คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 156/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ ม. เจ็บป่วยทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่การงานได้ตามปกติ เป็นเหตุที่เกิดขึ้นตามสภาพของร่างกายโดยธรรมชาติไม่ใช่เกิดจากการกระทำของ ม. แม้ระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 121 ว่าด้วยการแต่งตั้งและการถอนจากตำแหน่งพนักงานธนาคารออมสิน ข้อ 6.1 จะให้อำนาจจำเลยสั่งให้ ม. ออกจากงานหรือสัญญาของผู้เข้าทำงานธนาคารออมสินซึ่ง ม. ทำกับจำเลยข้อ 7. ให้อำนาจจำเลยที่จะถอดถอน ม. ออกจากงานได้ก็ตาม ก็เป็นเพียงข้อกำหนดให้จำเลยเลิกจ้าง ม. ได้เท่านั้น ไม่ใช่ข้อกำหนดว่าม. กระทำความผิด ดังนั้น การที่ ม. ป่วยดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับหรือสัญญาจ้างของจำเลยเมื่อจำเลยเลิกจ้าง ม. จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ ม. เงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้แก่ ม. ตามระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 67 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสินหมวด 2 มีหลักเกณฑ์ในการคำนวณและการจ่ายเงินบำเหน็จแตกต่างจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 ไม่อาจปรับเป็นเงินประเภทหรือจำนวนเดียวกันได้ โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ม. จึงมีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายมาลัย เอี่ยมมันต์ เป็นลูกจ้างจำเลยจำเลยมีคำสั่งปลดนายมาลัยออกจากงาน โดยอ้างว่าป่วยไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ นายมาลัยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน แต่จำเลยไม่จ่ายให้ นายมาลัยถึงแก่กรรมแล้ว ค่าชดเชยจึงเป็นมรดกตกแก่ทายาท โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกจึงฟ้องคดีนี้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เป็นเงิน 93,240 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่าเมื่อนายมาลัยเข้าเป็นลูกจ้างได้ทำสัญญาจ้างมีข้อความระบุว่า หากนายมาลัยหย่อนความสามารถ จำเลยมีสิทธิถอดถอนจากตำแหน่งได้เมื่อนายมาลัยป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงอย่างร้ายแรง จนไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้ จำเลยจึงได้ปลดนายมาลัยออกจากงานซึ่งเป็นไปตามระเบียบของจำเลย ฉบับที่ 121 ข้อ 6.1จำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จจำนวน 543,900 บาท ตามระเบียบของจำเลยฉบับที่ 67 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน ให้นายมาลัยไปแล้วซึ่งมีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชย ซึ่งถือเป็นการจ่ายค่าชดเชยแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การที่นายมาลัย เอี่ยมมันต์เจ็บป่วยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่การงานได้ตามปกติ เป็นเหตุที่เกิดขึ้นตามสภาพร่างกายโดยธรรมชาติ ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือสัญญาจ้าง เมื่อจำเลยเลิกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้ไปแล้วไม่ใช่ค่าชดเชย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 93,240 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าการที่นายมาลัย เอี่ยมมันต์ ป่วยจนไม่สามารถปฏิบัติงานให้แก่จำเลยได้ตามสัญญาจ้าง ถือว่านายมาลัยฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับอย่างร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเห็นว่า การที่นายมาลัยเจ็บป่วยทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่การงานได้ตามปกตินั้นเป็นเหตุที่เกิดขึ้นตามสภาพของร่างกายโดยธรรมชาติ ไม่ใช่เกิดจากการกระทำของนายมาลัย แม้ระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 121 ว่าด้วยการแต่งตั้งและการถอนจากตำแหน่งพนักงานธนาคารออมสิน ข้อ 6.1 จะให้อำนาจจำเลยสั่งให้นายมาลัยออกจากงาน หรือสัญญาของผู้เข้าทำงานธนาคารออมสินซึ่งนายมาลัยทำกับจำเลยข้อ 7 ให้อำนาจจำเลยที่จะถอนถอนนายมาลัยออกจากงานได้ก็ตาม ก็เป็นเพียงข้อกำหนดให้จำเลยเลิกจ้างนายมาลัยได้เท่านั้น ไม่ใช่ข้อกำหนดว่านายมาลัยกระทำความผิดดังนั้น การที่นายมาลัยป่วยดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับหรือสัญญาจ้างของจำเลย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า นายมาลัยได้รับเงินบำเหน็จซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจ่ายคล้ายคลึงและมีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยไปแล้วจึงไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าชดเชยอีกนั้น เห็นว่าเงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้แก่นายมาลัย ตามระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 67 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสินหมวด 2 มีวิธีการคิดคำนวณเงินบำเหน็จกำหนดไว้ในข้อ 10 คือให้คำนวณโดยตั้งเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาทำงาน และข้อ 11(1)กำหนดว่าพนักงานที่มีเวลาทำงานต่ำกว่าห้าปีไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ ซึ่งหลักเกณฑ์ในการคำนวณและการจ่ายเงินบำเหน็จดังกล่าวแตกต่างจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ไม่อาจแปรปรับเป็นเงินประเภทหรือจำนวนเดียวกันได้ โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายมาลัยจึงมีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยได้”
พิพากษายืน

Share