แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ก่อนที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลย โจทก์หาได้มีความสัมพันธ์กับจำเลยในฐานะสามีภริยาตามกฎหมายไม่ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ในฐานะภริยาจำเลยแม้โจทก์จะทราบว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับ ร. และมีบุตรด้วยกันก่อนที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลย ก็ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำดังกล่าวของจำเลย โจทก์จึงอ้างเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516(1)ฟ้องหย่าจำเลยได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์สมรสกับจำเลยตามประเพณี ต่อมาจึงได้จดทะเบียนสมรสกันหลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว โจทก์สืบทราบว่าจำเลยได้อุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นเป็นภริยาจนเกิดบุตรด้วยกันมาก่อน แต่จำเลยหลอกลวงว่าเป็นชายโสดจนโจทก์หลงเชื่อและยอมสมรสกับจำเลย เมื่อโจทก์ซักถามเกี่ยวกับเรื่องนี้จำเลยกลับหาเรื่องทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายโจทก์และกล่าวคำหยาบคายดูถูกเหยียดหยามโจทก์และบุพการีหลายครั้ง การกระทำของจำเลยเป็นการประพฤติตนอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรง การที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นเป็นภริยาแล้วมาหลอกลวงว่าเป็นชายโสดทำให้โจทก์หลงเชื่อยอมสมรสกับจำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องสูญเสียพรหมจารีให้จำเลย และได้รับความเสียหายทั้งส่วนตัวและวงศ์ตระกูลโจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 200,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนหย่าขาดจากกัน หากจำเลยไม่ยอมขอให้ถือว่าคำพิพากษาของศาลมีผลให้การสมรสสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษา ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 200,000 บาทแก่โจทก์กับให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เป็นรายเดือนตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรกำหนดให้
จำเลยให้การว่า โจทก์ทราบดีก่อนสมรสตามประเพณีกับจำเลยว่าจำเลยมีบุตรกับนางรำพึง สายตรง อยู่แล้ว 1 คน แต่จำเลยไม่เคยยกย่องอย่างเปิดเผยว่าหญิงนั้นเป็นภริยา แต่ไม่ได้ให้การอุปการะเลี้ยงดูแต่อย่างใด โจทก์และจำเลยไม่เคยมีเหตุทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกาย ทั้งไม่เคยใช้ถ้อยคำหยาบคายต่อโจทก์หรือบุพการีของโจทก์ ต่อมาโจทก์ทราบว่า นางรำพึงได้คลอดบุตรคนที่ 2 อันเกิดจากจำเลย โจทก์เข้าใจว่าจำเลยมิได้ตัดขาดจากนางรำพึง จำเลยได้พยายามอธิบายให้โจทก์เข้าใจว่านางรำพึงตั้งครรภ์ก่อนที่โจทก์กับจำเลยจะสมรสกันตามประเพณี แต่โจทก์ไม่เข้าใจกลับหลบหนีออกจากบ้านของจำเลย ต่อมาโจทก์ให้จำเลยปฏิบัติตามข้อเสนอคือให้โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลย และให้โอนทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ให้โจทก์เป็นเจ้าของร่วม ห้ามมิให้จำเลยออกจากบ้านในยามวิกาลให้จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ในวันนั้นจำนวน 35,000 บาท เป็นเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อโจทก์จะได้กลับมาอยู่กินกับจำเลยเหมือนเดิม จำเลยได้ปฏิบัติตามทุกข้อ ยกเว้นเรื่องให้จดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์แล้วนัดจดทะเบียนสมรสกัน แสดงว่าโจทก์รู้เห็นเป็นใจและยินยอมในเรื่องนี้แล้ว หลังจากที่จดทะเบียนสมรสแล้ว จำเลยได้ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยเคร่งครัด แต่ต่อมาโจทก์ได้ขนของที่เป็นสินสมรสออกจากบ้านหลบหนีไป จำเลยมิได้ทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการสมรส มิได้หมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีของโจทก์ และหรือยกย่องหยิงอื่นใดว่าเป็นภริยาของจำเลย ค่าเสียหายของโจทก์หากมีไม่ควรถึง 200,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์โดยให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ภายใน 15 วันนับแต่วันทราบคำพิพากษา หากจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่าให้โจทก์ ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยในการจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับจำเลย ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวนเงิน 100,000 บาท และจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์เดือนละ 2,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะทำการสมรสใหม่
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยไปจดทะเบียนการหย่า หากไม่ยอมไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีเหตุหย่ากับจำเลยตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายรับข้อเท็จจริงกับแล้วว่า จำเลยมีบุตรด้วยกันกับนางรำพึง 2 คนโดยเฉพาะบุตรคนที่สองคลอดก่อนโจทก์สมรสกับจำเลยเพียงเดือนเศษและปรากฏตามทะเบียนบ้านหมาย ล.5 ด้วยว่าจำเลยในฐานะเจ้าของบ้านได้แจ้งชื่อบุตรคนที่สองเข้าไปอยู่ในทะเบียนบ้านที่ซอยรางน้ำซึ่งเป็นร้านขายยาระบุว่า จำเลยเป็นบิดาและนางรำพึงเป็นมารดานอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของโจทก์และนายอาคม จวนสาง ว่าหลังจากสมรสกับจำเลยแล้ว จำเลยมีพฤติการณ์กลับบ้านดึกเป็นประจำเมื่อโจทก์ทวงถาม จำเลยไม่ยอมรับ จึงได้จ้างนายอาคมให้ช่วยสืบพฤติการณ์ของจำเลยจนพบว่าจำเลยยังคงติดต่อและมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับนางรำพึงที่บ้านเลขที่ 66/1 ถนนรองเมือง ซอย 3ครั้นโจทก์ไปสอบถามเพื่อนบ้านของนางรำพึงก็ได้ความตรงกันว่านางรำพึงเป็นภริยาจำเลย ตามพฤติการณ์และพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีเหตุผลเชื่อถือได้ว่า ภายหลังจากจำเลยสมรสกับโจทก์แล้วจำเลยยังคงติดต่อไปมาหาให้การอุปการะเลี้ยงดูและยกย่องนางรำพึงฉันภริยาด้วยอีกคนหนึ่ง ที่จำเลยนำสืบว่ามิได้ติดต่อกับนางรำพึงอีกนั้น ก็ขัดกับพฤติกาณ์ที่จำเลยรับว่าหลังจากโจทก์อยู่ด้วยกันกับจำเลยที่ร้านขายยาแล้ว นางรำพึงยังโทรศัพท์ไปหาจำเลยเกี่ยวกับเรื่องบุตร และจำเลยเป็นผู้แจ้งชื่อบุตรเข้าไปในทะเบียนบ้าน เมื่อปิดร้านแล้วมักออกไปนอกบ้านตามลำพัง และกลับถึงบ้านในยามวิกาลอันเป็นการขัดกับเหตุผลที่ว่าไปเยี่ยมบิดามารดาจำเลย พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการที่จำเลยมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับนางรำพึงนั้น เป็นข้อเท็จจริงใหม่ที่จำเลยยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ว่า โจทก์จะยกเอาเหตุดังกล่าวขึ้นฟ้องหย่าจำเลยไม่ได้ ภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้จึงตกแก่จำเลยแต่จากพยานหลักฐานของจำเลยไม่ปรากฏว่า หลังจากโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยแล้ว โจทก์ได้แสดงความยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจอย่างไรในการที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูนางรำพึงฉันภริยา ตรงกันข้ามกลับได้ความว่าโจทก์โกรธเคืองจำเลยถึงขนาดหลบหนีออกจากบ้านและมีหนังสือถึงจำเลยเพื่อให้จดทะเบียนหย่ากับโจทก์ พร้อมทั้งเรียกค่าทดแทนตามเอกสารหมาย จ.1 นอกจากนี้ก่อนที่โจทก์จะจดทะเบียนสมรสกับจำเลย โจทก์หาได้มีความสัมพันธ์กับจำเลยในฐานะสามีภริยาตามกฎหมายไม่ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ในฐานะภริยาจำเลย ดังนั้น แม้โจทก์จะทราบว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับนางรำพึงและมีบุตรด้วยกันก่อนที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำดังกล่าวของจำเลย โจทก์จึงอ้างเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) ฟ้องหย่าจำเลยได้ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.