คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6992/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่รถยนต์เกิดชนกัน ม.และจำเลยได้ทำบันทึกตกลงต่อหน้าพนักงานสอบสวนว่า แต่ละฝ่ายจะนำรถของตนไปซ่อมเองโดย ม. จะให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรับไปดำเนินการซ่อมและไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายกันอีกต่อไป แสดงว่า ม. เจ้าของรถยังมีความประสงค์ที่จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่รถของตนได้รับโดยให้ผู้รับประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบ จึงไม่เป็นข้อตกลงในการระงับข้อพิพาทให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามลักษณะของสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ทำให้การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสิ้นสุดลง และไม่ใช่การสละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน เป็นแต่เพียงการเปลี่ยนตัวผู้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเท่านั้นเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้จัดการซ่อมรถคันที่เอาประกันภัย โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ชดใช้ไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
เหตุที่รถชนกันเกิดความเสียหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของทั้งจำเลยและ ม. ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ม. จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย และโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถของ ม. ย่อมไม่สามารถรับช่วงสิทธิจาก ม. เรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 95,234.62 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 91,100 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย 1,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นผู้รับประกันวินาศภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7 ว – 4269 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถของนายมงคล ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน น – 6019 ชัยนาท เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2537 เวลาประมาณ 12.40 นาฬิกา นายมงคลและจำเลยต่างขับรถของตนไปตามถนนพหลโยธินโดยนายมงคลขับรถจากทางจังหวัดนครสวรรค์มุ่งหน้าไปทางจังหวัดชัยนาทส่วนจำเลยขับรถมาจากจังหวัดชัยนาท เมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุรถยนต์ทั้งสองคันเกิดชนกันได้รับความเสียหาย หลังเกิดเหตุทั้งสองพากันไปที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอมโนรมย์ เพื่อตกลงกันในเรื่องค่าเสียหายต่อหน้าพนักงานสอบสวนโดยคู่กรณีตกลงกันให้แต่ละฝ่ายนำรถของตนไปซ่อมเอง คู่กรณีพอใจและไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อไป
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์ผู้รับประกันภัยในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของนายมงคลจะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า กรณีที่รถยนต์เกิดชนกันในครั้งนี้นายมงคลและจำเลยได้ทำบันทึกตกลงกันต่อหน้าพนักงานสอบสวนว่า แต่ละฝ่ายจะนำรถของตนไปซ่อมเอง โดยนายมงคลจะให้บริษัทนำสินประกันภัย จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7 จ – 4269 กรุงเทพมหานคร รับไปดำเนินการ ส่วนนายย้อนจะนำรถของตนเองไปซ่อมเองและไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกันอีกต่อไป การที่นายมงคลและจำเลยตกลงกันดังกล่าวเพราะเหตุที่รถมีประกันภัย แสดงว่านายมงคลเจ้าของรถยังไม่ประสงค์ที่จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่รถของตนได้รับโดยให้ผู้รับประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบ เพียงแต่เจ้าของรถไม่ต้องดำเนินการในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนด้วยตนเองเท่านั้น จึงไม่เป็นข้อตกลงในการระงับข้อพิพาทให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามลักษณะของสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ทำให้การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสิ้นสุดลง และไม่ใช่การสละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นแต่เพียงการเปลี่ยนตัวผู้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าเจ้าของรถสละสิทธิเรียกร้องในการที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้จัดการซ่อมรถ รถคันหมายเลขทะเบียน 7 ว – 4269 กรุงเทพมหานคร อันเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย และไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือตัวแทนได้ลงชื่อร่วมตกลงด้วยแต่อย่างใด โจทก์ซึ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยสุจริตจึงไม่ทำให้การรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยต้องเสียไป โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ชดใช้ไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
สำหรับปัญหาที่ว่า เหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า จำเลยซึ่งขับรถจะเลี้ยวขวาในทางร่วมทางแยกมีหน้าที่ต้องให้รถที่สวนมาในทางเดินรถทางเดียวกันผ่านทางร่วมทางแยกไปก่อนเมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงให้เลี้ยวขวาไปได้ ดังนั้น การที่จำเลยขับรถเลี้ยวขวาไปในสี่แยกที่เกิดเหตุแล้วถูกรถคันที่นายมงคลขับซึ่งเป็นรถทางตรงที่แล่นสวนทางมาพุ่งชนในขณะที่รถคันที่จำเลยขับยังเลี้ยวไม่พ้นทางแยก แสดงว่าขณะจำเลยขับรถเลี้ยวขวานั้น รถที่นายมงคลขับแล่นมาใกล้จะถึงสี่แยกที่เกิดเหตุแล้ว ไม่ใช่อยู่ห่างออกไปประมาณ 200 เมตร ดังที่จำเลยเบิกความ มิฉะนั้นแล้วรถของจำเลยก็จะสามารถแล่นเลี้ยวขวาพ้นทางแยกไปก่อนที่รถของนายมงคลจะแล่นถึงสี่แยกที่เกิดเหตุ เหตุรถชนกันครั้งนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น เห็นได้ว่า จำเลยซึ่งขับรถจะเลี้ยวขวาในทางแยกมิได้ใช้ความระมัดระวังรอให้รถที่นายมงคลขับแล่นผ่านไปก่อนจึงจะขับรถเลี้ยวขวาไป เหตุรถชนกันครั้งนี้จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย อย่างไรก็ตาม การที่นายมงคลขับรถด้วยความเร็วสูงถึง 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และได้ความจากรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุพบรอยเบรกของรถคันที่นายมงคลขับมีความยาวถึง 27 เมตร จากจุดที่รถชนกันถึงจุดเริ่มต้นเบรก แสดงว่า ขณะที่นายมงคลขับรถจะถึงสี่แยกที่เกิดเหตุก็ใช้ความเร็วสูงโดยมิได้ชะลอความเร็วของรถลง ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของนายมงคลพยานโจทก์ ตัวจำเลยและนายเฉลียว พยานจำเลยซึ่งนั่งมาในรถของจำเลยในขณะเกิดเหตุว่า ขณะนายมงคลขับรถจะถึงสี่แยกที่เกิดเหตุได้ขับรถแซงรถคันหน้า และเมื่อเห็นว่ามีรถแล่นสวนทางมาจึงหักรถกลับเข้าช่องเดินรถเดิม เป็นเหตุให้รถคันดังกล่าวพุ่งชนรถของจำเลย เหตุรถชนจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายมงคลด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงของความประมาทเลินเล่อของจำเลยและนายมงคลที่ก่อให้เกิดความเสียหายอันจะเป็นผลในการกำหนดความรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคแรก ประกอบมาตรา 442 แล้ว เห็นว่า เหตุที่รถชนกันเกิดความเสียหายครั้งนี้เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของทั้งจำเลยและนายมงคลไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เมื่อเป็นดังนี้ นายมงคลจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย และโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถของนายมงคล ย่อมไม่สามารถรับช่วงสิทธิจากนายมงคลเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share