แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การเรียกเก็บเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469มาตรา 112 จัตวา แม้จะไม่มีการวางประกันค่าอากรตามมาตรา 112 ทวิก็เรียกเก็บได้ การแจ้งประเมินตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มิได้กำหนดแบบหรือวิธีการไว้ เมื่อหนังสือที่เจ้าพนักงานของโจทก์แจ้งไปยังจำเลยกำหนดให้นำค่าภาษีอากรจำนวนที่ขาดไปชำระภายในเวลาที่กำหนดไว้มิฉะนั้นจะดำเนินการตามที่เห็นสมควร ถือได้ว่าเป็นการแจ้งประเมินแล้ว สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกอากรที่ขาดเพราะเหตุเกี่ยวกับราคาของที่จำเลยนำเข้าในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรมีอายุความ 10 ปี ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469มาตรา 10 วรรคสามตอนแรก มิใช่กรณีที่มีการคำนวณเงินอากรผิดอันจะมีอายุความ 2 ปี กรณีที่จำเลยแสดงรายการเท็จโดยเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล เจ้าพนักงานมีอำนาจประเมินให้จำเลยเสียภาษีอากรส่วนที่ขาดได้ภายในกำหนด 10 ปี ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 88 ทวิ(2) กรณีที่มีการค้างชำระเงินภาษีอากรซึ่งจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวาและประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ อันเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษ จะเรียกร้องให้ชำระดอกเบี้ยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเป็นสิทธิเรียกร้องทั่วไปไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2519 ถึงเดือนพฤศจิกายน2520 จำเลยสั่งและนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์วอลโว่จากประเทศสวีเดน รวม 47 ครั้ง ในแต่ละครั้งที่นำเข้าเมื่อสินค้าเข้ามาถึงด่านศุลกากรท่าอากาศยานกรุงเทพแล้ว จำเลยได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อขอชำระภาษีอากรรวมใบขนสินค้าจำนวน 47 ฉบับ โดยจำเลยสำแดงรายการว่าสินค้าเครื่องอะไหล่รถยนต์วอลโว่ที่สั่งเข้ามานี้เป็นสินค้าส่วนประกอบรถยนต์ครบชุดสมบูรณ์และสำแดงราคาของสินค้าดังกล่าวในราคาส่วนประกอบครบชุดสมบูรณ์ เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เชื่อโดยสุจริตว่าสินค้าที่จำเลยสั่งและนำเข้ามาเป็นส่วนประกอบครบชุดสมบูรณ์ จึงมีคำสั่งปล่อยเพื่อให้จำเลยรับสินค้าทั้งหมดไป ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 พบว่าสินค้าที่จำเลยสั่งและนำเข้ามาเป็นชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์มิใช่ส่วนประกอบครบชุดสมบูรณ์ แต่จำเลยได้หลีกเลี่ยงภาษีอากร โดยสำแดงรายการเครื่องอะไหล่รถยนต์ที่จำเลยสั่งและนำเข้าไม่ตรงกับความจริงจำเลยสำแดงรายการเป็นเท็จว่าเป็นชิ้นส่วนประกอบครบชุดสมบูรณ์และสำแดงราคาสินค้าที่นำเข้าต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดอันเป็นเท็จ และเสียภาษีอากรไว้ไม่ครบถ้วนตามจำนวนที่ต้องเสียจริงกล่าวคือ จำเลยได้สำแดงราคาสินค้าที่นำเข้ามาต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด คือ ต่ำกว่าราคาที่ปรากฏอยู่ในบัญชีราคาอะไหล่รถยนต์และมีชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์อีกหลายชนิดที่จำเลยสั่งและนำเข้ามาโดยไม่ปรากฏหรือไม่มีอยู่ในบัญชีราคาอะไหล่รถยนต์หรือไม่อาจตรวจพบได้ซึ่งชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์เหล่านั้นจำเลยมีหน้าที่จะต้องสำแดงราคาเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 75 ของราคาส่วนประกอบครบชุดสมบูรณ์ แต่จำเลยหลีกเลี่ยงไม่สำแดงราคาเพิ่มขึ้น พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 จึงกำหนดราคาสินค้าที่จำเลยนำเข้าขึ้นใหม่ตามราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเพื่อเป็นเกณฑ์ประเมินภาษีอากรเมื่อประเมินภาษีอากรใหม่ตามใบขนสินค้าทั้ง 47 ฉบับ เป็นเงินภาษีอากรซึ่งจะต้องชำระเพิ่มแก่โจทก์เป็นเงินรวม 697,344.39 บาทเงินเพิ่มอากรขาเข้ารวม 609,523.04 บาท และเงินเพิ่มภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลรวม 96,333.73 รวมเป็นภาษีอากรที่ค้างชำระและเงินเพิ่มทั้งสิ้น 1,403,201.16 บาททั้งนี้คิดเงินเพิ่มภาษีอากรเพียงนับถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2528 อันเป็นวันถัดจากวันฟ้องโจทก์ได้ทวงถามและเตือนให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรที่ขาดให้ครบถ้วนตามหนังสือที่ กค.0605 (ก)/0806 ลงวันที่ 28 มกราคม 2528 แต่จำเลยไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินภาษีอากรที่ค้างเงินเพิ่มภาษีอากรขาเข้า กับเงินเพิ่มภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลจำนวนดังกล่าว และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของจำนวนภาษีอากรที่ค้างชำระในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบอุตสาหกรรมการผลิต สร้าง ประกอบรถยนต์นั่งสำเร็จรูปยี่ห้อวอลโว่แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย จำเลยมิได้มีวัตถุประสงค์และมิได้ประกอบกิจการซ่อมแซมรถยนต์หรือสั่งนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งรถยนต์ส่วนประกอบและชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์จากต่างประเทศ เมื่อประกอบเป็นรถยนต์นั่งสำเร็จรูปแล้ว จำเลยจึงได้จำหน่ายให้แก่บริษัทสวีเดนมอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดการจำหน่ายแก่ลูกค้าต่อไปแต่เพียงผู้เดียว และบริษัทสวีเดนมอเตอร์ จำกัด เป็นผู้สั่งชิ้นส่วนอะไหล่ของรถยนต์นั่งวอลโล่เข้ามาเพื่อซ่อมแซมและจำหน่ายในทางการค้าอันเป็นบริการหลังจากจำหน่ายรถยนต์ให้แก่ลูกค้าอีกต่อหนึ่ง จำเลยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมการนำเข้าและการจำหน่ายอะไหล่รถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ของบริษัทสวีเดนมอเตอร์ จำกัด อีกทั้งจำเลยไม่ได้ยื่นบัญชีราคาอะไหล่รถยนต์ที่ผู้ผลิตในต่างประเทศได้จัดทำขึ้นไว้ต่อกองประเมินอากรของโจทก์ที่ 1 ผู้ที่ยื่นบัญชีราคาอะไหล่รถยนต์ดังกล่าวคือบริษัทสวีเดนมอเตอร์ จำกัด จำเลยไม่เคยยอมรับบัญชีราคาอะไหล่รถยนต์นั้นว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของชิ้นส่วนถอดแยกของส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบครบชุดสมบูรณ์ ชิ้นส่วนรถยนต์ที่จำเลยสั่งและนำเข้ามิใช่ชิ้นส่วนเครื่องอะไหล่รถยนต์ที่นำเข้ามาจำหน่ายในสภาพเดิม หรือเพื่อใช้ทดแทนสับเปลี่ยนชิ้นส่วนรถยนต์ที่สึกหรอหรือเสื่อมสภาพไปตามอายุการใช้งานตามความหมายของคำว่าอะไหล่ ชิ้นส่วนที่จำเลยนำเข้ามาเป็นชิ้นส่วนที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยของรถยนต์สำเร็จรูปที่จำเป็นในการประกอบเพื่อได้คุณภาพและมาตรฐานที่ดีครบชุดสมบูรณ์ของรถยนต์วอลโว่ทั้งคันเหตุที่ชิ้นส่วนที่จำเลยสั่งเข้ามาบางรายการไม่ปรากฏหรือไม่มีรายการและราคาอยู่ในบัญชีราคาอะไหล่รถยนต์เนื่องจากชิ้นส่วนบางรายการเหล่านั้นมิใช่อะไหล่ และบริษัทสวีเดนมอเตอร์ จำกัดก็ไม่เคยสั่งเข้ามาจำหน่าย ชิ้นส่วนเหล่านี้จะปรากฏรายการและราคาในบัญชีชิ้นส่วนถอดแยกของส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบครบชุดสมบูรณ์ที่จำเลยยื่นไว้ต่อโจทก์ที่ 1 และกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนั้นเมื่อจำเลยนำเข้าชิ้นส่วนถอดแยกของส่วนประกอบครบชุดสมบูรณ์จำเลยจึงเสียภาษีอากรตามราคาที่บริษัทผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเรียกเก็บอันเป็นไปตามราคาชิ้นส่วนในบัญชีชิ้นส่วนถอดแยกของส่วนประกอบและอุปกรณ์ครบชุดสมบูรณ์ และถือว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด การคำนวณภาษีอากรจึงไม่ต้องคำนวณราคาเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 75 ตามฟ้องโจทก์ โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะคำนวณราคาเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 75 ในกรณีที่ไม่มีราคาในบัญชีราคาอะไหล่รถยนต์ตามประกาศของกองประเมินอากรลงวันที่ 24 มีนาคม 2515 เนื่องจากประกาศดังกล่าวเป็นระเบียบภายในของโจทก์ที่ 1 ไม่ผูกพันจำเลยและไม่อาจถือว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของชิ้นส่วนถอดแยกของส่วนประกอบและอุปกรณ์ครบชุดสมบูรณ์เพื่อจะนำมาคำนวณภาษีอากรเหตุที่จำเลยต้องสั่งชิ้นส่วนรถยนต์เข้ามาตามใบขนสินค้าทั้ง 47 ฉบับเนื่องจากชิ้นส่วนที่จำเลยเคยสั่งเข้ามาเพื่อประกอบเป็นรถยนต์นั่งสำเร็จรูปเดิมเกิดความชำรุด ส่งมาไม่ครบจำนวนผิดพลาด เสียหายหรือสูญหายในระหว่างการขนส่งทางเรือ หรือในระหว่างการผลิต หรือประกอบรถยนต์ จำเลยจึงจำเป็นต้องสั่งเข้ามาทดแทนชิ้นส่วนดังกล่าวเพื่อจะได้ทำการประกอบรถยนต์นั่งสำเร็จรูปให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ มิได้สั่งเข้ามาเพื่อซ่อมแซมรถยนต์ ราคาชิ้นส่วนรถยนต์ที่จำเลยสั่งเข้ามาเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดที่บริษัทผู้ผลิตและผู้ขายในต่างประเทศได้กำหนดราคาไว้ในการจำหน่ายให้แก่ผู้ดำเนินกิจการประกอบรถยนต์เป็นทางการค้า และจำเลยได้สำแดงราคาชิ้นส่วนถอดแยกดังกล่าวโดยสุจริตและเปิดเผยตลอดมาตั้งแต่ปี2518-2521 เป็นที่ยอมรับของกระทรวงอุตสาหกรรมและโจทก์มาโดยตลอด จำเลยมิได้หลีกเลี่ยงภาษีอากรตามที่โจทก์อ้างเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรท่าอากาศยานกรุงเทพฯ เป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 และจัดเก็บภาษีต่าง ๆ แทนโจทก์ที่ 2 ได้กระทำไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการผูกพันโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกเก็บเงินภาษีอากรเพิ่มเติมจากจำเลยอีก เจ้าหน้าที่ของโจทก์ไม่เคยแจ้งการประเมินตามเอกสารใบทักท้วงของกองศุลกาธิการเกี่ยวกับใบขนสินค้าทั้ง 47 ฉบับ ให้จำเลยทราบ ทั้งไม่ได้แจ้งการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มเติมให้แก่จำเลย เพียงแต่นายด่านศุลกากรท่าอากาศยานกรุงเทพได้มีหนังสือที่ กค.0616/775 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2521 ขอให้จำเลยไปดำเนินพิธีศุลกากรเพื่อชำระอากรให้ครบถ้วนเนื่องจากกองศุลกาธิการของโจทก์ที่ 1 ทักท้วง จำเลยจึงได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม 2521 โต้แย้งคัดค้านการเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มเมื่อได้รับคำคัดค้านของจำเลย ผู้อำนวยการกองนิติการพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้มีหนังสือที่ กค.0605/1801 ลงวันที่25 เมษายน 2521 ถึงจำเลยและขอให้จำเลยไปพบเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงบางประการ พนักงานของจำเลยได้ไปพบตามหนังสือต่อมาอีก 3 ปี ผู้อำนวยการกองนิติการมีหนังสือที่ กค.0605/2636ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2524 ถึงจำเลยเตือนให้ไปชำระค่าภาษีอากรที่ขาดให้ครบถ้วน จำเลยทำหนังสือฉบับลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2524ยืนยันว่าจำเลยไม่ควรต้องเสียภาษีอากรเพิ่มอีก อีก 4 ปี ถัดมาโจทก์ได้มีหนังสือที่ กค.0605/(ก)/0806 ลงวันที่ 28 มกราคม 2528 ถึงจำเลยอ้างว่าข้อโต้แย้งของจำเลยฟังไม่ขึ้น และเตือนให้ไปชำระค่าภาษีอากรที่ขาดให้ครบถ้วน จำเลยได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 6กุมภาพันธ์ 2528 ยืนยันว่าได้เสียภาษีครบถ้วนแล้ว จะเห็นว่าโจทก์ทั้งสองยังไม่เคยประเมินหรือแจ้งการประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมจากจำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิดเกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ของค่าภาษีอากรที่ค้างชำระเพราะกรณีไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 112 จัตวา และประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ คดีนี้โจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกเงินค่าอากรเนื่องจากคำนวณจำนวนเงินอากรผิดโดยมิได้มีการบวกราคาเพิ่มอีกร้อยละ 75 ในกรณีไม่มีราคาระบุไว้ในบัญชีราคาอะไหล่รถยนต์ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 1 จึงมีกำหนดอายุความเพียง 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้าตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ส่วนโจทก์ที่ 2 ฟ้องเรียกเงินค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลส่วนที่ขาดตามประมวลรัษฎากร แต่อายุความเรียกร้องค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลมีกำหนดเพียง 5 ปี ตามมาตรา 19 และมาตรา 88 ทวิ(1)แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น คดีของโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินภาษีอากรค้างชำระ697,344.39 บาท และเงินเพิ่มอากรขาเข้าจำนวน 609,523.04 บาทกับเงินเพิ่มภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลจำนวน 96,333.73 บาทรวมทั้งสิ้นจำนวน 1,403,201.16 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินภาษีอากรที่ค้างชำระ 697,344.39 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาโดยจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งได้ความว่า จำเลยดำเนินกิจการประกอบรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่การประกอบรถยนต์ของจำเลยนั้นจำเลยได้สั่งชิ้นส่วนถอดแยกของส่วนประกอบและอุปกรณ์ครบชุดสมบูรณ์ (ซี.เค.ดี.)จากบริษัทเอ.บี.วอลโว่ จำกัด ประเทศสวีเดน นำมาประกอบเป็นรถยนต์นั่งสำเร็จรูปในประเทศไทยในการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ครบชุดสมบูรณ์ (ซี.เค.ดี.) นั้นจำเลยจะต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ก่อนเมื่อคณะกรรมการดังกล่าวอนุมัติแล้วจะแจ้งให้โจทก์และจำเลยทราบการจัดเก็บภาษีอากรขาเข้าที่นำเข้ามาแบบ ซี.เค.ดี.นั้น จะถือราคาตลาดเพื่อคำนวณภาษีซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดที่นำเข้ามาในลักษณะที่เป็นอะไหล่เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการประกอบรถยนต์ภายในประเทศโดยถ้านำเข้ามาในลักษณะที่เป็นอะไหล่ในการคิดราคาตลาดเพื่อเสียภาษีอากรจะต้องเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 75 ของราคาชิ้นส่วนที่นำเข้าแบบซี.เค.ดี. ระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม 2519 ถึงวันที่ 1พฤศจิกายน 2520 จำเลยได้นำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าที่โจทก์ฟ้องเข้ามาในราชอาณาจักรรวม 47 ครั้ง ทุกครั้งที่นำเข้าจำเลยไม่เคยขออนุมัติจากคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ก่อนโดยนำเข้ามาทางเครื่องบินผ่านด่านศุลกากรที่ท่าอากาศยานกรุงเทพและได้สำแดงในใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าทุกฉบับว่าเป็นการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ครบชุดสมบูรณ์(ซี.เค.ดี.)และได้เสียอากรขาเข้าตามราคาตลาดในประเภทของสินค้าแบบ ซี.เค.ดี.เจ้าหน้าที่พิธีการด่านศุลกากรที่ท่าอากาศยานกรุงเทพได้ตรวจปล่อยสินค้าให้แก่จำเลยไปต่อมาทางกองศุลกาธิการได้ตรวจสอบใบขนสินค้าทั้ง 47 ฉบับ แล้วเห็นว่าจำเลยสำแดงราคาสินค้าในใบขนสินค้าทั้ง47 ฉบับ ไม่ถูกต้องเพราะสินค้าที่ปรากฏในใบขนสินค้านั้นเป็นชิ้นส่วนอะไหล่ ต้องคิดราคาสินค้าเพื่อเรียกเก็บภาษีอากรตามราคาอะไหล่เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 จึงได้แจ้งให้จำเลยชำระอากรให้ครบถ้วนตามหนังสือลงวันที่ 13 มีนาคม 2521 ซึ่งโจทก์ได้มีหนังสือโต้แย้งคัดค้านการเรียกเก็บอากรเพิ่มต่อนายด่านศุลกากรท่าอากาศยานกรุงเทพตามเอกสารหมาย จ.4 โจทก์ที่ 1 ได้พิจารณาข้อโต้แย้งของจำเลยแล้วยืนยันให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรตามหนังสือที่โจทก์ที่ 1 มีถึงจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า สินค้าที่จำเลยนำเข้ามานั้น จำเลยได้ชำระภาษีอากรถูกต้องแล้วหรือไม่ ปัญหานี้ข้อที่โจทก์จำเลยนำสืบโต้แย้งกันก็คือ สินค้าที่จำเลยนำเข้าทั้ง 47 ครั้งนั้นจะต้องเสียภาษีอากรในราคาของสินค้าที่นำเข้าแบบ ซี.เค.ดี.หรือจะต้องเสียภาษีอากรในราคาของอะไหล่ ส่วนจำนวนราคาของของที่คิดในราคาแบบซี.เค.ดี. และในราคาอะไหล่นั้น จำเลยมิได้นำสืบหักล้างราคาที่โจทก์นำสืบมา จำเลยนำสืบว่า ของที่นำเข้ามานั้นเป็นการนำเข้าเพื่อทดแทนส่วนที่ขาดและที่ชำรุดเสียหายจากการที่จำเลยนำเข้าแบบ ซี.เค.ดี. ครั้งก่อน จำเลยจึงได้คิดราคาของในการนำเข้าทั้ง 47 ครั้ง ตามราคาที่มีการนำเข้าแบบ ซี.เค.ดี. ศาลฎีกาได้พิจารณาตัวสินค้าตามรายการที่ปรากฏในใบขนสินค้าขาเข้าและใบกำกับสินค้าที่จำเลยนำเข้าแล้วตัวสินค้าแต่ละรายการที่นำเข้ามานั้นแสดงให้เห็นว่าตามสภาพของตัวสินค้าที่ปรากฏทุกรายการล้วนเป็นส่วนประกอบที่นำมาใช้เป็นอะไหล่รถยนต์ทั้งสิ้น และเมื่อรวมส่วนประกอบที่จำเลยนำเข้าในแต่ละคราวนั้นเห็นได้ว่าไม่สามารถนำมาประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปได้ทั้งคัน ดังนั้นในสภาพของตัวสินค้าที่จำเลยนำเข้ามาจึงเข้ามาในลักษณะที่เป็นอะไหล่รถยนต์ ข้อเท็จจริงยุติว่าสินค้าชนิดเดียวกันถ้ามีการนำเข้าแบบ ซี.เค.ดี. กับการที่นำเข้ามาอย่างอะไหล่นั้น การคำนวณภาษีอากรจะมีราคาต่างกันมากและในการนำเข้าแบบ ซี.เค.ดี. นั้น ทางการได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่าผู้นำเข้าจะได้สิทธิคิดราคาเพื่อเสียภาษีอากรแบบ ซี.เค.ดี.ได้จะต้องมีการขออนุมัติจากคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ก่อนเมื่อคณะกรรมการดังกล่าวอนุมัติแล้วจึงจะนำเข้ามาแบบซี.เค.ดี. ได้และคำนวณภาษีอากรในราคาที่นำเข้าแบบซี.เค.ดี.ซึ่งมีราคาที่ต่ำกว่าราคาที่นำเข้าในลักษณะที่เป็นอะไหล่ การที่ทางราชการกำหนดว่าถ้าจะนำเข้าแบบ ซี.เค.ดี. จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการก่อน เช่นนี้กรณีเป็นที่เห็นได้ว่าจะต้องมีการพิจารณาจากคณะกรรมการก่อนว่าจะเป็นการนำเข้ามาเพื่อประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปตามที่ได้รับการส่งเสริม ดังนั้น การที่จำเลยนำเข้าสินค้าทั้ง 47 ครั้ง ที่พิพาทโดยไม่ขออนุมัติจากคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ก่อน เช่นนี้ เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการนำเข้าสินค้าที่ตนได้รับการส่งเสริม อันจะทำให้ได้สิทธิเป็นการนำเข้าแบบซี.เค.ดี. กรณีจึงถือว่าจำเลยนำเข้าสินค้าดังกล่าวตามลักษณะของผู้นำเข้าทั่ว ๆ ไป ในข้อที่จำเลยอ้างว่าจำเลยไม่มีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายอะไหล่รถยนต์นั้นไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายว่าจำเลยจะนำเข้าอะไหล่รถยนต์ไม่ได้ข้อนำสืบของจำเลยที่ว่า เป็นการนำเข้ามาทดแทนชิ้นส่วนที่ขาดและชำรุดนั้น เป็นการกล่าวอ้างถึงเรื่องภายในของจำเลยที่เจ้าหน้าที่ไม่อาจรู้ได้ ในเมื่อสิทธิของจำเลยที่จะนำเข้าแบบ ซี.เค.ดี.ในกรณีที่ชิ้นส่วนขาดหรือชำรุดนั้น จำเลยสามารถทำได้โดยขออนุมัติจากคณะกรรมการก่อน การที่จำเลยนำสินค้าเข้ามาทั้ง 47 ครั้งโดยไม่ขออนุมัติคณะกรรมการตามเงื่อนไขที่ได้รับการส่งเสริม จึงจะถือว่าเป็นการนำเข้าแบบ ซี.เค.ดี. ตามที่ได้รับการส่งเสริมย่อมไม่ได้ เพราะถ้าสามารถให้ทำได้ดังที่จำเลยอ้างแล้วก็จะมีการนำเข้ามาโดยไม่มีข้อจำกัดทำให้รัฐต้องสูญเสียภาษีอากรที่ควรจะได้ในเมื่อสภาพของสินค้าที่จำเลยนำเข้านั้นเป็นรูปของอะไหล่และถือไม่ได้ว่าเป็นการนำเข้าแบบ ซี.เค.ดี.การเรียกเก็บภาษีอากรก็ต้องเก็บตามสภาพที่นำเข้ามาคือเก็บในราคาตลาดที่เป็นอะไหล่ ในการที่จำเลยสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าว่าเป็นสินค้าในราคาแบบซี.เค.ดี.นั้น จึงเป็นการสำแดงเท็จ การที่เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 เรียกเก็บภาษีอากรตามที่จำเลยสำแดงเท็จไว้โดยเข้าใจผิดคิดว่าจำเลยสำแดงตรงตามความจริงนั้นไม่ทำให้จำเลยพ้นความรับผิดในการที่จะต้องชำระภาษีอากรตามสภาพของสินค้าที่แท้จริงได้ ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 แจ้งให้จำเลยชำระภาษีอากรเพิ่มโดยคำนวณจากราคาของสินค้าที่เป็นอะไหล่ และราคาของสินค้าที่คิดแบบอะไหล่ในส่วนที่มีราคาตามบัญชีเอกสารหมาย จ.1 และ จ.9ซึ่งจำเลยก็มิได้ปฏิเสธว่าราคาอะไหล่ตามที่กำหนดในบัญชีนั้นมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ส่วนอะไหล่บางรายการที่ไม่มีราคาอยู่ในบัญชีดังกล่าวนั้นเจ้าพนักงานของโจทก์คิดราคาเพิ่มขึ้นอีก 75เปอร์เซ็นต์ ของราคาซี.เค.ดี. ที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงจากการนำสืบได้ความว่าราคาชิ้นส่วนที่เป็นอะไหล่นั้นจะสูงกว่าราคา ซี.เค.ดี.ประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์ การที่เจ้าพนักงานของโจทก์กำหนดราคาเพิ่มเพียง 75 เปอร์เซ็นต์ เพื่อการคำนวณภาษีอากรจึงเป็นการคำนวณภาษีอากรที่เป็นคุณแก่จำเลยอยู่แล้ว และจำนวนเงินภาษีอากรที่เจ้าพนักงานของโจทก์คำนวณมานั้น จำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่าคำนวณไม่ถูกต้องอย่างไร จำเลยจึงต้องชำระภาษีอากรเพิ่มตามจำนวนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ส่วนที่จำเลยอ้างมาในฎีกาถึงเอกสารที่ผู้ส่งสินค้าเข้ามาให้จำเลยสำหรับใบขนสินค้าบางฉบับว่าผู้ส่งสินค้าหรือผู้ขายมิได้คิดราคาสินค้าเพราะส่งมาแทนสินค้าที่ชำรุดเสียหายนั้นก็มิใช่กรณีที่จำเลยจะมิต้องเสียภาษีอากรตามราคาตลาดสำหรับสินค้าที่ระบุไว้ดังกล่าวได้ในเมื่อจำเลยจะต้องชำระภาษีอากรเพิ่มแล้วจำเลยไม่ชำระตามกำหนดเวลา โจทก์ก็มีสิทธิที่จะคิดเงินเพิ่มได้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา และประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิซึ่งการเรียกเงินเพิ่มตาม มาตรา 112 จัตวานั้น มิใช่จะเรียกได้เฉพาะกรณีที่มีการวางประกันค่าอากรตามมาตรา 112 ทวิ ตามที่จำเลยฎีกามาเท่านั้น มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าถ้าวางประกันก็เรียกเก็บเพิ่มได้ แต่ถ้าไม่มีการวางประกันกลับเรียกเก็บเพิ่มไม่ได้ ซึ่งกฎหมายคงไม่ประสงค์จะให้เกิดผลผิดปกติเช่นนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระภาษีอากรเพิ่มและเงินเพิ่มตามบทกฎหมายที่ได้อ้างถึงนั้นเป็นการชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาในข้อต่อมาว่า จำเลยมิได้รับแจ้งการประเมินนั้นข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์จำเลยนำสืบว่า เจ้าพนักงานของโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 13 มีนาคม 2521 (เอกสารหมาย จ.8) ให้จำเลยดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อชำระอากรให้ครบถ้วน แต่จำเลยได้มีหนังสือโต้แย้งไปยังเจ้าพนักงานของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.30และต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยตามเอกสารหมายจ.5 ว่าข้อโต้แย้งของจำเลยฟังไม่ขึ้น ให้จำเลยนำค่าภาษีอากรที่ขาดจำนวน 901,918.52 บาท ไปชำระตามกำหนดเวลา เห็นว่าการแจ้งประเมินตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 นั้น มิได้มีการกำหนดแบบหรือวิธีการไว้ ในเมื่อตามเอกสารหมาย จ.5ที่แจ้งไปยังจำเลยกำหนดให้จำเลยนำค่าภาษีอากรที่ขาดไปชำระเป็นจำนวนเท่าใดภายในกำหนดเวลาที่กำหนดไว้มิฉะนั้นจะดำเนินการตามที่เห็นสมควรต่อไป เช่นนี้ถือว่าเป็นการแจ้งประเมินให้จำเลยทราบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาในข้อสุดท้ายว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ จำเลยอ้างมาในฎีกาว่าสิทธิเรียกร้องค่าอากรส่วนที่ขาดมีกำหนด 2 ปี และค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลส่วนที่ขาดมีกำหนด 5 ปี นั้นได้ความตามข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่าจำเลยสำแดงราคาของของที่นำเข้าผิดสภาพของราคาสินค้าโดยนำเข้ามาอย่างอะไหล่แต่ได้สำแดงราคาเป็นเป็นสินค้าที่นำเข้าแบบ ซี.เค.ดี.อันเป็นกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของโจทก์ที่ 1 ที่จะเรียกอากรที่ขาดเพราะเหตุเกี่ยวกับราคาของของที่จำเลยนำเข้าจึงมีอายุความ 10 ปีตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคสามตอนแรก มิใช่กรณีที่มีการคำนวณจำนวนเงินอากรผิด อันจะมีอายุความ 2 ปี ตามที่จำเลยฎีกา สำหรับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลนั้น เมื่อกรณีของจำเลยนั้นมีการแสดงรายการเท็จโดยเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี เจ้าพนักงานก็มีอำนาจประเมินให้จำเลยเสียภาษีอากรส่วนที่ขาดได้ภายในกำหนด10 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 88 ทวิ(2) จำเลยนำสินค้าเข้ามาในปี 2519 เจ้าพนักงานของโจทก์แจ้งประเมินให้จำเลยชำระภาษีอากรเพิ่มในปี 2524 และฟ้องคดีเมื่อปี 2528 อยู่ในกำหนดระยะเวลา 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้คงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
แต่ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินอากรที่ค้างชำระนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้นในเรื่องอากรที่ค้างชำระนั้นได้มีบทบัญญัติไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวาและประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ ให้ผู้ค้างชำระภาษีต้องเสียเงินเพิ่มตามอัตราที่กำหนดไว้ แต่ไม่เกินจำนวนเงินภาษีอากรที่ต้องชำระ ในกรณีที่มีการค้างชำระเงินภาษีอากรจึงต้องใช้สิทธิเรียกร้องเงินเพิ่มตามบทกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษนี้จะเรียกร้องให้ชำระดอกเบี้ยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันเป็นสิทธิเรียกร้องทั่วไปไม่ได้ ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในต้นเงินอากรที่ค้างชำระนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ อันเป็นการให้ชำระดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขในส่วนนี้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์