คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1206/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมเป็นคู่สัญญากับกรมสรรพสามิตในการรับเหมาก่อสร้างโรงงานต้มกลั่นสุรา. และในการนี้ได้จ้างเหมาจำเลยให้ทำประตูเหล็กยึดและบังตาหน้าต่างเหล็กของโรงงานนี้อีกทอดหนึ่ง. แต่แล้วกลับบิดพลิ้วไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้างเหมาให้แก่จำเลย. ดังนั้นการที่จำเลยมีหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีกรมสรรพสามิตเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยยังมิได้รับเงินรายนี้. ซึ่งมีข้อความหาว่าโจทก์ร่วมกระทำการโดยไม่สุจริตเพื่อระงับข้อพิพาท. กรณีจึงถือได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม. อันไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจนำข้อความร้องเรียนต่ออธิบดีกรมสรรพสามิตซึ่งเป็นเจ้าพนักงานว่า ผู้เสียหายได้ว่าจ้างจำเลยทำประตูเหล็กยืดและบังตาหน้าต่างเหล็ก รวมทั้งติดตั้งเสร็จณ โรงงานต้มกลั่นสุรา จังหวัดสุรินทร์ เป็นเงิน 48,863 บาทเมื่อจำเลยได้ทำและนำไปติดตั้งเสร็จแล้ว ผู้เสียหายบิดพลิ้วไม่ยอมชำระเงินให้ มีพฤติการณ์แสดงว่าไม่สุจริต ซึ่งเป็นความเท็จทั้งสิ้นความจริงผู้เสียหายและจำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ต่อกันเลยในการก่อสร้างโรงงานรายนี้ ผู้เสียหายได้ทำสัญญาจ้างเหมากับนายกุ่ยแซ่ลิ้ม การกระทำของจำเลยทำให้อธิบดีกรมสรรพสามิตหลงเชื่อไม่ยอมรับมอบโรงงานที่ผู้เสียหายสร้างเสร็จแล้วเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย และการกระทำของจำเลยเป็นการใส่ความให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 326, 328, 332 และให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดหรือส่วนสำคัญโดยค่าใช้จ่ายของจำเลย ศาลอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วม จำเลยให้การต่อสู้ว่า ไม่เคยทราบว่าบริษัทผู้เสียหายทำสัญญากับนายกุ่ย แซ่ลิ้ม พฤติการณ์ระหว่างนายกุ่ยกับพนักงานบริษัทผู้เสียหายล้วนแล้วแต่แสดงต่อบุคคลทั่วไปว่า เป็นการกระทำของผู้เสียหายเองทั้งสิ้น การที่จำเลยมีหนังสือร้องเรียนไปยังอธิบดีกรมสรรพสามิตก็เพราะจะใช้สิทธิฟ้องร้องผู้เสียหายทางแพ่งเกี่ยวกับค่าสัมภาระก่อสร้างและอาจต้องฟ้องกรมสรรพสามิตซึ่งเป็นคู่สัญญากับผู้เสียหายด้วย จำเลยมิได้แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและมิได้เจตนาใส่ความหมิ่นประมาทผู้เสียหาย แต่เป็นการกระทำและแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม เพื่อป้องกันตนหรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า อธิบดีกรมสรรพสามิตไม่มีหน้าที่รับแจ้งเรื่องหนี้สินส่วนตัวระหว่างจำเลยกับผู้เสียหาย จึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ แต่ข้อความในหนังสือร้องเรียนมีลักษณะหมิ่นประมาทอยู่ในตัว โดยเจตนาให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังที่จำเลยอ้างว่าจะฟ้องกรมสรรพสามิตด้วยนั้น ก็มิอาจกระทำได้เพราะกรมสรรพสามิตมิใช่คู่สัญญากับจำเลย การกระทำของจำเลยมิใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมหรือป้องกันส่วนได้เสียของตนตามคลองธรรม พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ให้ปรับจำเลย 400 บาท ข้อหาอื่นให้ยก โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษฐานแจ้งความเท็จ ส่วนในข้อหาหมิ่นประมาทขอให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารตามมาตรา 328และสั่งให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องด้วย จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทด้วย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยยืนตามศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์นั้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยมิใช่การกระทำโดยโฆษณา อันจะเข้าบทบัญญัติมาตรา 328 พิพากษายืน แต่ผู้พิพากษาองค์คณะหนึ่งนายทำความเห็นแย้งว่า ศาลควรยกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยเพราะการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเพื่อความชอบธรรมของตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1) จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับแต่ปัญหาข้อกฎหมาย ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันประโยชน์ส่วนได้เสียของตนตามคลองธรรมหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า คำร้องเรียนของจำเลยในเรื่องที่ผู้เสียหายว่าจ้างให้ทำประตูเหล็กยืดและบังตาหน้าต่างเหล็กนี้ โจทก์ก็เพียงแต่โต้แย้งว่าโจทก์มิได้จ้างจำเลยโดยตรงเท่านั้น เมื่อโจทก์ได้รับผลประโยชน์แห่งผลงานของจำเลย โดยจำเลยยังมิได้รับค่าตอบแทนจำเลยจึงมีเหตุสมควรในอันจะร้องเรียนขอความเป็นธรรมและเพื่อระงับข้อพิพาทนั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อความชอบธรรม หรือป้องกันส่วนได้เสียที่เกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329(1) จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท พิพากษาแก้ โดยให้ยกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทด้วย.

Share