คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4116/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

งานหลักของนายจ้างคืองานผลิตต้นคริสต์มาสประดิษฐ์ นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในฝ่ายผลิตต้นคริสต์มาสในสายงานหลักของนายจ้างและลักษณะงานที่ลูกจ้างทำไม่แตกต่างไปจากงานของลูกจ้างที่จ้างไว้ทำตลอดปี กระบวนการผลิตของนายจ้างมีต่อเนื่องกันไปตลอดปีไม่มีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจรเป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการ แต่เป็นงานที่มีลักษณะต่อเนื่องกันไปโดยตลอด ดังนั้นแม้นายจ้างจะให้ลูกจ้างหยุดงานเมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้าง ก็ไม่เป็นเหตุให้ลูกจ้างหมดสิทธิได้รับค่าชดเชย

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณากับคดีอื่นอีกหนึ่งสำนวน ซึ่งโจทก์ถอนฟ้องในระหว่างพิจารณา โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนนี้ว่าโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 4 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลยเข้าทำงานกับจำเลยเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2534 วันที่ 1 เมษายน2534 และไม่ทราบวันที่ เดือนเมษายน 2534 ตามลำดับ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเท่ากันวันละ 100 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15และ 30 ของเดือน ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม 2534 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยไม่ปรากฏสาเหตุ ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จ่ายค่าชดเชยทำให้โจทก์ทั้งสามเสียหาย ไม่มีงานทำตลอดมา ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสามคนละ1,200 บาท จ่ายค่าชดเชยคนละ 3,000 บาท และจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 คนละ 11,000 บาทโจทก์ที่ 4 จำนวน 16,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสามเพราะจำเลยจ้างโจทก์ทั้งสามเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจรเป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการมีการทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้แน่นอน เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลงแล้ว แต่งานยังไม่เสร็จโจทก์ทั้งสามได้ตกลงต่อสัญญาจ้างกับจำเลยอีก รวมระยะเวลาการจ้างทั้งสิ้นไม่เกินระยะเวลาการจ้างตามที่ระบุไว้ในสัญญาฉบับแรกนอกจากนี้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยเป็นสัญญาที่กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน เมื่อระยะเวลาจ้างสิ้นสุดลงสัญญาก็สิ้นสุดลงโดยอัตโนมัติถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างและจำเลยไม่จำต้องบอกกล่าวเลิกสัญญาล่วงหน้า โจทก์ทั้งสามย่อมทราบถึงวันสิ้นสุดการจ้างอยู่แล้ว จำเลยไม่ต้องจ่ายสิ้นจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า งานหลักของจำเลยคืองานผลิตต้นคริสต์มาสประดิษฐ์ จำเลยให้โจทก์ทั้งสามทำงานในฝ่ายผลิตต้นคริสต์มาสซึ่งเป็นงานหลักของจำเลย จึงไม่ใช่งานที่มีลักษณะเป็นครั้งคราวหรือเป็นการจร และไม่ใช่เป็นการผลิตโดยอาศัยพืชผลตามฤดูกาลจึงไม่ใช่งานตามฤดูกาล และไม่เข้าลักษณะงานตามโครงการการที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสามออกจากงานเพราะสัญญาจ้างสิ้นสุดเป็นการเลิกจ้าง โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย จำเลยเลิกจ้างตามกำหนดวันสิ้นสุดของสัญญา จึงไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหาย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสามพร้อมดอกเบี้ย คำขออื่นให้ยก จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า การจ้างโจทก์ทั้งสามได้ทำเป็นหนังสือโดยมีกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้ การที่โจทก์ทั้งสามออกจากงานเมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยดังที่บัญญัติไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคท้าย ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเพราะสัญญาจ้างสิ้นสุดระยะเวลาการจ้างก็ตามประกาศกระทรวง เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคท้ายนั้นจะต้องเป็นการจ้างเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจรเป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการด้วย ดังนั้น ปัญหาวินิจฉัยจึงอยู่ที่ว่า งานที่จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสามทำนั้น เป็นงานที่มีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมา งานหลักของจำเลยคืองานผลิตต้นคริสต์มาสประดิษฐ์ จำเลยให้โจทก์ทั้งสามทำงานในฝ่ายต้นคริสต์มาสในสายงานหลักของจำเลยและลักษณะงานที่โจทก์ทั้งสามทำไม่แตกต่างไปจากงานของลูกจ้างที่จำเลยจ้างไว้ทำตลอดปีกระบวนการผลิตของจำเลยมีต่อเนื่องกันไปตลอดปี จากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาดังกล่าว เห็นได้ว่า ลักษณะของงานที่จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสามทำนั้น ไม่มีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจรเป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการ แต่เป็นงานที่มีลักษณะต่อเนื่องกันไปโดยตลอด ดังนั้น แม้จำเลยจะให้โจทก์ทั้งสามหยุดงานเมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้าง ก็หาเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสามหมดสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่ที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสามจึงชอบแล้วคำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share