คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 949/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อนำเครื่องหมายการค้าซึ่งปรากฏที่ฉลากกล่องกระดาษสำหรับใส่ขวดน้ำมันทาถูนวดของจำเลยเปรียบเทียบกับของโจทก์ปรากฏว่ากล่องของจำเลยมีขนาดเท่ากับกล่องของโจทก์ทั้งหกด้านรูปร่างของกล่องตลอดจนฝากล่องก็เหมือนกัน สีสรรและลวดลายของภาพต่าง ๆ บนกล่องมีลักษณะคล้ายกันและอยู่ในตำแหน่งเดียวกันขนาดของภาพและตัวอักษรที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกันก็เท่ากันนอกจากนี้ด้านหน้าของกล่องมีตัวอักษรที่เด่นชัดเหมือนกันคือคำว่า “น้ำมัน” แม้จะมีตัวอักษรที่ต่างกันคือ ของโจทก์ใช้คำว่า”น้ำมันมวย” ของจำเลยใช้คำว่า “น้ำมันกีฬา” แต่ตัวหนังสือดังกล่าวต่างก็เป็นตัวสีขาวและอยู่ในพื้นสีน้ำเงินเหมือนกัน โดยเฉพาะกล่องของจำเลยอยู่ในกรอบแบบเดียวกันและมีขนาดเท่ากับกล่องของโจทก์ด้วย สำหรับด้านหลังของกล่องซึ่งมีอักษรโรมัน แม้จะมีคำต่างกันกล่าวคือ ของโจทก์ใช้คำว่า “BOXINGLINIMENT”ของจำเลยใช้คำว่า “SPORTSOIL” แต่คำทั้งสองเป็นตัวสีขาวและอยู่ในกรอบสีน้ำเงินแบบเดียวกันและมีขนาดเท่ากัน สีและลวดลายอื่น ๆ ของกล่องมีลักษณะคล้ายกันและมีขนาดเท่ากัน สำหรับผู้ที่อ่านอักษรโรมันไม่ได้ หากได้เห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยดังกล่าวก็น่าจะไม่สามารถสังเกตเห็นข้อแตกต่างของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้เลย ส่วนที่ฝากล่องกระดาษของโจทก์ด้านบนมีรูปดอกไม้และมีอักษรภาษาไทยคำว่า “ดอกไม้”แต่ที่ฝากล่องของจำเลยด้านบนมีรูปสิงห์ 5 ตัว เหยียบอยู่บนลูกโลกและมีอักษรภาษาไทยคำว่า “ตราหน้าสิงห์เหยียบโลก” นั้น ก็มีลักษณะเล็กมาก มองในระยะห่าง 1 เมตร จะอ่านตัวอักษรดังกล่าวของทั้งโจทก์และจำเลยไม่ออก อย่างไรก็ตาม รูปและอักษรดังกล่าวอยู่ในรูปวงกลมล้อมรอบ 3 ชั้นเหมือนกัน โดยเฉพาะวงกลมชั้นนอกเป็นวงกลมที่มีรอยหยักในลักษณะเหมือนกัน และภาพนักมวยกำลังชกต่อยกันบนกล่องของโจทก์ซึ่งของจำเลยไม่มีก็เป็นเพียงภาพเงาและไม่เด่นชัด ไม่ทำให้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยต่างกัน เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์จดทะเบียนในประเทศไว้ตั้งแต่พ.ศ. 2498 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะเริ่มดำเนินกิจการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยเมื่อ พ.ศ. 2527 ถึง 30 ปี จึงเป็นการที่จำเลยมีเจตนาผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าที่เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์อันเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ การโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าให้แก่กันจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนการโอนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474และต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม พ.ศ. 2474(ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2474 ข้อ 12 ซึ่งบังคับว่าต้องใช้แบบ ค.ม.8ก. เมื่อปรากฏว่าเอกสารที่จำเลยอ้างว่าโจทก์โอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทให้ ท.ไม่มีลักษณะเป็นการโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้า และข้อความในเอกสารดังกล่าวก็มิได้ระบุว่าเป็นการโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทให้ ท.แต่ระบุว่าโจทก์ให้ ท.เป็นผู้ถือสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไว้แทนโจทก์ โจทก์จึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทตลอดมาและมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้เต็มจำนวนนับแต่วันที่จำเลยทำละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์จำเลยต่างจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์เป็นเจ้าของผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้า “น้ำมันมวย” รวมทั้งฉลาก กล่อง ลวดลาย และรูปรอยประดิษฐ์ที่ปรากฏอยู่บนกล่องดังกล่าว ปรากฏตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 6โดยโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2498 ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 25382 ทะเบียนเลขที่ 17175 ใช้สำหรับสินค้าจำพวก 3 ที่ระบุไว้คือ น้ำมันสำหรับใช้ทาถูนวดแก้ปวดเมื่อยและเหน็บชา จำเลยได้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันสำหรับทาถูนวดแก้ปวดเมื่อยใช้ชื่อว่า “น้ำมันกีฬา” เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยลักษณะของกล่องสินค้า และฉลากสินค้าคล้ายของโจทก์ กล่าวคือจำเลยใช้รูปลักษณะของกล่องสินค้าและฉลากสินค้า การวางตัวอักษรลักษณะของตัวอักษร สีของกล่องสินค้าและฉลากสินค้า และสีของตัวอักษรบนกล่องสินค้าและฉลากสินค้าซึ่งติดกับขวดสินค้าของจำเลยคล้ายคลึงกับฉลากสินค้าของโจทก์ ปรากฏตามฉลากกล่องสินค้าของจำเลยตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 7 โจทก์แจ้งให้จำเลยเลิกผลิตและเลิกใช้ฉลากกล่องสินค้าและฉลากสินค้าของจำเลยซึ่งคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หลายครั้ง จำเลยได้เปลี่ยนแปลงฉลากกล่องสินค้าของจำเลยใหม่ ปรากฏตามฉลากกล่องสินค้าของจำเลยท้ายคำฟ้องหมายเลข 8 แต่ก็ยังคงคล้ายกับฉลากกล่องสินค้า”น้ำมันมวย” ของโจทก์ และจำเลยยังคงจำหน่ายสินค้า “น้ำมันกีฬา”ของจำเลยที่บรรจุในกล่องสินค้าทั้งรูปแบบเก่าและรูปแบบใหม่เรื่อยมา ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์อันเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการจำหน่ายสินค้าเดือนละไม่น้อยกว่า10,000 บาท คิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 300,000 บาท ขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยเลิกผลิตและใช้เครื่องหมายการค้าที่มีฉลากกล่องสินค้า “น้ำมันกีฬา” ทั้งสองรูปแบบรวมทั้งฉลากสินค้าซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าและฉลากสินค้าของโจทก์ ห้ามจำเลยจำหน่ายสินค้าตามเครื่องหมายการค้าเลียนแบบนี้ต่อไปให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือนเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่าระหว่างวันที่ 8 มิถุนายน 2527 จนถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2527โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าเลขที่ 17175 และไม่ได้เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้า “น้ำมันมวย” โจทก์ไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์เพิ่งได้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2527 อย่างไรก็ดีเมื่อเดือนมิถุนายน 2527 นายทองทศ อินทรทัต เจ้าของเครื่องหมายการค้าเลขที่ 17175 ได้ตกลงกับจำเลยให้จำเลยเปลี่ยนกล่องบรรจุสินค้าใหม่แล้วจะไม่ติดใจเอาความใด ๆ กับจำเลย ต่อมาจำเลยก็ได้เปลี่ยนกล่องบรรจุสินค้าใหม่แล้ว ต่อมานายทองทศกับโจทก์สมคบกันโอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นชื่อโจทก์เพื่อให้โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต สินค้าของจำเลยรวมทั้งกล่องที่ใช้บรรจุสินค้าไม่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับของโจทก์ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษร ลักษณะของตัวอักษร การวางตัวอักษร สีของกล่อง สีของตัวอักษร ตลอดจนสำเนียงที่เรียกขานทั้งภาษาไทยภาษาจีน และ ภาษาอังกฤษ รวมทั้งรูปและคำตลอดจนลักษณะเด่นที่ใช้กับสินค้าก็แตกต่างกัน ไม่ทำให้ประชาชนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือขาดประโยชน์จากการจำหน่ายสินค้าของโจทก์โจทก์ไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามจำเลยผลิตและจำหน่ายสินค้า “น้ำมันกีฬา” ทั้ง 2 ชนิดซึ่งฉลากสินค้าและฉลากกล่องสินค้ามีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าและฉลากสินค้า “น้ำมันมวย” ของโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและใช้ค่าเสียหายเดือนละ10,000 บาท จากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะหยุดผลิตและจำหน่ายสินค้าน้ำมันกีฬาที่มีลักษณะคล้ายกับสินค้าน้ำมันมวยของโจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือน เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกการกระทำอันเป็นละเมิดต่อโจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาที่ว่าเครื่องหมายการค้าซึ่งปรากฏที่ฉลากกล่องกระดาษสำหรับใส่ขวดน้ำมันใช้ทาถูนวดแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเคล็ดขัดยอกช้ำตามร่างกายตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 7 และ 8 ของจำเลย มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าซึ่งปรากฏที่ฉลากกล่องกระดาษสำหรับใส่ขวดน้ำมันทาถูนวดชนิดเดียวกันตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 6 ของโจทก์ จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนำฉลากกล่องกระดาษของจำเลยตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 7 และ 8 มาเปรียบเทียบกับฉลากกล่องกระดาษของโจทก์ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 6 แล้วจะเห็นได้ว่ากล่องของจำเลยมีขนาดเท่ากับกล่องของโจทก์ทั้ง 6ด้าน รูปร่างลักษณะของกล่องตลอดจนฝากล่องก็เหมือนกัน สีสรรและลวดลายของภาพต่าง ๆ บนกล่องมีลักษณะคล้ายกันและอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ขนาดของภาพและตัวอักษรที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกันก็เท่ากัน นอกจากนี้ด้านหน้าของกล่องมีตัวอักษรที่เด่นชัดเหมือนกันคือคำว่า “น้ำมัน” แม้จะมีตัวอักษรที่ต่างกันคือ ของโจทก์ใช้คำว่า”มวย” ของจำเลยใช้คำว่า “กีฬา” กล่าวคือรวมแล้วของโจทก์ใช้คำว่า”น้ำมันมวย” ของจำเลยใช้คำว่า “น้ำมันกีฬา” แต่ตัวหนังสือดังกล่าวต่างก็เป็นตัวสีขาว และอยู่ในพื้นสีน้ำเงินเหมือนกันโดยเฉพาะกล่องของจำเลยตามภาพท้ายคำฟ้องหมายเลข 7 อยู่ในกรอบแบบเดียวกันและมีขนาดเท่ากับกล่องของโจทก์ด้วย สำหรับด้านหลังของกล่องซึ่งมีอักษรโรมันนั้น แม้จะมีคำต่างกัน กล่าวคือของโจทก์ใช้คำว่า “BOXING LINIMENT” ของจำเลยใช้คำว่า”SPORTS OIL” ก็ตามแต่คำทั้งสองเป็นตัวสีขาวและอยู่ในกรอบสีน้ำเงินแบบเดียวกันและมีขนาดเท่ากัน สีและลวดลายอื่น ๆ ของกล่องก็มีลักษณะคล้ายกันและมีขนาดเท่ากัน สำหรับผู้ที่อ่านอักษรโรมันไม่ได้ หากได้เห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยดังกล่าวก็น่าจะไม่สามารถสังเกตเห็นข้อแตกต่างของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้เลย ที่จำเลยฎีกาว่า ฝากล่องกระดาษเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 ด้านบนมีรูปดอกไม้และมีอักษรภาษาไทยคำว่า “ดอกไม้” ส่วนฝากล่องกระดาษเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.3 ด้านบนมีรูปสิงห์ 5 ตัวเหยียบอยู่บนลูกโลกและมีอักษรภาษาไทยคำว่า “ตราห้าสิงห์เหยียบโลก”เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยจึงมีลักษณะแตกต่างกันนั้นเห็นว่า รูปและข้อความดังกล่าวมีลักษณะเล็กมาก แม้แต่นายเจริญสุข กิจอิทธิ กรรมการของจำเลยก็ยอมรับว่าถ้ามองในระยะห่าง 1 เมตร จะอ่านตัวอักษรในเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยดังกล่าวไม่ออก อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่ารูปและอักษรดังกล่าวอยู่ในรูปวงกลมล้อมรอบสามชั้นเหมือนกัน โดยเฉพาะวงกลมชั้นนอกเป็นวงกลมที่มีรอยหยักในลักษณะที่เหมือนกันด้วย ที่จำเลยฎีกาว่า บนกล่องเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีภาพนักมวยกำลังชกต่อยกันแต่ของจำเลยไม่มีนั้น ก็เห็นว่าภาพดังกล่าวที่ปรากฏบนกล่องของโจทก์ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 6 นั้นเป็นเพียงภาพเงาและไม่เด่นชัด ไม่ทำให้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยแตกต่างกัน ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยกับศาลล่างทั้งสองที่เห็นว่าเครื่องหมายการค้าที่กล่องกระดาษตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 7 และ 8 ของจำเลย มีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าที่ปรากฏที่กล่องกระดาษตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 6 ของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ ข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์จดทะเบียนในประเทศไว้ตั้งแต่ปี 2498 ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 3ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะเริ่มดำเนินกิจการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยตั้งแต่ปี 2527 ประมาณถึง 30 ปี จึงเห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าที่เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ อันเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ในปัญหาเรื่องค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้นเห็นว่าเหมาะสมแล้ว เพราะน้ำมันใช้สำหรับทาถูนวดที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีจำหน่ายในประเทศไทยเป็นเวลาช้านานและจำหน่ายเป็นจำนวนมาก การที่จำเลยจำหน่ายสินค้าเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ย่อมทำให้โจทก์เสียหายโดยต้องสูญเสียยอดจำหน่ายในตลาดไปบ้างเป็นบางส่วน ที่จำเลยฎีกาว่า ระหว่างวันที่ 26 มกราคม 2526 ถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน2527 โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทเพราะได้โอนสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นไปให้ผู้อื่นตามเอกสารหมาย จ.6 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายระหว่างวันที่ 8 มิถุนายน 2527ถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2527 นั้น เห็นว่า การโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าให้แก่กันนั้นจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนการโอนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 33แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 และต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม พ.ศ. 2474 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่8 กันยายน พ.ศ. 2474 ข้อ 12 ซึ่งบังคับว่าต้องใช้แบบ ค.ม.8ก.ด้วย หนังสือตามเอกสารหมาย จ.6 ไม่มีลักษณะเป็นการจดทะเบียนโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ให้แก่นายทองทศ อินทรทัตทั้งข้อความในเอกสารนี้ก็มิได้ระบุว่าเป็นการโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาท แต่ระบุว่าโจทก์ให้นายทองทศเป็นผู้ถือสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไว้แทนโจทก์เท่านั้นกรณีจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้โอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทให้แก่นายทองทศในช่วงระยะเวลาดังกล่าว โจทก์จึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทตลอดมาจึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้เต็มจำนวนนับแต่วันที่จำเลยทำละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความ15,000 บาท แทนโจทก์เป็นจำนวนที่สูงเกินไปเพราะจำเลยไม่ได้ประวิงคดีนั้น เห็นว่า จำนวนเงินค่าทนายความที่ศาลกำหนดให้จำเลยใช้แทนโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งเป็นดุลพินิจของแต่ละศาลที่จะกำหนดให้โดยคำนึงถึงเหตุผลสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวงตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161วรรคหนึ่ง โดยศาลต้องกำหนดค่าทนายความระหว่างอัตราขั้นต่ำและอัตราขั้นสูงดังที่ระบุไว้ในตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและพิจารณาความยากง่ายแห่งคดีกับเทียบดูเวลาและงานที่ทนายโจทก์ได้ปฏิบัติในการว่าคดีเรื่องนี้แล้ว เห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความในอัตราสูงสุดคือร้อยละ 5 ของจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องคิดเป็นเงินค่าทนายความ 15,000 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share