คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 235/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.ฎ. จัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยมิได้มีบทมาตราใดกำหนดให้จำเลยรับช่วงโอนกิจการและหนี้สินของบริษัทไทยโทรทัศน์จำกัดมาเป็นของจำเลย คงมีบทบัญญัติกำหนดให้จำเลยพิจารณาบรรจุและแต่งตั้งพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์จำกัดซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับเป็นพนักงานของจำเลยตามที่เห็นสมควร ฉะนั้นตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดให้จำเลยใช้ดุลพินิจ ในการรับพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์จำกัดมาเป็นพนักงานของจำเลยตามที่จำเลยเห็นสมควร ดังนี้โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยในวันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้โจทก์จะมีฐานะเป็นลูกจ้างจำเลยก็ต่อเมื่อจำเลยใช้ดุลพินิจ รับโจทก์เข้าทำงานแล้วการที่โจทก์มิได้แสดงความจำนงขอเข้าทำงานกับจำเลย และจำเลยมิได้พิจารณารับโจทก์เข้าเป็นพนักงานโจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างจำเลยแต่ต้น จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานและเรียกค่าจ้างระหว่างพักงานจากจำเลยในฐานะนายจ้างได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ และเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2520 บริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจ และเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการเกี่ยวกับการสื่อสารมวลชน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์2518 โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพนักงานของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัดตำแหน่งผู้อำนวยการ และหัวหน้าฝ่ายจัดรายการและโฆษณาของสถานีวิทยุกระจายเสียงของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ได้รับค่าจ้างอัตราเดือนละ10,000 บาท เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ. 2519 โจทก์ถูกบริษัทไทยโทรทัศน์จำกัด กล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ และผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ โจทก์ถูกพักงานระหว่างสอบสวนและดำเนินคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ระหว่างที่โจทก์ถูกพักงานดังกล่าว ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 ให้จัดตั้งจำเลยเพื่อรับช่วงและโอนกิจการสื่อสารมวลชนทั้งหมดตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนดให้จำเลยรับโอน บรรจุ และแต่งตั้งพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์จำกัด เป็นพนักงานของจำเลยด้วย ดังนั้น โจทก์ซึ่งยังคงมีฐานะเป็นพนักงานของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด จึงต้องถูกโอนเป็นพนักงานของจำเลยด้วย ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องโจทก์ ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2529 คดีถึงที่สุดเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงชอบที่จะพ้นจากการถูกพักงาน และได้เข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานของจำเลย โจทก์ได้ยื่นหนังสือต่อจำเลยขอกลับเข้าทำงานเป็นพนักงานของจำเลย ในตำแหน่งที่เทียบเท่ากับตำแหน่งเดิมและอัตราค่าจ้างเท่าเดิม และขอรับเงินเดือนซึ่งเป็นค่าจ้างในระหว่างที่ถูกสั่งพักงาน แต่จำเลยได้แจ้งต่อโจทก์ว่า ไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ และหากโจทก์ประสงค์จะเข้าทำงานกับจำเลย ก็ให้โจทก์ยื่นใบสมัครเข้าไปใหม่ เพื่อจำเลยจะได้พิจารณาต่อไป การกระทำของจำเลยถือเป็นการแสดงเจตนาไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน อันเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด จึงขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานเป็นพนักงานของจำเลยในตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งที่เทียบเท่ากับตำแหน่งเดิมในอัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าเดือนละ10,000 บาท และให้จำเลยจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงาน จำนวน 1,650,000บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 8พฤศจิกายน 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 60,000 บาท และจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานดังกล่าว พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวบัญญัติให้จำเลยพิจารณาบรรจุ และแต่งตั้งพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด เป็นพนักงานของจำเลยตามที่เห็นสมควร มิได้บัญญัติให้จำเลยรับพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ทุกคน จำเลยได้ดำเนินการคัดเลือกพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ซึ่งแสดงความจำนงเข้าปฏิบัติงานกับจำเลยเสร็จสิ้นไปแล้ว โจทก์มิได้แสดงความจำนงขอเข้าปฏิบัติงานกับจำเลย และโจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาและถูกบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย ผลการสอบสวนปรากฏว่าโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ส่อไปในทางไม่สุจริต คณะกรรมการของจำเลยจึงมิได้พิจารณาบรรจุโจทก์เข้าเป็นพนักงานของจำเลย จำเลยไม่มีความผูกพันที่จะรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานหรือจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นพนักงานของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2519 บริษัทดังกล่าวได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ แล้วสั่งให้พักงาน ต่อมาได้ดำเนินคดีอาญากับโจทก์ ศาลพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุด ระหว่างที่โจทก์ถูกพักงานได้มีการยุบเลิกบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด แล้วมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520เมื่อมีการจัดตั้งจำเลยแล้ว ได้มีการพิจารณาคัดเลือกพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด เข้าปฏิบัติงานให้จำเลย โจทก์มิได้ยื่นความจำนงขอเข้าปฏิบัติงานจนเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2532โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยขอกลับเข้าทำงานเป็นพนักงานของจำเลยในตำแหน่งที่เทียบเท่าเดิมและอัตราค่าจ้างเดิม โจทก์มิได้ถูกโอนเป็นพนักงานของจำเลยโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2520 และจำเลยมิได้พิจารณารับโจทก์เป็นพนักงานของจำเลย โจทก์จึงไม่มีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520ให้จัดตั้งจำเลยขึ้นเพื่อรับช่วงกิจการรวมตลอดทั้งทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด และมาตรา 37 นั้น กำหนดให้จำเลยต้องรับพนักงานทั้งหมดของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด รวมทั้งโจทก์กลับเข้าเป็นพนักงานของจำเลยแล้วให้ดำรงตำแหน่งตามที่เห็นสมควรและจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานให้กับโจทก์ เห็นว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวคือ เนื่องจากมีความจำเป็นจะต้องจัดกิจการสื่อสารมวลชนของรัฐให้มีความคล่องตัวมีประสิทธิภาพถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นที่เชื่อถือแก่สาธารณชนตามนโยบายของรัฐบาลในการนี้สมควรจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ขึ้น ตามเหตุผลที่ได้ประกาศดังกล่าวนั้นไม่มีกรณีที่เกี่ยวกับการเลิกบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ที่เป็นนายจ้างของโจทก์ และตามบทมาตราต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวก็ไม่มีบทมาตราใดที่จะให้จำเลยรับช่วงโอนกิจการ และหนี้สินของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด มาเป็นของจำเลยดังที่โจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์คงมีบัญญัติไว้ในมาตรา 37 ว่า “ให้ อ.ส.ม.ท. พิจารณาบรรจุและแต่งตั้งพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เป็นพนักงานของ อ.ส.ม.ท.ตามที่เห็นสมควร” ตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้นกฎหมายกำหนดไว้เป็นการให้ดุลพินิจจำเลยในการที่จะรับพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด มาเป็นพนักงานของจำเลยตามที่จำเลยเห็นสมควรกล่าวคือจะรับหรือไม่รับคนใดก็ได้ตามที่เห็นสมควร มิใช่ว่าจะต้องรับทั้งหมดและให้ดำรงตำแหน่งตามที่เห็นสมควรดังที่จำเลยอุทธรณ์โจทก์จึงยังไม่อยู่ในฐานะที่เป็นลูกจ้างของจำเลยในวันที่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งจำเลยมีผลใช้บังคับโจทก์จะมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยก็ต่อเมื่อจำเลยใช้ดุลพินิจรับโจทก์เข้าทำงานตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 37 ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า เมื่อมีการพิจารณารับพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด มาเป็นพนักงานของจำเลยเมื่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งจำเลยมีผลใช้บังคับแล้วนั้น โจทก์มิได้แสดงความจำนงขอเข้าทำงานกับจำเลย และจำเลยก็มิได้พิจารณารับโจทก์เข้ามาเป็นพนักงานของจำเลย โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลย เมื่อโจทก์มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยมาแต่ต้นจึงไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันในอันที่จะฟ้องให้จำเลยต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะฟ้องเรียกร้องเอาค่าจ้างระหว่างพักงานจากจำเลยในฐานะนายจ้างได้ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share