แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ศาลมีคำสั่งว่าที่พิพาทซึ่งมีชื่อ ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์แต่ ก. มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวด้วยจึงถือว่าเป็นบุคคลภายนอกที่มีสิทธิพิสูจน์ว่าตนมีสิทธิดีกว่าจำเลยได้เมื่อ ก.ตาย โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ก. จึงมีสิทธิพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลยได้เช่นเดียวกันจึงมีอำนาจฟ้อง ที่พิพาทมีชื่อ ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ก. ได้ให้ผู้มีชื่อปลูกบ้านอยู่อาศัยเมื่อ ก. ตาย จ. พี่สาวโจทก์ได้ยื่นขอรับมรดก เมื่อผู้มีชื่อย้ายออกไปโจทก์และพี่น้องได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ ส่วนจำเลยไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่พิพาทและ ก.ไม่เคยขายที่พิพาทให้แก่จำเลย แม้ศาลจะเคยมีคำสั่งว่า ที่พิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์ก็มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายกล่ำ นยะเนตร และนางชื่อน นยะเนตรเป็นสามีภริยากัน โดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตร 8 คน โจทก์เป็นบุตรคนหนึ่ง นายกล่ำเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3997ตำบลพระงาม อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรีเนื้อที่ 1 ไร่2 งาน 80 ตารางวา ต่อมาเมื่อปี 2498 นายกล่ำถึงแก่กรรม ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงเป็นมรดกตกแก่โจทก์และพี่น้องรวม 8 คน โจทก์และพี่น้องรวม 8 คน ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวตลอดมา เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2530 จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นอ้างว่า เมื่อประมาณ 35 ปีมาแล้ว นายกล่ำได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้จำเลย จำเลยได้ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวมาด้วยความสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของจนได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายซึ่งเป็นความเท็จทั้งสิ้น ความจริงนายกล่ำไม่เคยขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยและจำเลยไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าที่ดินแปลงดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามกฎหมายปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14/2530ของศาลชั้นต้น ต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2530 จำเลยและบริวารบุกรุกเข้าไปไถที่ดินแปลงดังกล่าวโจทก์ได้ห้ามปราม จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเดือนละ 1,000 บาท ขอให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 3997 ตำบลพระงาม อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรีเป็นกรรมสิทธิ์ของนายกล่ำ นยะเนตร และเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์และทายาท ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าวและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินแปลงนี้
จำเลยให้การว่า เมื่อปี 2496 นายกล่ำ นยะเนตร ได้ขายที่พิพาทโฉนดเลขที่ 3997 ตำบลพระงาม อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรีให้แก่จำเลยในราคา 1,000 บาท และได้ทำหลักฐานให้ไว้เป็นสัญญากู้เงิน 1 ฉบับ พร้อมกับมอบโฉนดที่พิพาทให้จำเลย จำเลยเข้าครอบครองที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของด้วยความสงบ เปิดเผย เป็นเวลาเกินกว่า10 ปีแล้ว ที่พิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามคำสั่งของศาลชั้นต้น คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14/2530 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดที่ดินเลขที่3997 ตำบลพระงาม อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าว ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 200 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินดังกล่าว กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น 1,000 บาท แทนโจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 500 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์และพี่น้องอีก 7 คน เป็นทายาทนายกล่ำ นยะเนตร และนายกล่ำเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3997 ตำบลพระงาม อำเภอพรหมบุรีจังหวัดสิงห์บุรี เมื่อปี 2498 นายกล่ำถึงแก่กรรม ที่พิพาทจึงตกเป็นมรดกของโจทก์และพี่น้องอีก 7 คน ต่อมาเมื่อปี 2530 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าที่พิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ ตามคดีหมายเลขแดงที่ 14/2530 ของศาลชั้นต้นมีปัญหาตามที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่พิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยหรือไม่…
พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้นได้ความว่า จำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่พิพาทซึ่งมีชื่อนายกล่ำเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยอ้างการครอบครองปรปักษ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าที่พิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย จำเลยอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ แต่นายกล่ำมิได้เป็นคู่ความในคดีที่จำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ดังกล่าว นายกล่ำจึงเป็นบุคคลภายนอกที่มีสิทธิพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2) นายกล่ำถึงแก่กรรม โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายกล่ำจึงมีสิทธิพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าโจทก์นั้น…โจทก์มีตัวโจทก์และนายใย นยะเนตร เบิกความว่า นายกล่ำให้นายเปรื่องและนางบุญ หมั่นกิจการปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่พิพาทเมื่อนายกล่ำถึงแก่กรรม นางเปรื่องไปขออยู่ในที่ดินกับโจทก์และนายใย ต่อมานายเปรื่องถึงแก่กรรม นางบุญจึงย้ายออกไปจากที่พิพาท เห็นว่า โจทก์และนายใย เป็นบุตรนายกล่ำ ย่อมทราบเรื่องเกี่ยวกับที่พิพาทดีกว่าผู้อื่น นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายแม้นหมั่นกิจการ เบิกความสนับสนุนว่านายเปรื่องและนางบุญไปปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่พิพาทจำเลยไม่ได้เข้าไปทำประโยชน์ในที่พิพาทเมื่อนายกล่ำถึงแก่กรรมนายเปรื่องและนางบุญก็ยังคงอาศัยอยู่ในที่พิพาทจนกระทั่งนายเปรื่องถึงแก่กรรม นางบุญจึงย้ายออกไปจากที่พิพาทนายแม้นเป็นบุตรนายเปรื่องและเป็นญาติทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด น่าเชื่อว่าเบิกความไปตามจริง ยิ่งกว่านั้นนายสมพงษ์ พุทรา กำนันตำบลพระงามซึ่งที่พิพาทตั้งอยู่ก็เบิกความสนับสนุนโจทก์ว่า พยานไม่เคยเห็นจำเลยเข้าไปทำประโยชน์ในที่พิพาท ประกอบกับเมื่อนางจวนยื่นคำขอรับมรดกที่พิพาทนางจวนก็ได้ยื่นโฉนดที่พิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรีด้วย ปรากฏตามคำขอเอกสารหมาย จ.7 ทำให้พยานหลักฐานโจทก์น่าเชื่อยิ่งขึ้นฝ่ายจำเลยแม้จะมีนางบุญมาเบิกความสนับสนุนว่านายกล่ำขายที่พิพาทให้แก่จำเลยแต่จำเลยก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง คงมีแต่หนังสือสัญญากู้เอกสารหมาย ล.2 ซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นหลักฐานการซื้อขายที่พิพาทแต่สัญญากู้เอกสารหมาย ล.2นางบุญก็ไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยาน คำเบิกความของนางบุญจึงมีพิรุธไม่น่าเชื่อสำหรับนางศรี ศรีเงินทรัพย์ พยานจำเลยอีกปากไม่ได้รู้เห็นการซื้อขายที่พิพาทแต่อย่างใด เพียงแต่ได้รับฟังจากจำเลยว่านายกล่ำขายที่พิพาทให้จำเลย จึงมีน้ำหนักน้อยจำเลยจึงมีแต่ตัวจำเลยเพียงปากเดียวเบิกความลอย ๆ และยังเบิกความว่าโฉนดที่พิพาทที่นายกล่ำมอบให้ไว้ได้หายไป ซึ่งความจริงปรากฏว่านางจวนได้นำโฉนดที่พิพาทไปยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอรับมรดก น่าเชื่อว่าจำเลยได้มอบโฉนดที่พิพาทให้นางจวน การที่จำเลยมอบโฉนดที่พิพาทให้นางจวนโดยง่ายดาย แสดงว่านายกล่ำมอบโฉนดที่พิพาทให้แก่จำเลยไว้เป็นการค้ำประกันเงินกู้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย ล.2 พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานจำเลยฟังได้ว่านายกล่ำไม่ได้ขายที่พิพาทให้แก่จำเลยและไม่ได้มอบการครอบครองที่พิพาทให้แก่จำเลย โจทก์และพี่น้องได้ครอบครองที่พิพาทตลอดมา โจทก์จึงมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลย และมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.