คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3584/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำว่า บิดา ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลพ.ศ. 2482 มาตรา 20 และ 20 ทวิ หมายถึง ทั้งบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องมีฐานะเป็นเทศบาลเมืองและเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2528 จังหวัดกาฬสินธุ์ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาการรับสมัครและวันเลือกตั้งนายพิชัย เกียรติดำเนินงาม ได้ยื่นใบสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลต่อผู้ร้อง โดยได้ระบุว่ามีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิเข้ารับการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 ทุกประการ นายพิชัยได้ระบุในใบสมัครว่าบิดาชื่อ นายง้วน เกียรติดำเนินงาม มีสัญชาติไทย และนายพิชัยมีความรู้การศึกษา ม.6 ผู้ร้องเชื่อว่า นายพิชัยมีหลักฐานและคุณสมบัติถูกต้องตามที่ระบุไว้ จึงได้รับสมัครเป็นผู้มีสิทธิเข้ารับการเลือกตั้งและผลปรากฏว่านายพิชัยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลของผู้ร้อง ต่อมาในระหว่างเดือนมิถุนายน 2530ได้มีการร้องเรียนต่อผู้ร้องว่า นายพิชัยเป็นผู้ขาดคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากมีบิดาเป็นคนต่างด้าว และนายพิชัยไม่นำหลักฐานการศึกษาว่าจบประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายมาแสดง ผู้ร้องจึงได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ความว่า นายพิชัยมีบิดาเป็นคนต่างด้าว สัญชาติจีน ชื่อนายง้วน แซ่เตียว หรือเตียผู้ร้องจึงได้แจ้งให้นายพิชัยส่งหลักฐานแสดงคุณวุฒิทางการศึกษาที่ว่าสอบได้ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่ก็ไม่สามารถส่งได้ นายพิชัยจึงเป็นผู้มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนในการเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2482 มาตรา 20, 20 ทวิเป็นเหตุให้สมาชิกสภาเทศบาลของนายพิชัยขาดลงตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 19(4) ขอให้ศาลมีคำสั่งให้สมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลของนายพิชัย เกียรติดำเนินงาม สิ้นสุดลง
นายพิชัย เกียรติดำเนินงาม ผู้คัดค้าน ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านว่า การสมัครเข้ารับการเลือกตั้งจะต้องใช้ทะเบียนบ้านฉบับปัจจุบัน หลักฐานทะเบียนบ้านของผู้คัดค้านเมื่อครั้งอยู่ที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ขณะที่ผู้คัดค้านยังเป็นเด็กชายระบุว่า สัญชาติของบิดามารดา ไทย ไทย แสดงว่าบิดาของผู้คัดค้านได้สัญชาติไทย ตั้งแต่ผู้คัดค้านยังเป็นเด็กชายแล้วทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะบิดาได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติก็ได้เจ้าหน้าที่ทะเบียนราษฎร์ ของผู้ร้องจึงได้กรอกระบุสัญชาติบิดามารดาของผู้คัดค้านเป็น ไทย ไทย ซึ่งตรงกับต้นฉบับเดิมที่แจ้งย้ายมาจากอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ผู้คัดค้านเป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทย จึงมีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) ผู้คัดค้านมีบิดาเป็นคนจีนชื่อนายง้วน แซ่เตียว แต่มีมารดาชื่อนางพลอย นามสกุลเดิม “เล็กมา”เป็นคนสัญชาติไทย บิดาและมารดาของผู้คัดค้านได้แต่งงานกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ฉะนั้น สัญชาติของมารดาซึ่งเป็นคนไทย จึงเป็นสัญชาติที่ผู้คัดค้านยึดเป็นหลักตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508ตามที่กฎหมายระบุคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลว่า “มีผู้สัญชาติไทยโดยมีบิดาเป็นคนต่างด้าวจะต้องจบการศึกษาประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย” นั้น คำว่า “บิดาเป็นต่างด้าว” หมายถึงบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้คัดค้านจึงไม่ขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับการเลือกตั้งฯ แต่อย่างใด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาในชั้นนี้ตามฎีกาของผู้ร้องว่า คำว่า “บิดา” ตามมาตรา 20 และมาตรา 20 ทวิแห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกเทศบาล พ.ศ. 2482 นั้น หมายถึงบิดาโดยมิชอบด้วยกฎหมายด้วยหรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลนั้น หาได้มุ่งถึงสถานะของบุคคลผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่เพียงฝ่ายเดียวเป็นสาระสำคัญไม่ แต่จะต้องคำนึงถึงเชื้อชาติตามความเป็นจริง วัยและประสบการณ์ตลอดจนความผูกพันต่อท้องถิ่นที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในเขตเลือกตั้งประกอบกันดังที่พระราชบัญญัติดังกล่าวได้กล่าวถึงลักษณะและคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้ในมาตรา 20 และมาตรา 20 ทวิ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ตัวสมาชิกสภาเทศบาลที่เป็นบุคคลในท้องถิ่นซึ่งสามารถเข้ามามีสิทธิร่วมในการบริหารและพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้วจึงเห็นว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลที่มีบิดาเป็นคนต่างด้าวจึงไม่จำต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีต่างไปจากการพิจารณาถึงสัญชาติของบุคคลที่มีบิดาเป็นคนต่างด้าวและอาจถูกถอนสัญชาติไทยได้ในบางกรณี ซึ่งในกรณีนั้นบิดาจะต้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นสถานะของบุคคลที่มีอยู่อย่างใดเป็นการเฉพาะตัว ไม่มีผลกระทบถึงประโยชน์ของชุมชนหรือท้องถิ่นดังเช่นสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล หากถือว่าบิดาในกรณีนี้จะต้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นแล้ว ผลที่ตามมาจะแปลกไปกล่าวคือถ้าจำเลยมีบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าวและไม่มีคุณสมบัติทางการศึกษา ตามมาตรา 20 ทวิ จำเลยจะไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในทางเปรียบเทียบ ถ้าจำเลยมีบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าวไม่ว่าจะมีคุณสมบัติทางการศึกษาตามมาตรา 20 ทวิ หรือไม่ จำเลยกลับมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะถือว่าจำเลยเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา 20 เหตุผลดังกล่าวแล้วจึงเป็นข้อสนับสนุนว่า”บิดา” ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482มาตรา 20 และมาตรา 20 ทวิ หมายถึงทั้งบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่า นายง้วน แซ่เตียว บิดาของผู้คัดค้านเป็นคนต่างด้าวหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงว่า บิดาของผู้คัดค้านเป็นคนต่างด้าวหรือไม่ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share