คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 846/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยทั้งสองอ้างว่า โจทก์ขายลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทให้แก่ป. ต่อมา ป. ขายต่อให้จำเลยที่ 1 อีกทอดหนึ่ง แต่จำเลยทั้งสองไม่มีหลักฐานการซื้อขายลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทระหว่าง ป. กับโจทก์เป็นหนังสือมาแสดงต่อศาล ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ลิขสิทธิ์นั้นโอนได้ แต่การโอนสิทธิหรือใช้ประโยชน์เช่นนั้นไม่สมบูรณ์เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อเจ้าของหรือตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจโดยชอบจากเจ้าของลิขสิทธิ์ จึงฟังได้ว่าโจทก์ขายลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทให้ ป. ไม่มีลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทที่จะขายให้จำเลย เพลงพิพาทยังเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่ เมื่อโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาท โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ในแผ่นเสียงที่ผลิตออกจำหน่ายก่อนจำเลยทั้งสองจะซื้อลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทจาก ป. ที่กระดาษกลางแผ่นเสียงมีข้อความระบุว่า เนื้อร้องและทำนองเป็นของผู้ใด ใครเป็นผู้ขับร้อง จำเลยทั้งสองจึงทราบดีว่าโจทก์เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องเพลงพิพาทจำเลยทั้งสองมิได้ซื้อลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทจาก ป. โดยสุจริตเพราะหากจำเลยทั้งสองสุจริตจริงก่อนซื้อจำเลยทั้งสองน่าจะให้ป. แสดงหลักฐานว่า ป. ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาจากโจทก์แล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ขอให้ ป. แสดงหลักฐานดังกล่าวและจำเลยทั้งสองไม่มีหลักฐานการซื้อลิขสิทธิ์จากโจทก์มาแสดง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์แล้ว โจทก์เพิ่งทราบว่า จำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2529 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2529จึงเป็นการฟ้องคดีภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นโดยอายุการครอบครองหรือการครอบครองปรปักษ์นั้น มีได้เฉพาะกับทรัพย์สินเพียง 2 ประเภท คือ อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ซึ่งบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4ทรัพย์สิน มุ่งให้ความคุ้มครองในเรื่องกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองในทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสำคัญ ส่วนลิขสิทธิ์แม้จะเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง แต่เป็นทรัพย์สินอีกประเภทหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ จนไม่อาจจัดเป็นทรัพย์สินในความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ได้ กล่าวคือลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “ลิขสิทธิ์””งาน” และ “ผู้สร้างสรรค์” กับมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันได้ให้ความหมายของคำว่า “สิทธิแต่ผู้เดียว” ไว้โดยเฉพาะแล้ว สิทธิในงานอันมีลิขสิทธิ์ตามที่กฎหมายให้ความคุ้มครองจึงต่างกับสิทธิในกรรมสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สิทธิในลิขสิทธิ์เป็นสิทธิในนามธรรมซึ่งเป็นการให้ความคุ้มครองแก่รูปแบบของการแสดงออกซึ่งความคิดของผู้สร้างสรรค์ เป็นผลงาน 8 ประเภทตามคำจำกัดความของคำว่า”งาน” ดังกล่าวข้างต้น การจะได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์งานจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ ส่วนผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้สร้างสรรค์ งานอาจได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8มาตรา 12 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น และลิขสิทธิ์มิได้มีอายุแห่งการคุ้มครองโดยไม่จำกัดเวลาอย่างกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 แต่มีอายุแห่งการคุ้มครองจำกัดและสิ้นอายุแห่งการคุ้มครองได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 16 ถึงมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์มิได้บัญญัติให้ผู้ใดอาจมีลิขสิทธิ์ได้โดยการครอบครองปรปักษ์ ทั้งสภาพของลิขสิทธิ์ก็ไม่อาจมีการครอบครองเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 13 ดังเช่นสิทธิในกรรมสิทธิ์บนอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีการครอบครองได้ สิ่งที่จำเลยทั้งสองครอบครองไว้จึงเป็นเพียงการครอบครองแผ่นกระดาษที่มีเนื้อเพลงพิพาทอันเป็นสังหาริมทรัพย์เท่านั้น มิได้ก่อให้เกิดสิทธิในลิขสิทธิ์ได้แต่อย่างใด การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์จะได้มาโดยทางใดได้บ้างเป็นเรื่องที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วดังกล่าวข้างต้น เมื่อไม่มีกฎหมายให้สิทธิแก่ผู้ใดได้มาซึ่งลิขสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจอ้างว่าได้ลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์ได้ แม้ศาลชั้นต้นจะเรียกสำนวนคดีอาญาเรื่องอื่นของศาลชั้นต้นมาเป็นพยานของศาลในคดีนี้ ซึ่งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 239 และ 240 แต่เท่าที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาและพิพากษามา มิได้ใช้ข้อเท็จจริงอันเกิดจากสำนวนคดีดังกล่าวเลย ไม่ทำให้คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองต้องเสียไป คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจึงชอบแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนักแต่งเพลงใช้ชื่อว่า”อ.กวี สัตตโกวิท” ได้ประพันธ์ เนื้อร้องหรือคำร้องและให้ผู้มีชื่อประพันธ์ทำนองเพลงไว้หลายเพลงอันได้แก่ เพลงฟ้ารำสึก และเพลงครวญสวาท เพลงดังกล่าว โจทก์ให้ผู้มีชื่อร้องประกอบดนตรีและได้ทำการสร้างสรรค์โดยการบันทึกลงแผ่นเสียงนำออกเผยแพร่โฆษณาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปีแล้ว คำร้องหรือเนื้อร้องในงานเพลงดังกล่าว จึงเป็นดนตรีกรรมอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์แต่ผู้เดียวจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 เมื่อประมาณปลายเดือนมิถุนายน 2529 โจทก์พบรายการเทปตรามงกุฎที่จำเลยที่ 1 ทำการโฆษณาเพื่อจำหน่ายและที่จำเลยทั้งสองร่วมกันนำเพลงฟ้ารำลึกซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปบันทึกลงในแถบบันทึกเสียหรือเทปอันเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลง เพื่อนำออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือได้ รับอนุญาตจากโจทก์ และต่อมาเมื่อประมาณต้นเดือนกรกฎาคม 2529 โจทก์พบโสตทัศนวัสดุที่เป็นแถบบันทึกเสียงหรือเทปเพลงที่จำเลยทั้งสองสมคบกันทำขึ้นเพื่อจำหน่ายจำนวน 2 ม้วน คือ ชุดที่ขับร้องโดยนายสุเทพ วงศ์กำแหง มีเพลงฟ้ารำลึก และชุดที่ขับร้องโดยนายทนงศักดิ์ ภักดีเทวา มีเพลงครวญสวาท ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อเป็นทะเลรักบันทึกลงในเทปเพลงดังกล่าว อันเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ดนตรีกรรมของโจทก์ และการกระทำของจำเลยทั้งสองมีวัตถุประสงค์ในทางการค้าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 24, 27, 43, 44ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2511 มาตรา 24, 43วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ปรับจำเลยที่ 1 100,000 บาทจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์แทนส่วนจำเลยที่ 2 ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน 2 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกาโดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เพลงที่พิพาทกันในคดีนี้โจทก์เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นเมื่อปี 2503 ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันผลิตเทปคาสเซ็ท และแผ่นเสียงบันทึกเพลงดังกล่าวออกจำหน่ายโดยมิได้รับอนุญาต จากโจทก์ คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสองนำสืบว่าโจทก์ได้ขายลิขสิทธิ์เพลงพิพาทให้แก่นายประชา วรานนท์ ต่อมานายประชาขายต่อให้จำเลยที่ 1 อีกทอดหนึ่งจำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาท เห็นว่า ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่านายประชาซื้อลิขสิทธิ์เพลงพิพาทจากโจทก์นั้น ปรากฏว่าไม่มีหลักฐานการซื้อขายเป็นหนังสือมาแสดงต่อศาล ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่าลิขสิทธิ์นั้นโอนได้ แต่การโอนสิทธิหรือใช้ประโยชน์เช่นนั้นไม่สมบูรณ์เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อเจ้าของหรือตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจโดยชอบจากเจ้าของลิขสิทธิ์ นายประชาซึ่งมีอาชีพเกี่ยวข้องกับเพลงจนมีชื่อเสียงในขณะนั้นย่อมจะทราบดีเมื่อจำเลยและนายประชาไม่มีหนังสือที่อ้างว่าโจทก์ขายลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทให้มาแสดง ข้อนำสืบของจำเลยจึงไม่น่าเชื่อคดีฟังไม่ได้ว่าโจทก์ขายลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทให้นายประชาหรือ ปอ วรานนท์ดังนั้น นายประชาจึงไม่มีลิขสิทธิ์เพลงพิพาทที่จะขายให้แก่จำเลยเพลงพิพาทยังเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่ ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยทั้งสองได้ซื้อเพลงพิพาทมาตามเอกสารหมาย ล.5 นั้น เมื่อฟังว่านายประชาไม่มีลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทเสียแล้วก็ไม่ต้องวินิจฉัยในข้อนี้ต่อไปเมื่อโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำกระละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองไม่มีเจตนากระทำความผิดตามฟ้องเพราะจำเลยทั้งสองไม่ทราบว่าเพลงพิพาทเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ ปัญหานี้ในทางนำสืบของจำเลยทั้งสองจำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ในแผ่นเสียหมาย จ.8ซึ่งผลิตออกจำหน่ายก่อนจำเลยทั้งสองจะซื้อลิขสิทธิ์จากนายประชาที่กระดาษกลางแผ่นเสียงมีข้อความระบุว่าเนื้อร้องเป็นของใครทำนองเป็นของใคร ใครเป็นผู้ขับร้อง ดังนั้น จำเลยทั้งสองย่อมทราบดีว่าโจทก์เป็นผู้ประพันธ์ เนื้อร้องเพลงพิพาท และไม่อาจเป็นได้ดังที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า จำเลยทั้งสองซื้อลิขสิทธิ์เพลงพิพาทมาจากนายประชาโดยสุจริต ไม่ทราบว่านายประชาละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เพราะหากจำเลยทั้งสองสุจริตจริง ก่อนซื้อจำเลยทั้งสองก็น่าจะให้นายประชาแสดงหลักฐานว่านายประชาได้ซื้อลิขสิทธิ์มาจากโจทก์แล้วในเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ขอให้นายประชาแสดงหลักฐานดังกล่าวและจำเลยทั้งสองไม่มีหลักฐานการซื้อลิขสิทธิ์จากโจทก์มาแสดงเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำที่มีเจตนากระทำความผิดตามฟ้อง
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปมีว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ข้อเท็จจริงที่โจทก์ นำสืบฟังได้ว่า โจทก์พบเทปคาสเซ็ท หมาย จ.6และ จ.7 ของจำเลยทั้งสองวางขายอยู่ในท้องตลาดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2529จึงซื้อมาเปิดฟังและทราบว่าจำเลยทั้งสองนำเพลงพิพาทมาอัดใส่เทปคาสเซ็ท ดังกล่าวออกขาย จำเลยทั้งสองนำสืบหักล้างไม่ได้ คดีนี้ฟังได้ว่าโจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2529 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อ 10 กันยายน 2529 เป็นการฟ้องคดีภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองได้ลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เห็นว่าการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นโดยอายุการครอบครองหรือการครอบครองปรปักษ์นั้นมีได้เฉพาะกับทรัพย์สินเพียง 2 ประเภทเท่านั้น คือ อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ซึ่งบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ทรัพย์สิน มุ่งให้ความคุ้มครองในเรื่องกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองในทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสำคัญส่วนลิขสิทธิ์แม้จะเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง แต่เป็นทรัพย์สินอีกประเภทหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ จนไม่อาจจัดเป็นทรัพย์สินในความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ได้ กล่าวคือลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 ได้บัญญัติว่า “ลิขสิทธิ์” หมายความว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้ สร้างสรรค์ ได้ทำขึ้น “งาน”หมายความว่า งานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม นาฎกรรม ศิลปกรรมดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนต์ งานแพร่เสียงแพร่ภาพหรืองานอื่นใดอันเป็นงานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปและ “ผู้ สร้างสรรค์” หมายความว่า ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยความคิดริเริ่มของตนเอง สิทธิแต่ผู้เดียวในที่นี้ก็คือ สิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะทำซ้ำหรือดัดแปลง นำออกโฆษณา ให้ประโยชน์อันเกิดจาก ลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น และ สิทธิที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำดัดแปลง หรือนำออกโฆษณาซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว สิทธิในงานอันมีลิขสิทธิ์ตามที่กฎหมายให้ความคุ้มครองจึงต่างกับสิทธิในกรรมสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สิทธิในลิขสิทธิ์เป็นสิทธิในนามธรรม ซึ่งเป็นการให้ความคุ้มครองแก่รูปแบบของแสดงออก ซึ่งความคิดของผู้ สร้างสรรค์ เป็นผลงาน 8 ประเภทข้างต้นการจะได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ งานจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ ส่วนผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้สร้างสรรค์ งานอาจได้มาซึ่งลิขสิทธิ์โดยการรับโอนหรือโดยทางมรดกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 15 หรืออาจได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในฐานะที่เป็นผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างทำของดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 หรือในฐานะเป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ เท่านั้น และลิขสิทธิ์มิได้มีอายุแห่งการคุ้มครองโดยไม่จำกัดเวลาอย่างกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 แต่มีอายุแห่งการคุ้มครองจำกัดและสิ้นอายุแห่งการคุ้มครองได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 16 ถึงมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มิได้บัญญัติให้ผู้ใดอาจมีลิขสิทธิ์ได้โดยการครอบครองปรปักษ์ ทั้งสภาพของลิขสิทธิ์ก็ไม่อาจมีการครอบครองเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯมาตรา 13 ดังเช่นสิทธิในกรรมสิทธิ์บนอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีการครอบครองได้ สิ่งที่จำเลยทั้งสองครอบครองไว้จึงเป็นเพียงการครอบครองแผ่นกระดาษที่มีเนื้อเพลงพิพาทอันเป็นสังหาริมทรัพย์เท่านั้น มิได้ก่อให้เกิดสิทธิในลิขสิทธิ์ขึ้นได้แต่อย่างใด การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์จะได้มาโดยทางใดได้บ้าง ก็เป็นเรื่องที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วดังกล่าวข้างต้น เมื่อไม่มีกฎหมายให้สิทธิแก่ผู้ใดได้มาซึ่งลิขสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจอ้างว่าได้ลิขสิทธิ์ในเพลงที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ได้
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อสุดท้ายว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาใจความว่าเมื่อคู่ความสืบพยานเสร็จแล้วศาลได้นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 2กรกฎาคม 2530 แต่ถึงวันนัดศาลกลับมีคำสั่งให้เลื่อนการฟ้องคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 14 กรกฎาคม 2530 เนื่องจากศาลเห็นว่า มีพยานหลักฐานจากสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 4322/2529 คดีหมายเลขแดงที่8750/2529 ระหว่าง พนักงานอัยการ โจทก์ นาย กวี จุลศรีพานิชหรือจูฑ ศรีพานิช จำเลย ของศาลชั้นต้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลจะเรียกสำนวนดังกล่าว เข้ามาเป็นพยานของศาลในคดีนี้ แต่เนื่องจากโจทก์และจำเลยไม่ทราบ จึงแจ้งให้โจทก์และ จำเลยทราบ หากโจทก์และจำเลยจะแถลงคัดค้านประการใดก็ให้แถลงเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายใน 7 วัน ถ้าไม่ยื่นถือว่าไม่คัดค้าน รายละเอียดปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2530 ศาลชั้นต้นจึงดำเนิน กระบวนพิจารณาไม่ชอบ เห็นว่า กระบวนพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ศาลไม่อาจทำเช่นรายละเอียดในรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2530 ได้ เพราะสำนวนดังกล่าวที่ศาลเรียกเข้ามาเป็นพยานมิได้มีคู่ความฝ่ายใดอ้าง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 239 และ 240 การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาเห็นว่าเท่าที่ศาลล่างทั้งสองได้พิจารณาและพิพากษามาดังกล่าวข้างต้นนั้นมิได้ใช้ข้อเท็จจริงอันเกิดจากสำนวนคดีที่จำเลยทั้งสองอ้างมาในฎีกาข้อนี้เลย จึงไม่ทำให้ข้อวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไปได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษานั้น ศาลฎีกาเป็นพ้องด้วย
พิพากษายืน.

Share