แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯโดยไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาในความผิดฐานอื่นถ้ามีกรณีที่ศาลฎีกาเห็นว่าการปรับบทลงโทษไม่ถูกต้องหรือการกำหนดโทษไม่เหมาะสมแล้วศาลฎีกามีอำนาจที่จะแก้ไขได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 185 ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225 ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเพียงว่าจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนโดยไม่ได้ความว่าเป็นอาวุธปืนของบุคคลอื่นที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้หรือไม่และโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าเป็นอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียน ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคหนึ่งอันเป็นบทลงโทษสำหรับกรณีที่เป็นอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนที่ผู้อื่นได้รับอนุญาต อันเป็นผลร้ายแก่จำเลยจึงเป็นการไม่ชอบต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 72 วรรคสาม ซึ่งเป็นเพียงการมีอาวุธปืนของผู้อื่นที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย และมีบทกำหนดโทษเบากว่า และเมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาวุธปืนที่พาไปเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นผลร้ายน้อยกว่า การใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง ก็ควรจะเปลี่ยนไปในทางที่ลดลง ซึ่งศาลฎีกาแก้ไขได้แม้ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80,91, 288 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปีฐานพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 6 เดือน คำขออื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์อุทธรณ์ ขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่นด้วย
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 อีกกระทงหนึ่งให้จำคุก 10 ปี รวมโทษจำคุก 12 ปี 6 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีความผิดในข้อหาพยายามฆ่าผู้เสียหายหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาโดยจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งได้ความว่า ตามวันเวลาที่เกิดเหตุนั้นมีการขนทรายเข้าวัดเนื่องจากเทศกาลสงกรานต์ จำเลยชวนผู้เสียหายไปขนทรายด้านในแต่ผู้เสียหายไม่ไปจำเลยจึงพูดขึ้นว่าจะยิงมึงเสียหน่อย ขณะนั้นจำเลยยืนอยู่ด้านหลังผู้เสียหายผู้เสียหายหันกลับมาเห็นจำเลยถืออาวุธปืนจ้องมาที่ผู้เสียหายจึงใช้มือซ้ายปัดอาวุธปืนกระสุนปืนลั่นขึ้น 1 นัด แต่ไม่ถูกผู้ใด แล้วผู้เสียหายกับจำเลยต่างก็วิ่งหนีไป… จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่านั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ โดยไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้วถ้ามีกรณีที่ศาลฎีกาเห็นว่าการปรับบทลงโทษไม่ถูกต้องหรือการกำหนดโทษไม่เหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะแก้ไขได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ในความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ นั้น ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเพียงว่าจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเท่านั้น โดยไม่ได้ความว่าอาวุธปืนที่จำเลยมีและพาไปในวันเกิดเหตุนั้นเป็นอาวุธปืนของบุคคลอื่นที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้หรือไม่และโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าเป็นอาวุธปืนที่ไม่มีหมายเลขทะเบียน ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคหนึ่งอันเป็นบทลงโทษสำหรับกรณีที่เป็นอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนที่ผู้อื่นได้รับอนุญาต อันเป็นผลร้ายแก่จำเลย จึงเป็นการไม่ชอบ ต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 72 วรรคสาม ซึ่งเป็นเพียงการมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย และมีบทกำหนดโทษตามกฎหมายเบากว่าที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษมา และเมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาวุธปืนที่พาไปนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่จะเป็นผลร้ายน้อยกว่า การใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ก็ควรที่จะต้องเปลี่ยนไปในทางที่ลดลงจากที่ศาลชั้นต้นกำหนดมาด้วย ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจที่จะแก้ไขได้ตามบทกฎหมายข้างต้น แม้ว่าจะไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาก็ตาม”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสองเป็นความผิดสองกรรมต่างกันให้ลงโทษจำเลยในกระทงความผิดตามมาตรา 72 วรรคสาม จำคุก 6 เดือนและในกระทงความผิดตามมาตรา 72 ทวิ วรรคสองจำคุก 9 เดือน รวมจำคุกจำเลย 15 เดือนคำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก จำเลยถูกจำคุกมาเกินกำหนดนานแล้วจึงให้ปล่อยตัวในทันที.