คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1045/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถแทรกเตอร์กับโจทก์ แล้วผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่เป็นคู่สัญญาเช่าซื้อตามฟ้องกับโจทก์ จำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญาด้วย เช่นนี้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อตามฟ้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจอยู่ในสังกัดและบังคับบัญชาของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2525 จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถแทรกเตอร์โจทก์แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อเกินกว่า 2 งวด โจทก์บอกเลิกสัญญาและยึดรถแทรกเตอร์คืนจากนายวินัย ขำภาษี ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นผู้ร่วมกับจำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถแทรกเตอร์ดังกล่าว ได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ยึดรถแทรกเตอร์ จำเลยที่ 3 ในฐานะพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ได้ยึดรถแทรกเตอร์ไปเก็บรักษาไว้โจทก์ได้แสดงหลักฐานขอรถแทรกเตอร์คืน จำเลยที่ 3 ไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ กลับมอบรถแทรกเตอร์คืนให้แก่นายวินัยไปโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบ รถแทรกเตอร์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้คืนให้แก่โจทก์ หากไม่อาจคืนได้ให้ใช้เงินจำนวน 350,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายวันละ 1,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถหรือใช้เงินให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญาเช่าซื้อหรือทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว รถพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โจทก์มีหน้าที่ต้องจัดการโอนรถให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าซื้อตั้งแต่วันชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายในวันที่ 19 เมษายน 2521 แต่ในวันที่ 24 เดือนเดียวกัน โจทก์ได้ยึดรถพิพาทไปจากลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2จึงได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ยึดรถพิพาทไว้ ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์จดทะเบียนโอนรถพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย 120,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 เมษายน 2522 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระค่าเช่าซื้ออีก 4 งวดรวมเป็นเงิน 140,000 บาท สัญญาเช่าซื้อจึงสิ้นสุดลงโจทก์มีสิทธิยึดรถพิพาทได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1ไม่เสียหายและไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เคลือบคลุมและขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2เพราะจำเลยที่ 2 มิได้ผิดสัญญาเช่าซื้อหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้แจ้งและยืนยันให้จำเลยที่ 3 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอตะพานหิน ยึดรถพิพาท จำเลยที่ 3 เห็นว่าเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง จึงได้ลงบันทึกประจำวันและรักษารถพิพาทไว้เพื่อให้คู่กรณีไปตกลงกันต่อไป ต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2526 จำเลยที่ 3 ตรวจพบว่ารถพิพาทไม่ได้จดทะเบียนเสียภาษี จึงแจ้งข้อหาแก่นายวินัยผู้ขับขี่และครอบครองรถพิพาทฐานใช้รถพิพาทโดยไม่จดทะเบียนและเสียภาษีตามพระราชบัญญัติรถยนต์และยึดรถพิพาทไว้ต่อมาพนักงานอัยการได้ฟ้องนายวินัยต่อศาลเพื่อให้ศาลพิพากษาลงโทษแล้ว และพนักงานอัยการได้มีหนังสือถึงหัวหน้าพนักงานสอบสวนให้จัดการรถพิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85จำเลยที่ 3 จึงได้คืนรถพิพาทให้แก่นายวินัยไปแล้ว อันเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ มิได้จงใจทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์เรียกค่าขาดประโยชน์เกินความจริง เพราะรถพิพาทอาจให้เช่าได้ค่าเช่าไม่เกินวันละ 500 บาทฟ้องโจทก์เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1ในข้อหาละเมิดให้โจทก์ดำเนินการโอนทะเบียนรถแทรกเตอร์ยี่ห้อยูตานีโปรเคน (รถขุด) ทีซี 600 หมายเลขเครื่อง ดี.เอส.7-29886ตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันส่งมอบรถแทรกเตอร์ตามฟ้องในสภาพเรียบร้อยใช้การได้แก่โจทก์หากไม่อาจส่งมอบได้ให้ร่วมกันใช้เงิน 350,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 15,000บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะได้ส่งมอบรถคืนหรือชำระเงินจำนวน 350,000บาท แก่โจทก์เสร็จ ให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับกันฟังได้ว่า จำเลยที่ 1เช่าซื้อรถแทรกเตอร์ตามฟ้องไปจากโจทก์ ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายเดือน เดือนละ 35,000 บาท รวม 8 งวดจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อไปแล้วรวม 6 งวด คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1และที่ 2 เฉพาะข้อหาตามสัญญาเช่าซื้อว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 7 และที่ 8 ให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ ส่วนข้อหาละเมิดยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้ยกฟ้อง และศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 7 และที่ 8 ให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้แต่จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่เป็นคู่สัญญาเช่าซื้อตามฟ้องกับโจทก์ จำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญาด้วยเช่นนี้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อตามฟ้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาและปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share