คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 74/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และ พ. ได้รับอันตรายสาหัส ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน และประกอบกรณียกิจไม่ได้เกินกว่า 20 วัน แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า พ.ต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า20 วัน หรือจนประกอบกรณียกิจไม่ได้เกินกว่า 20 วันอย่างไรอันจะถือว่า พ.ได้รับอันตรายสาหัส แม้จะฟังได้ว่าจำเลยที่ 1ได้รับอันตรายสาหัส แต่ก็เป็นผลมาจากการกระทำของจำเลยที่ 1เอง จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ไม่ได้การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงคงเป็นความผิดตามมาตรา 390 เท่านั้นและแม้ปัญหานี้ยุติแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185ประกอบมาตรา 215 และ 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนกับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองต่างฝ่ายต่างประมาท และรถยนต์ของจำเลยที่ 2 แฉลบไปชนกับรถยนต์ของนายวีระซึ่งขับแล่นสวนทางมาเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 รถยนต์ของจำเลยที่ 2และของนายวีระเสียหาย นายวีระ นายบุญแรม นายพร นายชุมพรและจำเลยที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยที่ 1 และนายพิเชษฐ์ได้รับอันตรายสาหัสป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน และจนประกอบกรณียกิจไม่ได้เกินกว่า 20 วัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43, 157 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 6, 59
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 340 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43, 157 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300อันเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกคนละ3 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ออกจากถนนซอยเลี้ยวกินทางเข้ามาในทางเดินรถของจำเลยที่ 2 ในระยะกระชั้นชิดไม่อาจหยุดรถได้ทันจึงชนกันจำเลยที่ 2 ไม่ได้ประมาทและวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 มานั้น ตามฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 และนายพิเชษฐ์ ตรีสัตย์ ได้รับอันตรายสาหัสโดยยกเหตุเฉพาะในข้อทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน และอ้างส่งผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของนายพิเชษฐ์ ตรีสัตย์ เอกสารหมาย ป.จ.9 เป็นพยานหลักฐานซึ่งแพทย์ได้เอกซเรย์พบว่ากระดูกขาซ้ายส่วนล่างหัก ลงความเห็นว่าต้องใช้เวลารักษาประมาณ 1 เดือนครึ่ง ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่านายพิเชษฐ์ ตรีสัตย์ ต้องทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน หรือจนประกอบกรณียกิจไม่ได้เกินกว่า 20 วัน อย่างไร ศาลฎีกาเห็นว่า ลำพังขาหักยังถือไม่ได้ว่าเป็นอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8)ส่วนที่แพทย์มีความเห็นว่าใช้เวลารักษาประมาณ 1 เดือนครึ่งก็เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับการรักษาบาดแผลให้หายเป็นปกติเท่านั้น บาดแผลของนายพิเชษฐ์ ตรีสัตย์ ยังไม่ถึงขนาดเป็นอันตรายสาหัส แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสแต่ก็เป็นผลมาจากการกระทำของจำเลยที่ 1 เอง การกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสจึงลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ไม่ได้คงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 เท่านั้น แม้ปัญหานี้ยุติแล้วในศาลอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215และ 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด1 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share