แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แม้จำเลยเบิกความรับว่าจำเลยเป็นผู้เขียนข้อความในเอกสารด้วยตนเองว่าจำเลยได้ยืมเงินโจทก์หกหมื่นบาทถ้วนแต่เมื่อเอกสารไม่มีลายมือชื่อจำเลยลงไว้เป็นผู้ยืมก็ถือไม่ได้ว่าชื่อจำเลยที่เขียนไว้เป็นการลงลายมือชื่อของจำเลยตามความหมายของมาตรา653วรรคหนึ่งแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงใช้เอกสารดังกล่าวฟ้องร้องบังคับคดีแก่จำเลยไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน60,000 บาท และรับเงินไปครบถ้วนแล้ว ต่อมาโจทก์ได้ทวงเตือนจำเลยให้ชำระเงินต้น แต่จำเลยขอผัดผ่อน วันที่ 6 กันยายน 2532โจทก์มีหนังสือทวงถาม จำเลยได้รับหนังสือแล้วแต่เพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 61,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีของต้นเงิน 60,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า สัญญากู้ที่โจทก์ฟ้องไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเพราะไม่มีลายมือชื่อของจำเลยไว้ในเอกสารในฐานะผู้กู้ยืมเงินขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 60,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 กันยายน2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 1,875 บาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาข้อหนึ่งว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินโดยรับเงินจากโจทก์ไปจริงนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ในข้อกฎหมายประการเดียวว่าเอกสารหมาย จ.1 ใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมในการฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามกฎหมายหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาแล้วซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า แม้จำเลยจะเบิกความรับผิดว่าจำเลยเป็นผู้เขียนข้อความในเอกสารหมาย จ.1 ด้วยตนเองว่า”วันที่ 11 กันยายน 2528 วัฒนา สุขสำราญ ได้ยืมเงินพี่ดาหกหมื่นบาทถ้วน” แต่ในเอกสารดังกล่าวไม่มีลายมือชื่อจำเลยลงไว้เป็นผู้ยืม ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่เขียนไว้ในเอกสารหมาย จ.1เป็นการลงลายมือชื่อของจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อเอกสารหมายจ.1 ไม่มีลายมือชื่อจำเลยลงไว้ในฐานะเป็นผู้ยืมก็ถือไม่ได้ว่าเป็นหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมตามความมุ่งหมายของมาตรา 653 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จะใช้เอกสารดังกล่าวฟ้องร้องให้บังคับคดีแก่จำเลยหาได้ไม่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องของโจทก์มาชอบแล้ว”
พิพากษายืน