คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3191/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่ลดค่าปรับให้ผู้ประกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมถึงที่สุด.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา ผู้ประกันยื่นคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาตโดยตีราคา 800,000 บาท ผู้ประกันทำสัญญาประกันไว้ต่อศาลชั้นต้นต่อมาศาลชั้นต้นนัดโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยขอเลื่อนโดยอ้างเหตุว่าจำเลยป่วยรวม 3 ครั้งในครั้งที่สามศาลชั้นต้นเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยจะหลบหนีจึงให้ออกหมายจับจำเลย และมีคำสั่งปรับผู้ประกันเต็มจำนวนและเลื่อนการนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาไป ครั้นถึงวันนัดยังจับตัวจำเลยไม่ได้ ทั้งจำเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้โจทก์และโจทก์ร่วมฟังโดยถือว่าจำเลยทราบคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว ปรากฏว่าศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยให้ยกฟ้องโจทก์ ของกลางให้คืนจำเลย ภายหลังจากวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว ผู้ประกันได้ส่งตัวจำเลยต่อศาลชั้นต้นเพื่อฟังคำพิพากษาศาลฎีกาพร้อมกับขอลดค่าปรับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องผู้ประกันยืนยันว่าสามารถส่งตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาได้ แต่ไม่มาเพราะเกรงว่าจำเลยจะถูกลงโทษและมีอาการช็อก เพราะมีโรคประจำตัวจึงไม่ยอมส่งตัวจำเลยเป็นการยอมรับว่าทำผิดสัญญาประกันอย่างชัดแจ้ง ไม่มีเหตุควรลดค่าปรับ จึงให้ยกคำร้อง
ผู้ประกันอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ประกันฎีกาขอให้ลดค่าปรับ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 119 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้องเมื่อศาลสั่งประการใดแล้ว ฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด” คดีนี้ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมถึงที่สุด ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ประกันมาจึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของผู้ประกัน.

Share