คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4697/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,80 โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 จำเลยที่ 1 พาจำเลยที่ 2 กับพวกอีก 4 คน มาที่ร้านผู้เสียหายแล้วรุมชกต่อยผู้เสียหาย แม้จำเลยที่ 2 ชักอาวุธมีดปลายแหลมยาว1 คืบเศษออกมาจะแทงผู้เสียหาย แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังอยู่ห่างจากผู้เสียหายถึง 2 เมตร การกระทำดังกล่าวเพียงแต่แสดงว่าจำเลยที่ 2มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายเท่านั้น ไม่อาจชี้ให้เห็นได้ว่ามีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80 ให้จำคุก 15 ปี สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 80, 83 ให้จำคุกคนละ 8 เดือนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 คดีสำหรับจำเลยที่ 1 นั้นศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในความผิดดังกล่าว ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 13 ฎีกาของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้ คงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะจำเลยที่ 2 เท่านั้น ว่าจะเป็นความผิดตามที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโดยไม่มีฝ่ายใดโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 พาจำเลยที่ 2 กับพวกอีก 4 คน มาที่ร้านผู้เสียหายแล้วรุมชกต่อยผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 เป็นคนชักอาวุธปืนมีดแหลมออกมาจะแทงผู้เสียหายขณะอยู่ห่างจากผู้เสียหายประมาณ 2 เมตรผู้เสียหายจึงใช้อาวุธปืนยิงไป 1 นัด กระสุนปืนถูกขาของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 จึงทำร้ายผู้เสียหายไม่ได้ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2เงื้อมีดจะแทงผู้เสียหายนั้น แม้มีดที่จำเลยที่ 2 ใช้จะเป็นมีดปลายแหลมยาวประมาณ 1 คืบเศษ แต่จำเลยที่ 2 ยังอยู่ห่างจากผู้เสียหายถึง 2 เมตร จึงไม่เป็นข้อที่จะทำให้เห็นได้เป็นยุติว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาจะแทงในส่วนใดของร่างกายผู้เสียหายซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าส่วนที่จะถูกแทงนั้นอาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยที่ 2 ในลักษณะดังนี้เพียงแต่แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายเท่านั้น ยังไม่อาจชี้ให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย
พิพากษายืน

Share