แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 3 วรรคสอง บัญญัติว่าบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน ดังนั้น การที่โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ จึงไม่ใช่เป็นการออกจากงานตามความในมาตรา 33 ทวิแห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ที่บัญญัติให้พนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์เป็นอันพ้นจากตำแหน่ง แต่เป็นกรณีออกจากงานตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518มาตรา 9,11 ที่ว่าพนักงานของ รัฐวิสาหกิจจะต้องมีอายุไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ หากอายุเกินก็ขาดคุณสมบัติต้องพ้นจากตำแหน่งไปเท่านั้น ซึ่งตามมาตรา 11 ที่บัญญัติให้พนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์พ้นจากตำแหน่งนั้น มีความหมายว่าเมื่อพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ใดมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์อันเป็นการขาดคุณสมบัติแล้ว ก็ให้รัฐวิสาหกิจนั้นดำเนินการให้ผู้นั้นออกจากงานดังนั้น เมื่อจำเลยผู้เป็นนายจ้างดำเนินการให้โจทก์ออกจากงานเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46.
ย่อยาว
โจทก์ทั้งยี่สิบแปดสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งยี่สิบแปดเป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบแปดเพราะเหตุเกษียณอายุ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งยี่สิบแปด และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ที่ 16 พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การต่อสู้คดี
วันนัดพิจารณา โจทก์ที่ 16 ไม่ติดใจเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งยี่สิบแปด
จำเลยทั้งยี่สิบแปดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ทั้งยี่สิบแปดออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ เป็นการออกจากงานตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 33 ทวิ โดยบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้พนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้วเป็นอันพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบหกสิบปี บริบูรณ์อันเป็นการออกจากงานโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นการเลิกจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ46 เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 3 วรรคสองบัญญัติว่า บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้ พระราชบัญญัตินี้แทน ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งยี่สิบแปดออกจากงาน เพราะเหตุเกษียณอายุจึงหาใช่เป็นการออกจากงานตามความในมาตรา 33 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ไม่ แต่เป็นกรณี การออกจากงานตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9, 11 ที่ว่า พนักงานของรัฐวิสาหกิจจะต้องมีอายุไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ หากอายุเกินก็ขาดคุณสมบัติต้องพ้นจากตำแหน่งไปเท่านั้น ซึ่งตามมาตรา 11 ที่บัญญัติให้พนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์พ้นจากตำแหน่งนั้น มีความหมายว่าเมื่อพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ใดมีอายุหกสิบปีบริบูรณ์อันเป็นการขาดคุณสมบัติแล้ว ก็ให้รัฐวิสาหกิจนั้นดำเนินการให้ผู้นั้นออกจากงาน ดังนั้น เมื่อจำเลยผู้เป็นนายจ้างดำเนินการให้โจทก์ทั้งยี่สิบแปดออกจากงานเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46
พิพากษายืน.