คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1684/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจสอบสวนในเรื่องหนี้สินเมื่อยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยกล่าวอ้างว่าเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้หน้าที่ในการพิสูจน์ตามข้ออ้างย่อมตกเป็นของเจ้าหนี้ที่จะต้องนำพยานหลักฐานมาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนเพื่อแสดงถึงมูลหนี้ตามที่กล่าวอ้าง เมื่อเจ้าหนี้มิได้ส่งหลักฐานการซื้อขายที่ดินตามที่อ้างโดยแถลงอ้างพยานบุคคลเพียงผู้เดียว ดังนี้ เป็นเรื่องอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหนี้ในการเสนอพยานหลักฐานมิใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะต้องมีหมายเรียกพยานหลักฐานดังกล่าวมาด้วยตนเอง การขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย เจ้าหนี้ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจสอบสวนในเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระ แล้วทำความเห็นเสนอศาลและศาลมีอำนาจพิจารณาสั่งตามกฎหมายต่อไป ดังนั้น แม้หนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาหรือหนี้ที่เป็นมูลให้ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ก็ไม่ผูกพันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลให้จำต้องถือตาม

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจาก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้(จำเลย)เด็ดขาด เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่าเจ้าหนี้มีสิทธิจะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้หรือไม่เพียงใด
พิเคราะห์แล้วศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เจ้าหนี้อ้างว่าลูกหนี้กู้ยืมเงินเจ้าหนี้ไปเป็นจำนวนถึง 1,300,000 บาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการให้ลูกหนี้ดำเนินการหาหลักประกันที่มั่นคง เช่นการจำนองทรัพย์สินหรือที่ดินอันจะก่อให้เกิดสิทธิพิเศษหรือบุริมสิทธิใด ๆ ในทรัพย์สินดังกล่าว แม้จะปรากฏตามบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญากู้ว่าการครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวของผู้กู้นับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป ให้ถือว่าเป็นการครอบครองแทนผู้ให้กู้ตลอดไปจนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้ตามสัญญาให้แก่ผู้ให้กู้ครบก่อนก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่า เป็นการครอบครองแทนชั่วคราวในระหว่างที่ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้เท่านั้น ทั้งที่ดินแปลงดังกล่าวจะมีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิการเป็นเจ้าของหรือสิทธิครอบครองอย่างใดก็ไม่ปรากฏจึงถือไม่ได้ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นหลักประกันอันมั่นคงที่เจ้าหนี้จะพึงบังคับได้เมื่อลูกหนี้ปฏิบัติผิดสัญญา ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่เจ้าหนี้ให้ลูกหนี้กู้เงินจำนวนมากโดยไม่มีการประกันด้วยทรัพย์หรือมีบุคคลค้ำประกันเป็นข้อพิรุธอย่างยิ่งนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของเจ้าหนี้ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
เจ้าหนี้ฎีกาต่อมาว่า ที่เจ้าหนี้ไม่ได้นำหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า เจ้าหนี้มีเงินที่ได้จากการขายที่ดินของเจ้าหนี้พอที่จะให้ลูกหนี้กู้ยืมได้ ก็ด้วยเหตุที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้สอบถามหรือแสดงความสงสัยในข้อนี้ซึ่งหากมีความสงสัยหรือต้องการหลักฐานเพิ่มเติมเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจออกหมายเรียกมาได้เองนั้นศาลฎีกาเห็นว่า แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจสอบสวนในเรื่องหนี้สินก็ตามแต่เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยกล่าวอ้างว่า ตนเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้ หน้าที่ในการพิสูจน์ตามข้ออ้างย่อมตกเป็นของเจ้าหนี้ที่จะต้องนำพยานหลักฐานมาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนเพื่อแสดงถึงมูลหนี้ตามที่กล่าวอ้างมิใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะต้องมีหมายเรียกพยานหลักฐานต่าง ๆ มาด้วยตนเองไม่ เมื่อปรากฏตามรายงานการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ผู้รับมอบอำนาจได้มาแถลงอ้างเจ้าหนี้เป็นพยานในการสอบสวนเพียงผู้เดียว แล้วแถลงหมดพยานโดยมิได้ส่งหลักฐานการซื้อขายที่ดินของเจ้าหนี้ดังข้ออ้าง ย่อมเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหนี้ในการเสนอหลักฐานหาใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังที่เจ้าหนี้ฎีกาไม่ฎีกาข้อนี้ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น
เจ้าหนี้ฎีกาต่อมาว่า ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตั้งข้อสงสัยในการทำสัญญากู้เงินและส่งมอบเงินที่กู้กันโดยมิได้มีการผ่านธนาคารพาณิชย์เป็นข้อผิดวิสัย แล้วเชื่อว่าไม่มีการมอบเงินกันเป็นแต่เพียงความเห็นลอย ๆ ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้นเห็นว่าข้อผิดปกติวิสัยดังกล่าวเป็นพฤติการณ์เกี่ยวกับการทำสัญญากู้และส่งมอบเงินที่กู้เมื่อนำมาพิเคราะห์ประกอบกับเหตุอื่น ๆ แล้วเชื่อได้ว่าไม่มีการมอบเงินกัน หาใช่เป็นแต่เพียงความเห็นลอย ๆ ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ ฎีกาของเจ้าหนี้ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนที่เจ้าหนี้ฎีกาว่า แม้ตามสัญญากู้ยืมจะมิได้ระบุข้อความในเรื่องอัตราดอกเบี้ยไว้ แต่ก็ถือได้ว่า เป็นการชำระต้นเงินและดอกเบี้ยทุกเดือน นั้น เห็นว่าตามหนังสือสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.1 ไม่ได้ระบุดอกเบี้ยไว้ ทั้งเจ้าหนี้ยังได้ให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ไม่ได้คิดดอกเบี้ย การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่าการกู้เงินรายนี้ไม่มีดอกเบี้ย จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงที่ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาข้อนี้ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น
เจ้าหนี้ฎีกาในประการสุดท้ายว่า เมื่อคดีนี้ถึงที่สุด โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว ก็เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเชื่อพยานหลักฐานของเจ้าหนี้ว่า การกู้ยืมระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้มีมูลหนี้ต่อกันการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นในทางปฏิเสธมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจึงไม่ถูกต้อง นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย เจ้าหนี้ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ก็ตาม จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 91 ในการนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจสอบสวนในเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระ แล้วทำความเห็นเสนอศาลตามมาตรา 105 และศาลมีอำนาจพิจารณาสั่งตามมาตรา 106, 107และ 108 ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาลดังกล่าวมา เห็นได้ว่า แม้หนี้ที่ขอรับชำระจะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาหรือหนี้ที่เป็นมูลให้ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เช่นหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้ก็ตามก็หาผูกพันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลให้จำต้องถือตามไม่ ฎีกาของเจ้าหนี้ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า หนี้ตามคำขอรับชำระหนี้รายหนี้ไม่มีมูลหนี้และมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของเจ้าหนี้ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share