แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โกดังเก็บสินค้าของจำเลยที่เก็บรักษาทรัพย์สินที่รับฝาก มีผนังเป็นคอนกรีต หลังคาโครงเหล็กมุงสังกะสี สถานที่เก็บรักษาทรัพย์สินที่รับฝากในลักษณะอย่างนี้มีสภาพเหมาะสมกับการเก็บรักษาสินค้าที่รับฝากโดยมีบำเหน็จแล้ว ส่วนการดูแลรักษาทรัพย์สินที่รับฝากนั้นจำเลยมีเครื่องดับเพลิงที่ใช้น้ำยาเคมี ขนาดสูง 2 ฟุต ประมาณ10 เครื่อง แม้จำเลยมิได้จัดให้มีสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ก็ตามแต่จำเลยก็มีพนักงานเฝ้าดูแลโกดังทั้งกลางวันกลางคืน เช่นนี้ ถือได้ว่า จำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดั่งนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 659 วรรคสอง แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทำกิจการรับฝากสินค้าจากบริษัทต่าง ๆหลายแห่ง และทำมานานสิบกว่าปีแล้ว จำเลยจึงเป็นผู้รับฝากที่เป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดจึงต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรต้องใช้ในกิจการเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 659 วรรคสาม นั้นข้อเท็จจริงดังกล่าวโจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยกระดาษหนังสือพิมพ์จำนวน420 ม้วน ของบริษัท ท.ศรีวนาสณฑ์ จำกัด จำนวนเงินเอาประกัน2,000,000 บาท ทรัพย์สินดังกล่าวจำเลยที่ 1 รับฝากไว้โดยมีบำเหน็จจากบริษัทดังกล่าว ต่อมาในระหว่างอายุสัญญาประกันภัยเกิดเพลิงไหม้โกดังรับฝากของของจำเลยที่ 1 ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 ที่ไม่จัดให้มีระบบป้องกันเพลิงไหม้หรือสัญญาณเตือนภัย และไม่มีคนคอยดูแลในเวลากลางคืนทำให้บริษัทท.ศรีวนาสณฑ์ จำกัด เสียหายเป็นเงิน 1,720,992 บาท โจทก์ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัทท.ศรีวนาสณฑ์ แล้วรับช่วงสิทธิจากบริษัทดังกล่าวมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีคิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินทั้งสิ้น1,754,252 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับฝากทรัพย์ไว้จากบริษัทท.ศรีวนาสณฑ์ จำกัด โดยมีบำเหน็จ แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 1 รับฝากทรัพย์ก็ไม่ใช่ปกติธุรกิจและอยู่ในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากดังเช่นวิญญูชนจะพึงปฏิบัติและสงวนทรัพย์สินของตนเอง โดยจัดให้มีอุปกรณ์ดับเพลิงไว้หลายเครื่อง และมีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยตรวจตราดูแลทรัพย์สินอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืนเหตุเพลิงไหม้มิใช่เพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 บริษัทท.ศรีวนาสณฑ์ได้รับความเสียหายไม่ถึง 100,000 บาท โจทก์จ่ายค่าเสียหายเกินความจริงไปโดยประมาท จึงไม่มีสิทธิที่จะรับช่วงสิทธิของบริษัทดังกล่าวมาเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาโดยโจทก์มิได้ฎีกาโต้เถียงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์รับประกันภัยสต๊อกสินค้าประเภทกระดาษจากบริษัท ท.ศรีวนาสณฑ์จำกัด รวมทั้งสินค้าอื่น ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทดังกล่าวซึ่งฝากไว้ที่โกดังสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยรับประกันภัยตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2527 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2527 ในวงเงินจำนวน2,000,000 บาท จำเลยที่ 1 รับฝากสินค้าดังกล่าวไว้จากบริษัทท.ศรีวนาสณฑ์ จำกัด โดยมีบำเหน็จเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2527 เกิดเพลิงไหม้โกดังเก็บสินค้าของจำเลยที่ 1 ที่เก็บรักษาทรัพย์สินของบริษัทท.ศรีวนาสณฑ์ จำกัด โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท ท.ศรีวนาสณฑ์ จำกัด ไปแล้วเป็นเงิน1,720,992 บาท โกดังเก็บสินค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ผนังเป็นคอนกรีต หลังคาโครงเหล็กมุงด้วยสังกะสี ไม่มีสัญญาณเตือนภัยเมื่อเกิดเพลิงไหม้ แต่มีเครื่องดับเพลิงที่ใช้นำยาเคมีขนาดสูง 2 ฟุตประมาณ 10 เครื่อง และมีพนักงานของจำเลยที่ 1 เฝ้าดูแลโกดังทั้งกลางวันและกลางคืน คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่าเหตุเพลิงไหม้เป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ผู้รับฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว โกดังเก็บสินค้าของจำเลยที่ 1 ที่เก็บรักษาทรัพย์สินที่รับฝากนั้น เป็นผนังคอนกรีต หลังคาโครงเหล็กมุงด้วยสังกะสี สถานที่เก็บรักษาทรัพย์ที่รับฝากในลักษณะอย่างนี้ มีสภาพเหมาะสมกับการเก็บรักษาสินค้าที่รับฝากโดยมีบำเหน็จแล้ว ส่วนในการดูแลรักษาทรัพย์ที่รับฝากนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1มีเครื่องดับเพลิงที่ใช้นำยาเคมีขนาดสูง 2 ฟุต ประมาณ 10 เครื่องและมีพนักงานเฝ้าดูแลโกดังทั้งกลางวันและกลางคืน นับว่าจำเลยที่ 1ได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินที่รับฝากเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดั่งนั้นแล้ว โจทก์ฟ้องอ้างว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่ทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้เห็นว่า เหตุเพลิงไหม้ในกรณีนี้ เกิดจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำที่จะดูแลรักษาทรัพย์สินที่รับฝากของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด กลับปรากฏตามรายงานเบื้องต้นที่บริษัทยูไนเต็ดเซอเวย์เยอร์สแอนด์ แอ๊ดจัสเตอร์ส จำกัด ทำขึ้นตามเอกสารหมาย จ.17 ว่า เพลิงไหม้โดยไม่ทราบสาเหตุ อันมิใช่กรณีที่จะถือว่าเหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย ข้อที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 มิได้จัดให้มีสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ จึงถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อทำให้เหตุเกิดขึ้นนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 1 มีพนักงานเฝ้าดูแลโกดังที่เก็บรักษาทรัพย์ที่รับฝากทั้งกลางวันและกลางคืน เช่นนี้ นับว่าจำเลยที่ 1 จัดให้มีคนเฝ้าดูแลเป็นการป้องกันและคอยแจ้งเหตุอยู่แล้วจึงมิใช่เป็นการละเลยหน้าที่ในการดูแลรักษาทรัพย์อย่างวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดั่งนั้น และไม่อาจถือว่าเป็นการประมาทเลินเล่อในการดูแลรักษาทรัพย์ที่รับฝากเมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่า เหตุเพลิงไหม้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ตามที่อ้างในคำฟ้อง ทั้งตามคำเบิกความของพันตำรวจโทนพรัตน์ วีระกุล พนักงานสอบสวนกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ก็ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิดขึ้น จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นตามที่โจทก์ฟ้อง และโจทก์ผู้รับประกันภัยย่อมไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัท ท.ศรีวนาสณฑ์ จำกัด ผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสองได้ ส่วนที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1ทำกิจการรับฝากสินค้าโดยเฉพาะ มีโกดังสินค้าขนาดใหญ่ 5 หลังรับฝากสินค้าจากบริษัทต่าง ๆ หลายแห่ง และทำมานานสิบกว่าปีแล้วจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้รับฝากที่เป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด ต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรต้องใช้ในกิจการเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 659 วรรคสามนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวโจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว ในศาลชั้นต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน