คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 723/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ซื้อเพลา รถยนต์ เก่าของกลางจากพ่อค้าซึ่งขายของเก่าโดยสุจริตในตลาดเทศบาลเมืองหาดใหญ่ ของกลางดังกล่าวจึงไม่ใช่สิ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรเจ้าพนักงานของจำเลยไม่มีอำนาจยึดไว้ ต้องคืนแก่เจ้าของ การที่จำเลยยึดของกลางไว้เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนของกลาง จำเลยก็ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบหลักฐานก่อน เพราะโจทก์อ้างว่าของกลางเป็นของที่ซื้อมาจากการขายทอดตลาดก่อนถูกยึดถึง 2 ปี โจทก์ฟ้องเรียกของกลางคืนหลังจากยื่นคำร้องเพียง 1 เดือนเศษ ถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่คืนของกลางให้แก่โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายด่านศุลกากรปัตตานี ซึ่งเป็นหน่วยงานของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ได้จับกุมเพลาท้ายรถยนต์เก่าจำนวน 130 ชุด ซึ่งสินค้าเหล่านี้โจทก์ซื้อมาจากอู่รถยนต์ยืนยงเจริญการช่าง และได้ชำระค่าภาษีศุลกากรแล้ว โจทก์นำสินค้าดังกล่าวไปฝากไว้กับร้านค้าตั้งตงฮั้วและร้านค้าดังกล่าวได้นำไปฝากไว้กับนายวัชรินทร์ คิวดำรงพงษ์ ณ สถานที่ที่ถูกจับ โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 เพื่อขอของกลางคืน และมอบตัวเป็นผู้ต้องหา จนกระทั่งวันที่เสนอคำฟ้องนี้จำเลยและเจ้าพนักงานตำรวจมิได้มีคำสั่งหรือพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ไปในทางใด การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ เพราะจำเลยที่ 2 ที่ 3ไม่มีอำนาจในการยึดถือหรือครอบครองทรัพย์สินของโจทก์ไว้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์สามารถจำหน่ายสินค้าเหล่านั้นได้ในราคา 200,000 บาท ขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 คืนของกลางที่ยึดไว้แก่โจทก์ ในกรณีที่ไม่คืนของกลางให้จำเลยร่วมกันหรือแทนกันชำระหรือชดเชยราคาสินค้า คือราคาค่าเพลารถยนต์เป็นเงิน 200,000 บาทแก่โจทก์ ให้จำเลยร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าดอกเบี้ยในจำนวนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 8พฤศจิกายน 2527 จนกว่าจะปฏิบัติตามคำพิพากษา
จำเลยทั้งสามให้การว่า ทรัพย์พิพาทเป็นของที่ผลิตในต่างประเทศโจทก์จะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่พิพาทหรือไม่จำเลยไม่ทราบและไม่รับรอง ขณะที่จำเลยตรวจค้นยึดได้ทรัพย์พิพาท ทรัพย์ดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่นที่จังหวัดยะลา โจทก์มิได้มีพยานหลักฐานอันใดมาแสดงว่าทรัพย์พิพาทนั้นได้ชำระค่าภาษีศุลกากรโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้รับแจ้งว่ามีสินค้าทรัพย์ที่พิพาทซึ่งยังไม่ได้ชำระค่าภาษีศุลกากรซุกซ่อนอยู่ จึงร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นและพบทรัพย์ที่พิพาทที่โรงอิฐของนายวัชรินทร์ คิวดำรงพงษ์ จึงแจ้งข้อหานายวัชรินทร์ว่า ช่วยพาเอาไปเสีย รับไว้ซึ่งทรัพย์ที่พิพาทซึ่งมีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้ผ่านด่านศุลกากร และมิได้เสียภาษีอากรตามกฎหมาย นายวัชรินทร์ให้การรับสารภาพ และตกลงขอระงับคดี โดยขอยกทรัพย์ที่พิพาทให้ตกเป็นของแผ่นดิน โดยของดเว้นค่าปรับ จำเลยที่ 2 จึงสั่งระงับการดำเนินคดีแก่นายวัชรินทร์ ริบทรัพย์สินพิพาทเป็นของแผ่นดิน ต่อมาโจทก์เข้ามอบตัวและยื่นคำร้องขอคืนทรัพย์ที่พิพาทอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์โดยซื้อมาจากอู่ยืนยงเจริญการช่าง ซึ่งซื้อทรัพย์ที่พิพาทมาจากการขายทอดตลาดของด่านศุลกากรจังหวัดสงขลา จำเลยกำลังตรวจสอบอยู่ไม่ได้ละเว้นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และจำเลยกระทำการไปโดยสุจริตโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่โจทก์ด่วนมาฟ้องจำเลยทั้งสามก่อน โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 340,000 บาท(ค่าขายของกลาง) แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 200,000 บาท จากวันที่ 9กุมภาพันธ์ 2528 ไปถึงวันที่ 22 กันยายน 2528 ให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 340,000 บาท นับแต่วันที่23 กันยายน 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของเพลารถยนต์ของกลาง ของกลางดังกล่าวโจทก์ซื้อมาจากนายพรชัยพ่อค้าซึ่งขายของเก่าโดยสุจริตในตลาดเทศบาลเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จึงไม่เป็นสิ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรเจ้าพนักงานย่อมไม่มีอำนาจยึดไว้ ที่นายวัชรินทร์ยกของกลางดังกล่าวให้เป็นของแผ่นดินนั้น นายวัชรินทร์ไม่ได้เป็นเจ้าของจึงไม่มีอำนาจยกของกลางให้ตกเป็นของแผ่นดิน จำเลยที่ 2 จึงครอบครองของกลางไว้แทนเจ้าของที่แท้จริงตามหน้าที่ทางราชการเท่านั้น ปรากฏว่าการที่จำเลยยึดของกลางดังกล่าวไว้เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนของกลาง จำเลยก็ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบหลักฐานก่อน เพราะโจทก์อ้างว่าของกลางเป็นของที่ซื้อมาจากการขายทอดตลาดของด่านศุลกากรสงขลาก่อนถูกยึดถึง 2 ปี โจทก์ฟ้องเรียกของกลางคืนหลังจากยื่นคำร้องเพียง 1 เดือนเศษ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่คืนของกลางให้แก่โจทก์ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าของกลางที่ยึดไว้เป็นของโจทก์และไม่ใช่สิ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร จำเลยจึงต้องคืนของกลางดังกล่าวให้แก่โจทก์ ปรากฎว่าระหว่างการพิจารณาคดีโจทก์ยอมให้จำเลยขายทอดตลาดทรัพย์ของกลางได้เงินจำนวน 340,000 บาท จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าขายสินค้าของกลางแก่โจทก์
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 340,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันอ่านคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จ.

Share