แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ภาพยนตร์ที่โจทก์สร้างโจทก์สามารถนำไปฉายหาผลประโยชน์ได้ทั่วประเทศ แม้ฟิล์มภาพยนตร์ที่โจทก์ฉายหารายได้แล้วครั้งแรกหรือที่เรียกว่ากากหนังจะมีค่าหรือราคาลดน้อยลงไป แต่ภาพยนตร์หรือฟิล์มภาพยนตร์นั้นยังคงเป็นทรัพย์สินและเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อยู่ การสร้างภาพยนตร์ของโจทก์เพื่อนำออกฉายหารายได้จากผู้ชมซึ่งได้ชมภาพและฟังเสียงของภาพยนตร์ชั่วระยะเวลาอันสั้นหาได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในภาพยนตร์นั้นแต่ประการใด กิจการของโจทก์จึงไม่เข้าลักษณะซื้อขายสินค้า รายจ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์เสียไปเนื่องจากการสร้างภาพยนตร์ จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (5).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานของจำเลยแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 – ปี 2527 รวมเป็นเงิน 10,100,125 บาท โดยอ้างว่าโจทก์นำต้นทุนการสร้างภาพยนตร์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีมาหักเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นการต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(5)โจทก์จะต้องนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของต้นทุนการสร้างภาพยนตร์ เพราะถือว่าภาพยนตร์นั้นเป็นทรัพย์สิน และโดยสภาพของทรัพย์สินย่อมสึกหรอหรือเสื่อมราคาได้ ตามมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 โจทก์เห็นว่า การประเมินไม่ถูกต้อง เนื่องจากการสร้างภาพยนตร์ต้องมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆอันได้แก่ค่าฟิล์ม ค่าจ้างนักแสดง ค่าล้าง ค่าอัดฟิล์ม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ต้องใช้ในการสร้างจนกระทั่งสำเร็จออกมาเป็นภาพยนตร์สามารถนำออกฉายหารายได้ และหลังจากที่ได้นำออกฉายแล้วฟิล์มภาพยนตร์นั้นจะมีสภาพเป็นกากหนัง ไม่มีมูลค่าไม่อาจนำออกฉายได้อีกต่อไป ดังนั้นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์ได้จ่ายไปในการสร้างภาพยนตร์ จึงเป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาหักได้ทั้งหมดโจทก์จึงได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณา อุทธรณ์ และคณะกรรมการดังกล่าวได้วินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้ว ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การประกอบธุรกิจสร้างภาพยนตร์ของโจทก์กว่าจะนำภาพยนตร์ออกฉายเพื่อให้มีรายได้เข้ามานั้น มีรายจ่ายหลายขั้นตอนและจำนวนมิใช่น้อยเริ่มตั้งแต่ค่าบทประพันธ์ค่าตัวนักแสดง ค่าใช้จ่ายในการสร้างค่าฟิล์มและรูป ค่าล้างฟิล์มและอัดก๊อบปี้ ค่าอาหารและที่พักนักแสดงค่าเครื่องแต่งตัวนักแสดง ค่าบันทึกเสียงและค่าพากย์ รวมทั้งค่าภาษีศุลกากร ปัญหาคงมีว่า ภาพยนตร์ที่โจทก์สร้างขึ้นมานี้เป็นทรัพย์สินและสินค้าของโจทก์หรือไม่ และรายจ่ายในการสร้างภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นรายจ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65ตรี(5) หรือไม่
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยประเด็นข้อนี้โดยที่ประชุมใหญ่ว่า เมื่อโจทก์สร้างภาพยนตร์เสร็จแล้ว โจทก์ก็สามารถนำภาพยนตร์ดังกล่าวไปฉายหาผลประโยชน์ได้ทั่วประเทศ แม้ฟิล์มภาพยนตร์ที่โจทก์ฉายหารายได้แล้วครั้งแรกหรือที่เรียกว่ากากหนัง จะมีค่าหรือราคาลดน้อยลงไป แต่ภาพยนตร์หรือฟิล์มภาพยนตร์นั้นยังคงเป็นทรัพย์สินและเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อยู่ เพราะโจทก์ยังสามารถนำออกฉายหาผลประโยชน์ให้โจทก์หรือขายขาดให้บุคคลอื่นต่อไปได้อีกหาได้เสื่อมค่าหมดไปดังที่โจทก์อุทธรณ์ ไม่ โจทก์จะนำภาพยนตร์หรือฟิล์มภาพยนตร์ของโจทก์ไปเปรียบเทียบกับการผลิตสินค้าทั่วไปและถือว่าภาพยนตร์หรือฟิล์มภาพยนตร์ของโจทก์เป็นสินค้าของโจทก์ด้วยไม่ได้ เพราะวัตถุประสงค์ที่โจทก์สร้างภาพยนตร์ขึ้นมาก็เพื่อนำออกฉายหารายได้จากผู้เข้าชมซึ่งมาหาความบันเทิง ผู้ชมภาพยนตร์เพียงแต่ได้ชมภาพและฟังเสียงของภาพยนตร์ชั่วระยะเวลาอันสั้น โดยเสียเงินค่าตอบแทน หาได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในภาพยนตร์นั้นแต่ประการใด โจทก์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในภาพยนตร์หรือฟิล์มภาพยนตร์นั้นอยู่เช่นเดิมกิจการของโจทก์จึงไม่เข้าลักษณะซื้อขายสินค้า ฉะนั้นรายจ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์เสียไปเนื่องจากการสร้างภาพยนตร์ จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี(5)
พิพากษายืน.