แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ไม่ใช้บังคับได้มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2534 ซึ่งข้อ 3 กำหนดให้ข้อพิพาทหรือคดีของโจทก์ซึ่งยังไม่ถึงที่สุดให้บังคับตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 จนกว่าข้อพิพาทหรือคดีจะถึงที่สุด ดังนั้น เมื่อข้อพิพาทหรือคดีของโจทก์ได้เกิดขึ้นก่อนและยังไม่ถึงที่สุดก่อนใช้ประกาศฉบับดังกล่าวข้างต้นจึงนำพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534มาใช้บังคับไม่ได้ จำเลยไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ซึ่งเป็นการกระทำตามระเบียบโดยมีเหตุผลอันสมควร จึงไม่เป็นการกระทำโดยจงใจผิดนัดและไม่มีเหตุสมควร โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานของโรงงานยาสูบตำแหน่งพยาบาล 5สังกัดกองพยาบาล ฝ่ายการแพทย์โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังจำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์ให้ลดขั้นเงินเดือน 3 ขั้น และทำทัณฑ์บนไว้เป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์วินิจฉัยและรายงานต่อจำเลยว่าโจทก์ให้นางสุมาลี แดงสมบูรณ์ กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และใช้กฎหมายอาญาเอารัดเอาเปรียบจนนางสุมาลีต้องถูกจองจำในระหว่างต้องคดีอาญาอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบว่าด้วยวินัย การร้องทุกข์และการเลิกจ้างของจำเลยคำสั่งลงโทษโจทก์ไม่ชอบเพราะโจทก์ไม่ได้กระทำการดังกล่าวคำสั่งลดขั้นเงินเดือนโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย และจำเลยให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา เมื่อวันที่ 1 ถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2534 เป็นเงินค่าล่วงเวลา 1,809.17 บาท ครบกำหนดแล้วจำเลยไม่จ่าย จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายค่าล่วงเวลา ดอกเบี้ย และเงินเพิ่มแก่โจทก์ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยและคำสั่งของจำเลย คืนสิทธิประโยชน์แก่โจทก์จ่ายค่าล่วงเวลาพร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มตามกฎหมายและจ่ายค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางเพราะพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 มาตรา 3ได้ยกเลิกความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518และไม่ให้ใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 บังคับแก่กิจการรัฐวิสาหกิจ และได้มีการออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16มีนาคม 2515 ไม่ใช้บังคับแล้ว ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย และโจทก์มิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติ พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 18โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบว่าด้วยวินัย การร้องทุกข์ และการเลิกจ้างพ.ศ. 2515 ของจำเลย คำสั่งลงโทษของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและเงินเพิ่ม และไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานหรือไม่ จึงส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัย ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คำขอของโจทก์ที่ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยและค่าเสียหายที่เรียกร้องมิใช่สิทธิประโยชน์ตามคำวิเคราะห์ศัพท์ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 แต่ค่าล่วงเวลาและเงินเพิ่มที่โจทก์ขอเป็นสิทธิประโยชน์ผู้ขอต้องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ให้พิจารณาก่อน หากไม่พอใจก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พ.ศ. 2534 มาตรา 18(2) และวรรค 4 ประกอบมาตรา 11(3) โจทก์มิได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่าได้ร้องทุกข์เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ (ค่าล่วงเวลาและเงินเพิ่ม)มาก่อน แต่กลับนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเลยถือว่าโจทก์มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาและเงินเพิ่ม คดีฟังไม่ได้ว่าโจทก์ให้นางสุมาลีกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดคำสั่งลงโทษโจทก์ไม่ชอบ โจทก์ได้รับความเสียหาย พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่จำเลยลงโทษโจทก์ ให้จำเลยชำระค่าเสียหายรายเดือนแก่โจทก์จนถึงวันที่โจทก์ได้รับเงินเดือนเท่าอัตราเดิมคำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์เรียกร้องเอาค่าทำงานล่วงเวลา ซึ่งได้ทำเมื่อวันที่ 1 ถึงวันที่ 3 สิงหาคม2534 และได้ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2534 ปรากฏว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ไม่ใช้บังคับ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2534 ดังนั้น ข้อพิพาทหรือคดีของโจทก์นี้ได้เกิดขึ้นก่อนและยังไม่ถึงที่สุดก่อนใช้ประกาศฉบับดังกล่าว ซึ่งตามข้อ 3 ของประกาศฉบับดังกล่าวกำหนดให้ข้อพิพาทหรือคดีของโจทก์ซึ่งยังไม่ถึงที่สุดให้บังคับตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 จนกว่าข้อพิพาทหรือคดีของโจทก์ถึงที่สุดดังนั้นคดีของโจทก์จะนำพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พ.ศ. 2534 มาบังคับโจทก์หาได้ไม่ เมื่อโจทก์ทำงานล่วงเวลาจำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ตามฟ้องเป็นเงิน 1,807.17 บาทและดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ของเงินค่าล่วงเวลามาด้วยนั้นจะต้องได้ความว่าจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจงใจผิดนัดในการจ่ายเงินค่าล่วงเวลาโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ตามข้อ 31 วรรคสอง แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเห็นว่าโจทก์กระทำผิดข้อบังคับ และคณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่าโจทก์กระทำผิดข้อบังคับจำเลยจึงได้ออกคำสั่งลงโทษโจทก์โดยลดขั้นเงินเดือนซึ่งตามข้อบังคับกำหนดว่า พนักงานกระทำผิดข้อบังคับไม่มีสิทธิทำงานล่วงเวลา เห็นว่า ที่จำเลยไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์เป็นการกระทำตามระเบียบโดยมีเหตุผลอันสมควรจึงมิใช่เป็นการกระทำโดยจงใจผิดนัดและไม่มีเหตุสมควรแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินค่าล่วงเวลาจำนวน1,807.17 บาท และดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด (9 สิงหาคม 2534)อัตราร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง