คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อธิบดีกรมโจทก์เป็นผู้แทนที่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เมื่ออธิบดีกรมโจทก์ได้ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 1 โอนประทานบัตร เป็น ทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2526 ซึ่ง เป็นเหตุที่จะขอเพิกถอนการโอนได้ การนับระยะเวลา ที่ จะ ใช้ สิทธิเรียกร้องขอให้เพิกถอนการโอนจึงต้องนับแต่วันดังกล่าว แม้ เจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ ของโจทก์ได้ทราบเรื่องที่จะขอให้ เพิกถอน การ โอนเกินกำหนด 1 ปี แต่บุคคลดังกล่าวมิใช่ผู้ที่มีอำนาจ กระทำการ แทน โจทก์จะถือว่าโจทก์ได้รู้ถึงสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ไม่ได้ ช. เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ดำเนินการในการทำเหมืองแร่ตามประทานบัตรที่พิพาทแทนจำเลยที่ 1 ตลอดมา ช. จะ ต้องรู้ดีว่ามีรายได้จากการประกอบการนั้นเท่าใดและจะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเท่าใด การที่จำเลยที่ 1 ชำระภาษีในบางปีไม่ครบถ้วนหรือไม่ชำระเลย ช. ในฐานะที่เป็นผู้ดำเนินการแทนจะต้องทราบและรู้ดีว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นพอที่จะชำระหนี้ภาษีอากรหรือไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากประทานบัตร ที่ พิพาท ในอันที่จะนำมาชำระหนี้โจทก์ได้ การที่ ช. รับโอนประทานบัตร ที่พิพาทโดยรู้ถึงความจริงดังกล่าวนับได้ว่าเป็นการรับโอน โดย รู้ เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ เสียเปรียบ ถือไม่ได้ว่าเป็นการรับโอนโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็น ทายาท ของ ช.รับโอนประทานบัตรที่พิพาทมาในฐานะที่เป็นมรดกจึง ไม่มี สิทธิ ดีกว่าช. ซึ่งเป็นเจ้ามรดก และไม่อาจอ้างสิทธิในฐานะ ที่ เป็นบุคคลภายนอกได้ แต่กลับมีหน้าที่ในฐานะทายาทที่จะ ต้อง โอน กลับคืนไปตามหน้าที่ที่เจ้ามรดกมีอยู่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2514 ถึง 2516 จำเลยที่ 1ค้างชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแก่โจทก์รวมเป็นเงิน 672,247.79 บาทต่อมาจำเลยที่ 1 โอนประทานบัตรเหมืองแร่ดีบุกและวุลแฟรมที่จังหวัดนครศรีธรรมราชให้แก่นายชนะ ใจห้าว บุตรของจำเลยที่ 1 เมื่อนายชนะถึงแก่กรรม จำเลยที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมและผู้จัดการมรดกของนายชนะผู้ตายขอรับโอนประทานบัตรดังกล่าวโดยทางมรดกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตให้จำเลยที่ 3 รับโอนตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2522 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดนอกจากผลประโยชน์ที่จะได้จากประทานบัตรดังกล่าวดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการสมคบกันทำนิติกรรมขึ้นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนประทานบัตรดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายชนะ และเพิกถอนการโอนประทานบัตรดังกล่าวของนายชนะโดยการตกทอดทางมรดกให้แก่จำเลยที่ 3 ให้จำเลยร่วมกันโอนประทานบัตรดังกล่าวกลับแก่จำเลยที่ 1 ตามสถานะเดิม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย เพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรณีจังหวัดนครศรีธรรมราช ดำเนินการต่อไป
จำเลยที่ 1 ให้การว่า นายชนะ บุตรชายของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการในการจัดทำเหมืองเนื่องจากจำเลยที่ 1 ชรา อ่านและเขียนหนังสือไม่ได้ จำเลยที่ 1 พิมพ์ลายนิ้วมือของตนให้แก่นายชนะตามที่นายชนะสั่งโดยไม่รู้เรื่องราว จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับผลประโยชน์จากการทำเหมือง จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคดีโจทก์ขาดอายุความที่จะฟ้องเรียกค่าภาษีไปแล้ว เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าภาษีจากจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิและอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 1 พร้อมที่จะชำระค่าภาษีที่ชอบและถูกต้องตามกฎหมายเมื่อกรมทรัพยากรธรณีหรือกระทรวงอุตสาหกรรมโอนประทานบัตรดังกล่าวกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 โอนประทานบัตรตามฟ้องให้แก่นายชนะก่อนจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งการประเมินภาษี ไม่ได้รู้มาก่อนว่าการโอนนั้นจะทำให้โจทก์เสียเปรียบจำเลยที่ 1 โอนประทานบัตรให้แก่นายชนะโดยมีค่าตอบแทน และนายชนะรับโอนมาโดยไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าภาษี จำเลยที่ 3 ได้รับโอนประทานบัตรมาในฐานะทายาทผู้รับมรดก โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปีแล้ว จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนประทานบัตรตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายชนะ และเพิกถอนการโอนประทานบัตรดังกล่าวของนายชนะโดยการตกทอดทางมรดกให้แก่จำเลยที่ 3 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันดำเนินการโอนประทานบัตรดังกล่าวให้กลับคืนแก่จำเลยที่ 1ตามสถานะเดิม หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาเพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรณี จังหวัดนครศรีธรรมราชดำเนินการต่อไป
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายวิทย์ ตันตยกุลว่า ขณะที่มีกรณีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องนี้นายวิทย์เป็นอธิบดีกรมสรรพากรโจทก์ นายวิทย์ในฐานะอธิบดีได้ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 1 โอนประทานบัตรเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2526 ข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของนายวิทย์ดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นและนายวิทย์ก็เบิกความไปตามหน้าที่ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังที่นายวิทย์เบิกความในเมื่อนายวิทย์เป็นอธิบดีกรมโจทก์ ในขณะที่เกิดกรณีพิพาท นายวิทย์จึงเป็นผู้แทนที่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เมื่อผู้แทนของโจทก์ได้รู้ถึงเหตุที่จะขอเพิกถอนการโอนในวันที่ 20 มิถุนายน 2526 การนับระยะเวลาที่จะใช้สิทธิเรียกร้องขอให้เพิกถอนการโอนจึงต้องนับแต่วันดังกล่าวส่วนที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 อ้างมาในฎีกาว่าเจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆของโจทก์ได้ทราบเรื่องที่จะขอให้เพิกถอนการโอนเกินกำหนด 1 ปีแล้วนั้น เจ้าหน้าที่ของโจทก์ในระดับต่าง ๆ ดังกล่าว มิใช่ผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จึงยังถือว่าโจทก์ได้รู้ถึงสิทธิเรียกร้องดังกล่าวด้วยไม่ได้ โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2526จึงเป็นการฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ 1 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240
ปัญหาที่สองนั้น ในเมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า นายชนะผู้รับโอนเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ตามประทานบัตรที่พิพาทนั้นได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1ว่า เมื่อสามีของจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมประมาณ 15 – 16 ปี ก่อนปี2528 จำเลยที่ 1 ได้โอนประทานบัตรมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1หลังจากโอนมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้นายชนะเป็นผู้ดำเนินการแทบทั้งหมด โดยจำเลยที่ 1 ไม่ทราบเรื่องในรายละเอียดเลย และปรากฏตามหลักฐานในการติดต่อกับทรัพยากรธรณีจังหวัดนครศรีธรรมราช ตามหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 15 เมษายน 2513 และฉบับลงวันที่ 15 มีนาคม 2519 ก็ระบุว่านายชนะเป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ในการดำเนินการเกี่ยวกับประทานบัตรที่พิพาท ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้นั้นจำเลยที่ 2 ที่ 3ก็มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ตามคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และกรณีที่เป็นเหตุให้มีหนี้ภาษีอากรค้างชำระของจำเลยที่ 1ตามที่เจ้าพนักงานได้แจ้งประเมินไปนั้นปรากฏตามเอกสารหมายป.จ.2 ว่า ที่มาของรายได้เกิดจากการประกอบกิจการทำเหมืองแร่ตามประทานบัตรที่พิพาทเป็นหลัก ดังนั้น การที่นายชนะในฐานะที่เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ดำเนินการในการทำเหมืองแร่ตามประทานบัตรที่พิพาทแทนจำเลยที่ 1 ตลอดมาเช่นนี้ นายชนะเองจะต้องเป็นผู้ที่รู้ดีแต่ผู้เดียวว่ามีรายได้จากการประกอบการนั้นเท่าใดและจะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเท่าใด การที่จำเลยที่ 1ชำระภาษีในบางปีไม่ครบถ้วนและบางปีไม่ชำระภาษีเลยนั้น นายชนะในฐานะที่เป็นผู้ดำเนินการแทนจะต้องทราบ และนายชนะเองก็ย่อมจะต้องรู้ดีว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นพอที่จะชำระหนี้ภาษีอากรหรือไม่ ในเมื่อข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากประทานบัตรที่พิพาทในอันที่จะนำมาชำระหนี้โจทก์ได้ การที่นายชนะรับโอนประทานบัตรที่พิพาทมาโดยรู้ถึงความจริงดังกล่าวนั้น นับได้ว่าเป็นการรับโอนโดยรู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ถือไม่ได้ว่าเป็นการรับโอนโดยสุจริต
สำหรับปัญหาของจำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3ให้การรวมกันมาว่านายชนะรับโอนมาโดยไม่รู้ว่าจำเลยที่ 1มีหนี้ภาษีอากรอยู่ จึงถือว่าจำเลยที่ 3 ได้ต่อสู้ในเรื่องรับโอนโดยสุจริตหรือไม่แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาของจำเลยที่ 3 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว ในเมื่อได้วินิจฉัยในปัญหาข้อ 2 แล้วว่า นายชนะรับโอนมาโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของนายชนะรับโอนประทานบัตรที่พิพาทมาในฐานะที่เป็นมรดก จำเลยที่ 3 จึงไม่มีสิทธิดีกว่านายชนะซึ่งเป็นเจ้ามรดก ในเมื่อนิติกรรมการได้ทรัพย์มรดกรายนี้ของนายชนะเจ้ามรดกเป็นอันจะต้องถูกเพิกถอนเนื่องจากผลแห่งการกระทำของนายชนะเอง จำเลยที่ 3 ที่รับโอนมาในฐานะทายาทที่จะต้องโอนกลับคืนไปตามหน้าที่ที่นายชนะเจ้ามรดกมีอยู่
พิพากษายืน.

Share