แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของศาลโดยสุจริต แม้ภายหลังโจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินที่แท้จริง จะขอนำสืบพิสูจน์ว่าที่ดินพิพาทมิใช่ของจำเลยที่ 3 ก็ไม่อาจทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ซื้อทรัพย์นั้นเสียสิทธิไปถ้าจำเลยที่ 2 สุจริต โจทก์มิได้นำสืบว่าจำเลยที่ 2 ไม่สุจริตอย่างไร ดังนั้น โจทก์ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่แจ้ง จะอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 ขอให้บังคับให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้ราคาที่ดินพิพาท หาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดิน ๑ แปลง เนื้อที่ประมาณ ๒๕ ไร่ โจทก์ได้แจ้งการครอบครองไว้ตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๒๖ โจทก์ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่และทางราชการได้รังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน (น.ส.๓) ให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ ๓ กับสามีมาเป็นลูกจ้างโจทก์ โจทก์ได้ให้อยู่ในขนำซึ่งโจทก์สร้างไว้สำหรับลูกจ้างพักอาศัย จำเลยที่ ๑ ฟ้องจำเลยที่ ๓ เรื่องผิดสัญญาเงินกู้ก่อนมาเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยที่ ๑ นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของโจทก์บางส่วน ๑ แปลง เนื้อที่ ๔ ไร่ ขายทอดตลาด โดยจำเลยที่๑ อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ ๓ และรับรองว่าถ้าเกิดผิดพลาดเสียหายจำเลยที่ ๑ ยอมรับผิด จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ประมูลได้ จำเลยทั้งสามรู้จักกันดีเพราะอยู่ตำบลเดียวกันและทราบก่อนแล้วว่าทรัพย์ที่ยึดและขายทอดตลาดนั้นเป็นของโจทก์ จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันปิดบังซ่อนเร้นการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาด ไม่แจ้งให้โจทก์ทราบเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้ศาลหลงผิด ขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์ การขายทอดตลาดไม่สมบูรณ์ เป็นโมฆะ เพราะหลงผิดในสารสำคัญ จำเลยที่ ๒ ไม่ได้สิทธิบนทรัพย์ที่ซื้อ ที่ดินที่ขายทอดตลาดเป็นที่ดินมือเปล่าโอนสิทธิไม่ได้ ทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์ จำเลยที่ ๓ ไม่ทราบกำหนดวันขายทอดตลาด การขายทอดตลาดจึงไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์ ต่อมาจำเลยที่ ๓ มาศาล โจทก์ได้คัดค้านต่อศาลและจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ว่าที่ดินที่ยึดเป็นของโจทก์ จำเลยที่ ๒ ตกลงกับจำเลยที่ ๓ ว่าให้จำเลยที่ ๓ หาเงินมาคืนให้จำเลยที่ ๒ โดยให้จำเลยที่ ๓ ถอนเงินที่ศาลในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๒๖๗/๒๕๑๘ จำนวน ๗,๐๐๐ บาทเศษไป และให้จำเลยที่ ๓ หาเงินอีก ๕,๐๐๐ บาท ไปมอบให้จำเลยที่ ๒ เมื่อจำเลยที่ ๒ ได้รับเงินแล้ว จะคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์ จำเลยที่ ๓ รับเงินที่ศาลไปแล้วจำเลยที่ ๒ ไม่คืนที่ดินแก่โจทก์ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยท้งสามและบริวารเข้าเกี่ยวข้องให้การขายทอดตลาดในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๒๖๗/๒๕๑๘ เป็นโมฆะ ถ้าไม่อาจเป็นไปได้ ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าที่ดิน ๓๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์และชดใช้ค่าเสียหาย ๑๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ได้ฟ้องจำเลยที่ ๓ ต่อศาลจังหวัดจันทบุรี เรื่องกู้ยืมเงินศาลได้พิพากษาให้จำเลยที่ ๓ ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแก่โจทก์คดีนั้นกับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมค่าทนายความแทน ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๒๖๗/๒๕๑๘ จำเลยที่ ๓ ไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ ๑ จึงร้องขอบังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินพิพาท แล้วให้สามีจำเลยที่ ๓ เป็นผู้รักษาทรัพย์ ศาลจังหวัดจันทบุรีได้ประมูลขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ประมูลได้ในราคา ๑๒,๑๐๐ บาท และได้ชำระเงินต่อศาลจังหวัดจันทบุรีแล้ว การขายทอดตลาดจึงเป็นไปตามระเบียบถูกต้องตามสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์และจำเลยที่ ๓ ทราบเรื่องการขายทอดตลาดนี้เป็นอย่างดี จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ซื้อทรัพย์ที่ประกาศขายทอดตลาดจากศาลโดยเปิดเผยและโดยสุจริต โจทก์ไม่เสียหาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ไม่ยื่นคำให้การ และโจทก์ไม่ได้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การภายในกำหนด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ ๓
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๐ บัญญัติว่า “สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล หรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้น ท่านว่ามิเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้น มิใช่ของจำเลย หรือลูกหนี้โดยคำพิพากษาหรือผู้ล้มละลาย” บทกฎหมายมาตรานี้ จึงเป็นบทบัญญัติที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของศาลโดยสุจริต แม้ภายหลังโจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของที่แท้จริงจะขอนำสืบพิสูจน์ที่ดินพิพาทมิใช่ของจำเลยที่ ๓ ก็ไม่อาจทำให้จำเลยที่ ๒ ผู้ซื้อทรัพย์นั้นเสียสิทธิไปถ้าจำเลยที่ ๒ สุจริต และคดีนี้โจทก์มิได้นำสืบว่าจำเลยที่ ๒ ไม่สุจริตอย่างไร ดังนั้น โจทก์ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง จะอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๐ ขอให้บังคับให้จำเลยที่ ๒ คืน หรือใช้ราคาที่ดินพิพาท หาได้ไม่
พิพากษายืน