเบี้ยปรับ 1 เท่าของภาษีการค้า โจทก์ได้อุทธรณ์โต้แย้ง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ยกอุทธรณ์ จำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ 3 มิถุนายน 2528 แจ้งให้โจทก์ชำระภาษีการค้า 50,178.20 บาท พร้อมค่าปรับ 1 เท่า โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2528 แต่นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2531 จึงเกิน 30 วัน คดีเกี่ยวกับภาษีการค้าและเบี้ยปรับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากรมาตรา 30 โจทก์มิได้นำเงินค่าภาษีอากรไปชำระให้แก่จำเลยภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของอากรที่ต้องเสียเพิ่ม ตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรี เป็นเงิน 42,500.98 บาท และต้องเสียเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามมาตรา 112 จัตวา อัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของอากรที่ต้องชำระนับแต่วันตรวจปล่อยของคือวันที่ 10 มกราคม2528 จนถึงวันฟ้อง รวม 47 เดือน เดือนละ 2,125.05 บาท คิดเป็นเงิน99,877.35 บาท โจทก์จะต้องชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรมาตรา 89 ทวิ อัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน เดือนละ 752.67 บาทนับแต่เมื่อพ้น 15 วันถัดจากเดือนภาษีคือ วันที่ 16 มกราคม 2528ถึงวันฟ้องรวม 47 เดือน เป็นเงิน 35,375.49 บาท และต้องชำระเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้าเป็นเงิน 3,537.55 บาท รวมค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มที่โจทก์จะต้องชำระเป็นเงิน 448,992.28 บาท ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มรวม 448,992.28 บาทแก่จำเลยกับให้โจทก์ชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าอากรที่ค้างชำระ เป็นเงินเดือนละ 2,125.05 บาท เงินเพิ่มภาษีการค้าร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของค่าภาษีการค้าที่ค้างชำระ เป็นเงินเดือนละ752.67 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ และเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้า
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ราคาสินค้าตันละ 750 เหรียญสหรัฐที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดเป็นเกณฑ์ประเมินนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดขึ้นเองมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด โจทก์ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและสำแดงราคาเพื่อเสียภาษีตามราคาที่โจทก์ซื้อมาโดยแท้จริง เอกสารท้ายคำให้การของจำเลยหมายเลข 1 และเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์หมายเลข 6 เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำขึ้นเพื่อเรียกค่าปรับ มิใช่เป็นการประเมินภาษีและออกแบบแจ้งการประเมินภาษี โจทก์มิได้แสดงเครื่องหมายการค้าและประเทศกำเนิดสินค้าเป็นเท็จอันเป็นเหตุให้ราคาสินค้าขาดไปขอให้พิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยเฉพาะที่เกี่ยวกับอากรขาเข้า โดยให้เป็นไปตามที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2 ประกอบกับบัญชีราคาสินค้า เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 4 ส่วนที่โจทก์ฟ้องให้เพิกถอนการประเมินเกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล ให้ยกฟ้องที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัดนั้น เนื่องจากโจทก์จะต้องชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลให้แก่จำเลยโดยมีหนังสือค้ำประกันดังกล่าวประกันไว้ จึงไม่คืนให้ให้โจทก์ชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่ยังขาดให้แก่จำเลยพร้อมทั้งเงินเพิ่มภาษีการค้าจากจำนวนภาษีการค้าที่ขาดอยู่ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จพร้อมทั้งชำระภาษีบำรุงเทศบาลและเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของภาษีการค้าที่จะต้องชำระแก่จำเลยดังกล่าวมาแล้ว
โจทก์ จำเลย อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับค่าภาษีการค้าและค่าภาษีบำรุงเทศบาลหรือไม่ เห็นว่า นายอภิรัฐ ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายคดี 1 ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนาจการกองคดีซึ่งเป็นข้าราชการตั้งแต่ชั้นโทขึ้นไป สังกัดราชการบริหารส่วนกลางกรมศุลกากร จึงเป็นเจ้าพนักงานประเมินตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 2) เรื่องประกาศยกเลิกและแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลกฎหมายรัษฎากร ฉบับลงวันที่25 ตุลาคม 2513 เมื่อนายอภิรัฐได้มีหนังสือตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 หรือเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 33 แจ้งจำนวนค่าภาษีอากรที่จะต้องชำระเพิ่มไปยังโจทก์ผู้ต้องเสียภาษีอากรให้นำเงินมาชำระจึงเป็นการที่เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร ในกรณีนี้ผู้ต้องเสียภาษีอากรจะอุทธรณ์การประเมินก็ได้ตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 18 วรรคหนึ่งบัญญัติไว้ โดยจะต้องอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินต่อเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้วผู้ต้องเสียภาษีอากรจึงจะมีสิทธิ์อุทธรณ์ต่อศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ผู้ต้องเสียภาษีอากรมิได้อุทธรณ์การประเมินในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินโจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องเกี่ยวกับค่าภาษีการค้าและค่าภาษีบำรุงเทศบาลที่เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมินไปนั้นตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 30 บัญญัติไว้…
ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลย มีว่าการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรของที่นำเข้าเพิ่มเป็นการชอบหรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าของที่โจทก์นำเข้ากำเนิดในประเทศใดและมีราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเท่าใด…พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า สินค้าดังกล่าวกำเนิดในประเทศนอร์เวย์ และมีราคาซื้อขายกันโดยแท้จริงตามราคาในใบอินวอยซ์… ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้ากำเนิดในประเทศนอร์เวย์มิได้กำเนิดในประเทศสวีเดน ดังนั้นราคาสินค้าและค่าภาษีอากรที่โจทก์สำแดงและชำระไว้จึงถูกต้องตามกฎหมายแล้ว การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาค่าสินค้าและแจ้งให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรเพิ่มโดยเทียบราคาจากสินค้าที่กำเนิดในประเทศสวีเดนจึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบเพราะมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด… แต่ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ของจำนวนภาษีการค้าที่ขาดอยู่นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จโดยไม่จำกัดจำนวนไว้มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับตามมาตรา 89 นั้น เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา89 ทวิ วรรคสี่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงินเพิ่มภาษีการค้า อัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของจำนวนภาษีการค้าที่ขาดนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแต่มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับตามมาตรา 89 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง.

Share