คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6389/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าจะสืบ ต. ในประเด็นว่าโจทก์โดย ต. มิได้บอกกล่าวทวงถามชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ก่อนแต่จำเลยที่ 3 มิได้ให้การข้อที่จะขอนำสืบ ต. ดังกล่าวเป็นประเด็นไว้ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าการสืบ ต. เป็นเรื่องฟุ่มเฟือยไร้สาระให้งดสืบนั้น จึงชอบแล้ว แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทภายใต้เล็ตเตอร์ออฟเครดิตเลขที่ 371391/355 และมีหนังสือทวงถามถึงจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทภายใต้เล็ตเตอร์ออฟเครดิต เลขที่ 271391/355 แต่ภายหลังจำเลยที่ 3ยื่นคำให้การแล้วโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอแก้เป็นว่าทำสัญญาทรัสต์รีซีทภายใต้เล็ตเตอร์ออฟเครดิตเลขที่ 271391/355 จำเลยที่ 3 ไม่ได้คัดค้านและศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ สัญญาทรัสต์รีซีทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมผูกพันตามข้อสัญญาในการออกเล็ตเตอร์ออฟเครดิตสำหรับการสั่งซื้อสินค้ารายนี้ ซึ่งก็คือสัญญาเล็ตเตอร์ออฟเครดิตระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง สัญญาทรัสต์รีซีทกับสัญญาเล็ตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่ต่อเนื่องกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมจ่ายเงินที่โจทก์ได้จ่ายไปตามสัญญาเล็ตเตอร์ออฟเครดิตกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ลงบนตั๋วแลกเงินถึงวันที่จ่ายจริง แม้การทำสัญญาทรัสต์รีซีทจะไม่มีการตกลงกันเกี่ยวกับดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราตามสัญญาเล็ตเตอร์ออฟเครดิต โจทก์บอกกล่าวทวงถามจำเลยที่ 1 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้แล้วหรือไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ขอให้โจทก์เปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิต (ที่ยืนยันและเพิกถอนไม่ได้) ไปยังประเทศสิงคโปร์โดยสั่งซื้อสินค้าประเภทอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์เพื่อนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย การชำระราคาสินค้าจำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ชำระเงินให้แก่ผู้ขายแทนไปก่อน ตามประเพณีและวิธีการชำระเงินในทางการค้าระหว่างประเทศและจะชำระคืนให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทยหากจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินชำระก็จะทำสัญญาทรัสต์รีซีท เพื่อรับสินค้าจากผู้ขนส่งไปจำหน่ายนำเงินมาชำระให้โจทก์ต่อไป เมื่อวันที่ 17กุมภาพันธ์ 2527 โจทก์ได้เปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตชนิดบอกเลิกและเพิกถอนไม่ได้ เลขที่ 271391/355 เป็นเงินจำนวน 14,700 เหรียญสิงคโปร์ ให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้ขายในต่างประเทศได้ส่งสินค้าตามเล็ตเตอร์ออฟเครดิตมายังประเทศไทย โดยได้ออกตั๋วแลกเงินเรียกเก็บเงินค่าสินค้ากับโจทก์ โจทก์ได้ชำระราคาสินค้าจำนวน 14,700เหรียญสิงคโปร์ ไปเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2527 ต่อมาเมื่อวันที่30 มีนาคม 2527 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทภายใต้เล็ตเตอร์ออฟเครดิต เลขที่ 371391/355 (ขอแก้ฟ้องเป็น 271391/355)ตามมูลค่าสินค้าเป็นเงินจำนวน 14,700 เหรียญสิงคโปร์ โดยสัญญาว่าจะชำระให้โจทก์ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2527 พร้อมทั้งค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี และขอรับเอกสารจากโจทก์ไปรับสินค้าจากผู้ขนส่งเพื่อนำไปจำหน่ายเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์2527 จำเลยที่ 3 ได้ผูกพันตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยสัญญาว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาทรัสต์รีซีทหรือเล็ตเตอร์ออฟเครดิตหรือก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นไม่ว่ากรณีใด ๆจำเลยที่ 3 ตกลงยินยอมชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทันทีโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ครั้นเมื่อครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์ทวงถาม จำเลยที่ 1 ก็ได้นำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2527 จำนวน 45,000 บาท ต่อมาวันที่ 6 กันยายน2527 โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทภายใต้เล็ตเตอร์ออฟเครดิต เลขที่ 271391/355ตามมูลค่าสินค้าเป็นเงิน 14,700 เหรียญสิงคโปร์ และค่าธรรมเนียมเรียกเก็บจากธนาคารต่างประเทศเป็นเงินจำนวน 30 เหรียญสิงคโปร์รวมเป็นเงินจำนวน 14,730 เหรียญสิงคโปร์ คิดเป็นเงินไทยจำนวน157,813.53 บาท ค่าดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2527 ถึงวันที่6 กันยายน 2527 เป็นเงินจำนวน 11,061.18 บาท ค่าอากรแสตมป์9 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 168,883.71 บาท โดยหักเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระบางส่วนเป็นเงินจำนวน 45,000 บาท แล้วเหลือเป็นภาระหนี้ทั้งสิ้นเป็นเงินต้นจำนวน 123,883.71 บาท แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1เพิกเฉย โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2528 จำเลยที่ 3 ก็เพิกเฉย จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินต้นจำนวน 123,883.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 กันยายน 2527 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 38,977.54 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 162,861.25 บาทแก่โจทก์ ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีของเงินจำนวน123,883.71 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตและทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไปเกือบหมดแล้วจำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จริง แต่โจทก์ยังไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 3ในทันที ต้องบังคับเอาจากจำเลยที่ 1 ก่อน โจทก์จะฟ้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดได้ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ไม่ปรากฎการผิดสัญญาดังกล่าวเพราะในสัญญาดังกล่าวกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ต่อเมื่อขายสินค้าได้และได้รับชำระเงินค่าสินค้าแล้วจึงจะนำไปหักกลบลบหนี้กับโจทก์ แต่อย่างไรก็ตามการทำสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 3ไม่เคยรู้เห็นและไม่เคยยินยอมเข้าเป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาดังกล่าวโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดตามสัญญาดังกล่าวนับแต่วันที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3ไม่เคยได้รับการบอกกล่าวจากโจทก์ให้ชำระหนี้แต่อย่างใด ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องมาเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้โจทก์จำนวน 14,730 เหรียญสิงคโปร์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2527 และอัตราร้อยละ 18ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยให้คิดเป็นเงินไทยในอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่25 กรกฎาคม 2527 แต่ 1 เหรียญสิงคโปร์ไม่ให้เกินกว่า 10.71375 บาทเมื่อได้เงินต้นและดอกเบี้ยเท่าใดแล้วให้นำเงิน 45,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ชำระแล้วไปหักดอกเบี้ยที่คิดได้ถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2527ก่อน เหลือเท่าใดให้นำไปชำระเงินต้น เหลือเงินต้นที่ค้างชำระเท่าใด ให้คิดดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวต่อไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าอากรแสตมป์ให้โจทก์อีก 9 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาคำสั่งและคำพิพากษา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เนื่องจากจำเลยที่ 3 ได้ฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ตัดพยานจำเลยที่ 3 คือ นายไตรรัตน์ ลีละพันธ์โดยขอให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่จึงต้องวินิจฉัยปัญหานี้ก่อน เห็นว่า จำเลยที่ 3 ได้แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าจะสืบนายไตรรัตน์ในประเด็นว่าโจทก์โดยนายไตรรัตน์มิได้บอกกล่าวทวงถามชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ก่อน แต่ตามคำให้การของจำเลยที่ 3 นั้น จำเลยที่ 3 มิได้ให้การข้อที่จะขอนำสืบนายไตรรัตน์ดังกล่าวเป็นประเด็นไว้ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าการสืบนายไตรรัตน์เป็นเรื่องฟุ่มเฟือยไม่มีสาระสำคัญให้งดสืบนั้นจึงชอบแล้ว
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น จำเลยที่ 3ให้การว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมโดยจำเลยที่ 3 ได้อ้างว่าเพราะโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทภายใต้เล็ตเตอร์ออฟเครดิต เลขที่ 271391/355 แต่ได้มีหนังสือทวงถามถึงจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทภายใต้เล็ตเตอร์ออฟเครดิต เลขที่ 271391/355 แต่ภายหลังจากจำเลยที่ 3ยื่นคำให้การแล้ว โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอแก้เป็นว่าทำสัญญาทรัสต์รีซีทภายใต้เล็ตเตอร์ออฟเครดิต เลขที่ 271391/355จำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้คัดค้านการขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์และศาลชั้นต้นได้สั่งอนุญาตแล้ว ที่จำเลยที่ 3 ให้การว่าฟ้องเคลือบคลุมก็ไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยอีกต่อไป
ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 มิได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในตัวสัญญาทรัสต์รีซีท จึงไม่ต้องร่วมรับผิดและสัญญาดังกล่าวมิได้ระบุอัตราดอกเบี้ย โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 3 ยอมรับว่าได้ทำหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 จริง ตามสัญญาดังกล่าวข้อ 1 ระบุไว้ว่าเป็นการค้ำประกันที่โจทก์อำนวยสินเชื่อให้แก่จำเลยที่ 1 โดยยอมให้ออกทรัสต์รีซีท ดังนั้น จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1และเมื่อโจทก์ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.4สัญญาดังกล่าวมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมผูกพันตามข้อสัญญาในการออกเล็ตเตอร์ออฟเครดิตสำหรับการสั่งซื้อสินค้ารายนี้ซึ่งก็คือสัญญาเล็ตเตอร์ออฟเครดิตตามเอกสารหมาย จ.2 นั่นเองสัญญาทรัสต์รีซีทกับสัญญาเล็ตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่ต่อเนื่องกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมจ่ายเงินที่โจทก์ได้จ่ายไปตามสัญญาเล็ตเตอร์ออฟเครดิตร่วมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18ต่อปี นับแต่วันที่ลงบนตั๋วแลกเงินถึงวันที่จ่ายจริง แม้การทำสัญญาทรัสต์รีซีทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะไม่มีการตกลงกันเกี่ยวกับดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราตามสัญญาเล็ตเตอร์ออฟเครดิตเช่นเดิม
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีหลักฐานว่าได้แจ้งให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 3 จึงยังไม่ต้องรับผิดนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์บอกกล่าวทวงถามจำเลยที่ 1 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้
พิพากษายืน.

Share