คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 322/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้เงินกู้ให้โจทก์ภายในอายุความอายุความฟ้องเรียกเงินกู้สะดุดหยุดลงต้องเริ่มนับอายุความกันใหม่ตั้งแต่วันสิ้นกำหนดเวลาที่จำเลยทำสัญญาว่า จะนำเงินมาชำระหนี้โจทก์เมื่อหนี้เงินต้นยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ผู้รับจำนองจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปีได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 189

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 12กันยายน 2517 จำนวน 100,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุกเดือน และได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5393 พร้อมตึกแถวของจำเลยเป็นประกัน ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม 2521 จำเลยได้ทำสัญญาเพิ่มเงินกู้และจำนองอีก 180,000 บาท รวมเป็นเงินกู้ 280,000บาท จำเลยไม่ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2527รวมเป็นเงินกู้และดอกเบี้ยค้างชำระ 592,141.66 บาท ต่อมาวันที่22 สิงหาคม 2527 จำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้สัญญาว่าจะชำระหนี้ทั้งหมดภายในวันที่ 12 กันยายน 2528 ถึงกำหนดจำเลยไม่ชำระ รวมเป็นดอกเบี้ยนับจากวันรับสภาพหนี้ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 104,766.66 บาท ให้จำเลยชำระหนี้รวม 696,908.32 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 280,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ มิฉะนั้นให้บังคับจำนอง
จำเลยให้การว่า ได้ทำสัญญากู้และจำนองจริง แต่โจทก์เรียกดอกเบี้ยเกิน 5 ปี ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 189ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยใช้เงินต้น 280,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2521เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองเอาที่ดินและตึกแถวที่จำนองขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนกว่าจะครบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2521 เป็นต้นไปหรือไม่ ฟังได้ว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2517จำนวน 100,000 บาท ครั้งหลังวันที่ 9 สิงหาคม 2521 จำนวน 180,000บาท โดยจำนองที่ดินและตึกแถวไว้เป็นประกัน กำหนดไถ่ถอนแต่ละรายภายใน 1 ปี ดังนี้ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้แต่ละรายตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2518 และวันที่ 9 สิงหาคม 2522ตามลำดับ อายุความเรียกเงินกู้มีกำหนดเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 โจทก์จึงต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินกู้ภายในวันที่ 12 กันยายน 2528 และ 9 สิงหาคม 2532 ตามลำดับแต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2527 จำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ทั้งสองจำนวนนี้ไว้ภายในอายุความ มีผลให้อายุความฟ้องเรียกเงินกู้ทั้งสองจำนวนสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความกันใหม่ตั้งแต่เวลาเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดไปคือวันสิ้นกำหนดเวลาที่จำเลยสัญญาว่าจะนำเงินมาชำระหนี้ ซึ่งจำเลยสัญญาว่าจะนำเงินมาชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 12 กันยายน 2528จึงถือว่าเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดลงในวันดังกล่าวต้องนับอายุความ 10 ปีใหม่ ตั้งแต่วันนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 181 วรรคสอง ฉะนั้นอายุความ 10 ปี จึงครบกำหนดในวันที่ 12 กันยายน 2538 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์2530 จึงยังไม่ขาดอายุความ กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 189 ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้เดิมขาดอายุความแล้ว เป็นเหตุให้ไม่อาจใช้สิทธิฟ้องเรียกชำระหนี้ได้ แต่เจ้าหนี้ยังมีสิทธิฟ้องบังคับเอาจากทรัพย์สินที่รับจำนองได้ ซึ่งในกรณีเช่นนั้นกฎหมายห้ามมิให้เรียกดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี…”
พิพากษายืน

Share