คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3678/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ภายหลังจากที่โจทก์ยื่นคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคารพาณิชย์2 ชั้นต่อจำเลยแล้ว ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 10มิถุนายน 2528 กำหนดบริเวณห้ามทำการก่อสร้างอาคารในบริเวณบางส่วนของตำบลป่าตองอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งรวมถึงบริเวณที่โจทก์ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารรายนี้ด้วย ต่อจากนั้นจำเลยจึงได้มีคำสั่งไม่อนุญาต ดังนี้ เมื่ออาคารที่โจทก์ขออนุญาตก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ 2 ชั้นสูงเกิน 5 เมตร ซึ่งต้องห้ามมิให้ก่อสร้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างได้ ถือว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ราชการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้นคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตยืนตามคำสั่งของจำเลย จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ไม่มีเหตุที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนแม้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่เสร็จภายใน60 วัน แต่ก็มิใช่เหตุที่จะทำให้คำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยโดยไม่ได้ให้ตัวจำเลยเข้าสืบก่อนพยานปากอื่น แต่จำเลยเป็นนิติบุคคล พยานจำเลยที่นำเข้าสืบเป็นเจ้าพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาคำร้องของโจทก์ และทนายจำเลยได้แถลงเหตุขัดข้องของพยานที่จะนำเข้าสืบในแต่ละนัดไว้ซึ่งโจทก์ก็มิได้แถลงคัดค้าน ประกอบกับไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดห้ามมิให้นำพยานปากใดเข้าสืบก่อนหลัง การสืบพยานของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2528 โจทก์ยื่นคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคารที่ตำบลป่าตอง อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ตคณะกรรมการสุขาภิบาลออกไปตรวจสอบสถานที่แล้วรายงานให้จำเลยเพื่อดำเนินการพิจารณาอนุมัติ แต่จำเลยมิได้ดำเนินการอย่างใด ต่อมาวันที่ 12 มกราคม 2530 จำเลยเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตว่าเห็นสมควรอนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารได้ เพราะโจทก์ยื่นคำขอก่อนประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับลงวันที่ 10 มิถุนายน 2528 ใช้บังคับครั้นวันที่ 29 มกราคม 2530 จำเลยกลับมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่า ไม่สามารถอนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารได้ เพราะคำขอของโจทก์ต้องห้ามตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2529) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เพราะจำเลยมิได้มีคำสั่งภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่าคำสั่งของจำเลยที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารชอบแล้วโจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้พิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน บุคคลที่ทำหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์ก็มิใช่บุคคลที่กฎหมายกำหนดให้เป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และเป็นบุคคลต้องห้าม ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของประธานกรรมการสุขาภิบาลป่าตอง ฉบับลงวันที่29 มกราคม 2530 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 1/2530 ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในเขตเทศบาลและเขตสุขาภิบาลจังหวัดภูเก็ตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และให้จำเลยอนุญาตให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างอาคารตามคำขอ ฉบับลงวันที่ 29เมษายน 2528 ได้ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า คำสั่งของจำเลยที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารชอบแล้ว เพราะโจทก์ยื่นคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร เมื่อวันที่1 พฤษภาคม 2528 แต่มิได้แนบเอกสารมาครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2528) ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2528) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 คือ ขาดแผนผังบริเวณสถานที่ก่อสร้าง จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบ ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2528 นายภิรมย์ ไกรเสม ตัวแทนโจทก์ได้จัดทำแผนผังแสดงบริเวณก่อสร้างมอบให้เจ้าหน้าที่ของจำเลย จึงถือว่าโจทก์ยื่นขออนุญาตปลูกสร้างอาคารถูกต้องในวันที่ 11 มิถุนายน 2528ซึ่งจำเลยจะต้องตรวจพิจารณาคำขออนุญาตและแจ้งให้โจทก์ทราบภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอคือวันที่ 11 มิถุนายน 2528แต่ต่อมาวันที่ 15 มิถุนายน 2528 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดบริเวณห้ามการก่อสร้างดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทในท้องที่บางส่วนในตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้จังหวัดภูเก็ต ใช้บังคับ และมีผลใช้บังคับเป็นเวลา 1 ปี ทำให้คำขออนุญาตปลูกสร้างอาคารของโจทก์ต้องห้ามตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2529 โจทก์ได้มาเอาแบบแปลนการก่อสร้างคืนไป ครั้นวันที่ 11 มิถุนายน 2529 ก็มีกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ใช้บังคับ ซึ่งมีข้อห้ามเช่นเดิม จำเลยจึงไม่อาจอนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารได้ ซึ่งโจทก์ก็ทราบดีมิได้โต้แย้ง และต่อมาเดือนมกราคม 2530 โจทก์มาขอให้จำเลยพิจารณาคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคารฉบับเดิมอีก โดยได้เปลี่ยนแบบแปลนอาคารจากอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก3 ชั้น แต่คำขอของโจทก์ก็ยังต้องห้ามตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับลงวันที่ 10 มิถุนายน 2528 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2529)ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 อยู่นั่นเองจำเลยจึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างอาคาร และแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2530 อันเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 29เมษายน 2528 โจทก์ยื่นคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ 2 ชั้นสูง 10.20 เมตร ที่ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ตเจ้าหน้าที่สุขาภิบาลกะทู้ลงทะเบียนรับคำขอวันที่ 1 พฤษภาคม 2528สุขาภิบาลกะทู้ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่าสุขาภิบาลป่าตองขณะที่โจทก์ยื่นคำขอดังกล่าว ยังไม่มีประกาศกระทรวงมหาดไทยห้ามก่อสร้างอาคารในบริเวณดังกล่าว ครั้นต่อมาวันที่ 10 มิถุนายน 2528ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยกำหนดห้ามมิให้ก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารอื่นใดในบริเวณท้องที่บางส่วนในตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้จังหวัดภูเก็ต ซึ่งรวมถึงบริเวณเขตที่ดินของโจทก์ด้วย โดยประกาศใช้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2528 ตามเอกสารหมาย ล.3หลังจากประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว จำเลยจึงได้มีคำสั่งไม่อนุญาต โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำสั่งของจำเลยที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ทำการปลูกสร้างอาคารนั้นชอบแล้ว จึงมีมติไม่อนุญาต ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า คำสั่งของจำเลยที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ทำการปลูกสร้างอาคาร และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ที่มีมติไม่อนุญาตนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าภายหลังจากที่โจทก์ยื่นคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ 2 ชั้นต่อจำเลยแล้ว ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 10 มิถุนายน 2528 กำหนดบริเวณห้ามทำการก่อสร้างอาคารในบริเวณบางส่วนของตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้จังหวัดภูเก็ต ซึ่งรวมถึงบริเวณที่โจทก์ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารรายนี้ด้วย โดยประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15มิถุนายน 2528 ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.3 ต่อจากนั้นจำเลยจึงได้มีคำสั่งไม่อนุญาต ดังนี้เมื่ออาคารที่โจทก์ขออนุญาตก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ 2 ชั้นสูงเกิน 5 เมตร ซึ่งต้องห้ามมิให้ก่อสร้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างได้ ถือว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ราชการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้นคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตยืนตามคำสั่งของจำเลย จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ไม่มีเหตุที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอน แม้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่เสร็จภายใน60 วัน แต่ก็มิใช่เหตุที่จะทำให้คำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายส่วนฎีกาของโจทก์อีกข้อที่ว่า บุคคลที่ทำหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์มิใช่บุคคลที่กฎหมายกำหนดให้เป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และเป็นบุคคลต้องห้ามนั้น ก็เป็นการกล่าวอ้างอย่างลอย ๆ มิได้ระบุให้ชัดเจนว่าใครบ้างที่เป็นบุคคลต้องห้ามเนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอยู่หลายคน ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ ข้ออ้างของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยผิดระเบียบโดยไม่ได้ให้ตัวจำเลยเข้าสืบก่อนพยานปากอื่น โจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้าน ศาลชั้นต้นยกคำร้องโดยมิชอบนั้น ได้ความว่าจำเลยเป็นนิติบุคคล พยานจำเลยที่นำเข้าสืบเป็นเจ้าพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาคำร้องของโจทก์ และทนายจำเลยได้แถลงเหตุขัดข้องของพยานที่จะนำเข้าสืบในแต่ละนัดไว้ ซึ่งโจทก์ก็มิได้แถลงคัดค้านประกอบกับไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดห้ามมิให้นำพยานปากใดเข้าสืบก่อนหลัง คำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share